xs
xsm
sm
md
lg

คุมเข้มค่าฝุ่น PM2.5 หม้อไอน้ำ ที.แมนฟาร์มา ชมคัดแยกขยะโรงงานโก๋แก่ ย้ายผู้ค้าหน้ากีโต้เข้าจุดที่กำหนด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางขุนเทียน คุมเข้มค่าฝุ่น PM2.5 หม้อไอน้ำ (Boiler) ที.แมนฟาร์มา ชมคัดแยกขยะโรงงานโก๋แก่ ย้ายผู้ค้าหน้ากีโต้เข้าจุดที่กำหนด เล็งปั้นสวนชุมชนการเคหะธนบุรี โครงการ 1 ส่วน 5 โซน 1 ส่องจุดบริการด่วนมหานครเซ็นทรัล พระราม 2 เขตบางขุนเทียน

วันนี้ (7 ธ.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางขุนเทียน ประกอบด้วย

ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท ที.แมน ฟาร์มา จำกัด (T.MAN PHARMA) ซอยบางขุนเทียน 14 ซึ่งประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทกิจการที่เกี่ยวกับยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด การผลิตยารักษาโรคแผนปัจจุบัน ลักษณะเป็นอาคาร 1 หลัง พื้นที่ 5,471 ตารางเมตร มีคนงาน 540 คน เครื่องจักรกำลังรวม 2,300.42 แรงม้า มีหม้อไอน้ำ (Boiler) ขนาดเล็ก 1.5 ตัน แรงดันประมาณ 10 บาร์ ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง มีการจัดการมลพิษทางอากาศ (Air pollution Management) อากาศจากกระบวนการผลิต จะถูกกรองด้วยระบบกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (HEPA filter) ก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน ประเภทแพลนท์ปูน/สถานที่ก่อสร้าง/ควันดำในสถานที่ต้นทาง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริษัท โรงงานแม่รวย จำกัด (โก๋แก่) ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล มีพนักงาน 1,500 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ นำถั่วที่เสียจากการผลิตและใกล้หมดอายุมาบด โดยมีเกษตรกรมารับไปเลี้ยงปลา มีปริมาณ 7 ตัน/สัปดาห์ ส่วนเศษอาหารเข้าโครงการไม่เทรวม โดยแยกเศษอาหารและให้เกษตรกรมารับนำไปเลี้ยงสัตว์ ประมาณวันละ 50 ลิตร 2.ขยะรีไซเคิล มีการคัดแยกขยะที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ เช่น ถุงบรรจุผลิตภัณฑ์ ขวดพลาสติก กระดาษ กล่องกระดาษ นำไปขายให้ร้านรับซื้อขยะรีไซเคิล ปริมาณขยะรีไซเคิล 7 ตัน/สัปดาห์ 3.ขยะทั่วไป หลังจากการคัดแยกแล้ว ให้รถเก็บขนมูลฝอยนำไปทิ้งที่โรงงานกำจัดมูลฝอยหนองแขม สัปดาห์ละ 2 ครั้งๆละ 1 ตัน 4.ขยะอันตราย มีการคัดแยกโดยให้เขตฯ มารับไปส่งที่โรงกำจัดมูลฝอยหนองแขม

ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าบริษัท กีโต้ (ประเทศไทย) จำกัด ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 120 ราย ได้แก่ 1.ปากซอยบางกระดี่ 1-7 ผู้ค้า 18 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 2.ปากซอยบางกระดี่ ถึงหน้าหมู่บ้านเดอะริช ผู้ค้า 60 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. 3.หน้าบริษัท กีโต้ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ค้า 9 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-09.00 น. 4.ท่าข้าม 14-16 ผู้ค้า 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-09.00 น. 5.ปากซอยสะแกงาม 35/2-35/3 ผู้ค้า 23 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. และ 15.00-21.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 1 จุด คือถนนพระรามที่ 2 ซอย 69 ผู้ค้า 45 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 14.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ จะดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 1 จุด คือหน้าบริษัท กีโต้ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ค้า 9 ราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดที่เขตฯ กำหนด

ที่ผ่านมาเขตฯ ได้จัดทำ Hawker center บริเวณทางเท้าติดลานจอดรถห้างเทสโก้โลตัส ถนนพระรามที่ 2 ซอย 69 ผู้ค้า 45 ราย ภายใต้แนวคิด “ROUTE 69 Mini Hawker Center” ลักษณะแผงค้าในรูปแบบเดียวกัน สวนแนวตั้ง จุดไม่เทรวม จุดล้างภาชนะรวม จุดพักวินรถจักรยานยนต์ และจุดพักสามล้อถีบ โดยคำนึงถึงผู้ใช้ทางเท้าในการสัญจรเป็นหลัก ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้ค้าและผู้ใช้ทางเท้าอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เขตฯ ได้สำรวจ Hawker Center บริเวณซอยสะแกงาม 42 ซึ่งเดิมเป็นตลาดเก่าของเอกชน มีพื้นที่ว่างสามารถรองรับผู้ค้าได้ จัดเก็บค่าเช่าตามอัตราที่ตลาดกำหนด เพื่อย้ายผู้ค้าบริเวณปากซอยสะแกงาม 35/2-35/3 จำนวน 23 ราย ให้เข้ามาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาหาแนวทางยกเลิกหรือยุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดเดียวกันหรือจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม คำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ต่อไป

สำรวจสวน 15 นาที บริเวณชุมชนการเคหะธนบุรี โครงการ 1 ส่วน 5 โซน 1 เขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) ที่ได้พัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์เพิ่มพื้นที่สีเขียว จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนบวรประชานันท์ พื้นที่ 12 ไร่ 53 ตารางวา 2.สวนบึงรางเข้ พื้นที่ 4 ไร่ 2 งาน 3.สวนสมเด็จย่า พื้นที่ 18 ไร่ สำหรับสวนเทียนทะเลพัฒนาพฤกษาภิรมย์ พื้นที่ 37 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมธนารักษ์ สำนักสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ดูแล ที่ผ่านมาเขตฯ ได้จัดทำสวน 15 นาที (สวนใหม่) ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวน 15 นาที ชุมชนการเคหะธนบุรี โครงการ 1 ส่วน 4 พื้นที่ 1 งาน 50 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการเคหะแห่งชาติ 2.สวน 15 นาที (สวนเด็ก) อยู่ในชุมชนการเคหะธนบุรี โครงการ 1 ส่วน 4 พื้นที่ 1 งาน 50 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการเคหะแห่งชาติ 3.สวน 15 นาที สวนทะเล ป่าชายเลนบางขุนเทียน พื้นที่ 62.5 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของนิคมสหกรณ์บ้านไร่ สำหรับสวน 15 นาที (สวนใหม่) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวน 15 นาที วัดบัวผัน พื้นที่ 3 ไร่ 1 งาน 39 ตารางวา อยู่ระหว่างออกแบบจัดทำสวน แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ พื้นที่จอดรถ พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ลานกิจกรรมเอนกประสงค์ พื้นที่ออกกำลังกาย 2.สวน 15 นาที ชุมชนการเคหะธนบุรี โครงการ 1 ส่วน 5 โซน 1 พื้นที่ 125 ตารางวา อยู่ระหว่างกำหนดแนวทางการออกแบบ จัดทำทางเดิน-วิ่ง ลานเอนกประสงค์ 3.สวน 15 นาที ชุมชนการเคหะธนบุรี โครงการ 1 ส่วน 5 โซน 2 พื้นที่ 125 ตารางวา ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำสวน 15 นาที การออกแบบพื้นที่ภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนสามารถเข้ามาใช้บริการหรือทำกิจกรรมได้อย่างแท้จริง

ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างจุดบริการด่วนมหานคร (BMA Express Service) ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัล พระราม 2 เขตบางขุนเทียน เพื่อเพิ่มจุดให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาติดต่อราชการ อาทิ งานทะเบียนบัตรประชาชน งานทะเบียนราษฎร งานด้านสวัสดิการสังคม การลงทะเบียนผู้สูงอายุ การจดทะเบียนพาณิชย์ ให้เข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ประมาณกลางเดือนธันวาคมนี้

ในการนี้มี นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางขุนเทียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
















กำลังโหลดความคิดเห็น