xs
xsm
sm
md
lg

"ชลน่าน" หนุน "สมรสเท่าเทียม" เพิ่มโอกาส LGBTQ+ อยากมีลูก ถกเคาะ 25 ธ.ค.นี้ ก่อนชงแผนวาระชาติ เล็งให้เรียนฟรีถึง ป.ตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ชลน่าน" แจงที่มา "ปลาตะเพียน" ชวนคนปั๊มลูก เร่งยกร่างแผนชงเป็นวาระชาติตาม Quick Win 100 วัน ดูแลทั้งมิติสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม เล็งเพิ่มเงินเลี้ยงดูตามจำนวนบุตร ดันเรียนฟรีจนจบ ป.ตรี ยัน รบ.หนุน "สมรสเท่าเทียม" หากผ่าน กม.เอื้อกลุ่มหลากหลายทางเพศใช้เทคโนโลยีมีบุตรได้ เร่งคลอดสิทธิประโยชน์มีบุตรยาก ตั้งคลินิกส่งเสริมมีบุตรจังหวัดละแห่งคืบแล้ว 88%

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประกาศเดินหน้ารณรงค์ส่งเสริม เพิ่มเด็กไทยเกิดดีมีคุณภาพ Give Birth Great World ที่เริ่มต้นจากสถานีรถไฟหัวลำโพง จนถึงสถานีรถไฟบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ถึงกรณีการใช้ปลาตะเพียนเป็นสัญลักษณ์การรณรงค์การมีบุตร ว่า ปลาตะเพียนเป็นสัญลักาณ์ที่เราเรียนรู้มาจากโบราณ เป็นวัฒนธรรมของไทยเรา ใช้ปลาตะเพียนเป็นเสมือนการดูแลเด็ก ให้เด็กได้สัมผัสการเคลื่อนไหว เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน เพราะสมัยก่อนเวลาเลี้ยงลูกเด็กนอนใช้ไกวเปล เป็นการฝึกการเคลื่อนไหวและสายตาของเด็กระยะแรกๆ ส่งเสริมพัฒนาการร่างกาย และใช้มาเป้นสัญลักษณ์ถึงการเกิด และเป็นสัตว์มงคล ความอุดมสมบูรณ์ ของแผ่นดินของน้ำ


ถามถึงการผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ รวมถึงกรณีการเพิ่มค่าเลี้ยงดูเป็นเท่าตามจำนวนบุตร ก็จะอยู่ในนี้ด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราใช้ยุทธศาสตร์การอนามัยเจริญพันธุ์ตามกฎหมาย และผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง มีอธิบดีกรมอนามัยเป็นประธาน ทำร่วมกับคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์ ที่มีหลายหน่วยงานหลายกระทรวงเข้ามาร่วม เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หรือมหาดไทย เป็นต้น ซึ่งจะประชุมวันที่ 25 ธ.ค.นี้ โดยชุดนี้จะยกร่างแผนว่าจะส่งเสริมการเกิดเป็นวาระแห่งชาติ จะต้องมีคำตอบอย่างไรให้ผู้คนโดยรวมว่า ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย เด็กเกิดมามีคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับ ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ดังนั้น การดูแลตั้งแต่ก่อนแต่งงานในวัยเจริญพันธุ์ก็ต้องดูแลอย่างเข้มข้น เป็นหน้าที่เรา เรื่องเศรษฐกิจ สังคม ความปลอดภัย ความมั่นคงต่างๆ มาผสมผสาน พอผลักแผนเข้าไปที่จะประกาศเป็นวาระ ก็จะทำให้นายกฯ และ ครม.เห็นชอบที่จะประกาศ

"ตรงนี้เป็นแผนเร่งรัด 100 วัน ว่าหากประกาศวาระแห่งชาติก็คือสัมฤทธิ์ผลเบื้องต้นในขั้นที่เราขอ Quick Win ก่อน แล้วนำไปสู่การปฏิบัติ ส่วนค่าเลี้ยงดูเพิ่มตามจำนวนบุตรก็จะเป็นข้อเสนอ ในมุมของมิติการดูแลด้านเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ แต่ละกระทรวงก็จะมีบทบาทหน้าที่ทำเข้ามา แต่อยู่ในรูปคณะกรรมการ เราเน้นมิติสุขภาพ เราดูแลสุขภาพพ่อแม่ เด็กในท้อง คลอดเกิดมาเราคัดกรองทั้งหมด โรคที่เป็นปัญหา 40 โรคด้านพันธุกรรม ถ้าผิดปกติจะได้ดูแลรักษาได้ บางโรคไม่สามารถคลอดได้ก็ต้องไม่ให้คลอด รวมถึงเรื่องวัคซีนต่างๆ การดูแลเข้าสู่วัยเรียน กำลังผลักดันว่าจะมีสวัสดิการให้เรียนจนจบปริญญาตรีได้หรือไม่ ขึ้นกับแผน" นพ.ชลน่านกล่าว


เมื่อถามถึงกรณีจะส่งเสริมคนที่มีลูกให้ได้มีลูก ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มความหลากหลายทางเพศ แต่ยังติดปัญหาเรื่องการสมรส ทำให้ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ได้ รัฐบาลจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า รัฐบาลผลักดันแน่นอน เพราะร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่านมติ ครม.แล้ว ก็เตรียมเข้าสภาอย่างเดียว รวมถึงกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่ส่งเสริมการมีลูก ในกลุ่มคนที่มีบุตรยาก กฎหมายที่มีข้อจำกัดเราก็ไปดูตรงนั้นให้ เช่น การผสมเทียมต่างๆ สำหรับคลินิกส่งเสริมการมีบุตร เราตั้งเป้ามีจังหวัดละ 1 แห่ง ตอนนี้คืบหน้า 88% แล้ว ทุกสิทธิที่มีอยู่ใช้ได้หมด เรากำลังดูว่าอะไรที่ต้องให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ซึ่งเดิมการดูแลรักษาผู้มีบุตรยากไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์ สปสช. เราก็ทำเรื่องนี้เข้าสู่คณะกรรมการให้พิจารณา

ถามว่าสิทธิประโยชน์เรื่องมีบุตรยาก จะครอบคลุมเทคโนโลยีมากน้อยแค่ไหน เพราะมีหลายแบบหลายราคา นพ.ชลน่านกล่าวว่า ต้องไปดูรายละเอียดทั้งหมด เป้าหมายเราส่งเสริมการเกิด ดังนั้น อย่าใช้เรื่องเม็ดเงินหรืองบประมาณเป็นสิ่งที่ขวางกั้น จำเป็นต้องส่งเสริมก็ส่งเสริม แต่ได้ขนาดไหนต้องไปดูสถานะ ความพร้อมเรื่องตัวงบประมาณและด้านอื่นๆ อาจเป็นลักษณะการมีส่วนร่วม อย่างเทคโนโลยีที่ใช้เงินค่อนข้างสูงก็อาจจะต้องมีส่วนร่วม หรือส่งเสริมให้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน

"อย่างเขตสุขภาพที่ 10 อุบลราชธานี เริ่มให้สวัสดิการจูงใจ การผสมเทียมที่ฉีดน้ำเชื้อผู้ชายเข้าโพรงมดลูกผู้หญิงให้ฟรี 100 คู่แรก และการผสมในหลอดแก้ว IVF 10 คู่แรกให้ฟรี ซึ่งราคาเป็นแสน เพื่อจูงใจให้มีโอกาส" นพ.ชลน่านกล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น