"ชลน่าน" ลงพื้นที่อยุธยา ฝาก อสม.ช่วยบอกข้อดีการมีลูก ส่งเสริมการเกิด ผุดแนวคิดมีลูกหลายคน ช่วยค่าเลี้ยงดูคูณเท่า ดันในวาระชาติ ยัน พ.ค.67 หลังผ่าน พ.ร.บ.งบฯ ได้ค่าป่วยการเพิ่มเป็น 2 พันบาท เบิกย้อนหลังตั้งแต่ ต.ค. 66 ได้
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่สถานีรถไฟบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างพบปะกับ อสม.พระนครศรีอยุธยา ที่มาต้อนรับ รัหว่างการประชุมสัญจรผู้บริหารระดับสูง สธ.ขับเคลื่อนการส่งเสริม เพิ่มเด็กไทยเกิดดีมีคุณภาพ Give Birth Great World ว่า การเกิดคือ การให้ที่ยิ่งใหญ่ของโลก เราเลือกอยุธยาเป็นจุดขับเคลื่อนประกาศนโยบาย เพราะเรามีจุดเริ่มต้นที่หัวลำโพงมาที่อยุธยาเป็นจุดสิ้นสุด เป้าหมายสำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรให้ลูกหลานในอนาคตข้างหน้าอยู่รอดปลอดภัย เด็กเกิดดีมีคุณภาพ แก้ปัญหาเด็กเกิดน้อยด้อยคุณภาพ
นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งใน 23 ประเทศที่มีการเกิดน้อยกว่าการตาย ปี 65 เราตายมากกว่าเกิด ถ้าไม่ช่วยกันเราจะเป็นประเทศที่มีปัญหามากในการดำรงคงอยู่ ในการดูแลการสร้างโอกาสทางด้านสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจ เราจะไม่มีคนทำงาน จะมีแต่ผู้สูงอายุ โดยอีก 60 ปีข้างหน้า ถ้าเราไม่ทำอะไรในประเทศไทยจะมีประชากรแค่ 33 ล้านคน ลดลงครึ่งหนึ่ง ที่หน้าตกใจคือจะมีคนวัยทำงานแค่ 14 ล้านคน ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคนที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ช่วยตัวเอง ไม่ช่วยกระตุ้นไม่ช่วยกันแก้ แม้เราจะไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว เราก็ไม่อยากเห็นประเทศชาติประสบความยากลำบาก
"อสม.ถือว่ามีส่วนสำคัญที่สุด การจะไปบอกทำความเข้าใจให้ลูกหลานของพวกเรายอมรับในการที่จะมีลูกเป็นเรื่องที่ยากมากในยุคนี้ คนรุ่นใหม่ปฏิเสธการมีลูก อ้างเรื่องของเศรษฐกิจ ความปลอดภัย ความไม่พร้อม อสม.เราทำเรื่องดูแลด้านสาธารณสุขมูลฐาน การที่จะทำให้ยอมรับได้ต้องเริ่มจากตรงนี้ วันนี้เรามาช่วยกันฝากพี่น้อง อสม.ที่สามารถแจ้งข่าวร้ายกระจายข่าวดีในเรื่องนี้ว่า ถ้าไม่มีลูกจะเป็นข่าวร้าย ถ้ามีลูกจะเป็นข่าวดี" นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราจะประกาศเป็นวาระแห่งชาติ โดยนายกรัฐมนตรี จะมีทุกมิติที่ดูแล เพราะถือว่าคนคลอดคนให้กำเนิดเป็นบุคคลที่สำคัญ เราจะดูแลตั้งแต่ก่อนแต่งงานเรียกวัยเจริญพันธุ์ ดูความพร้อมหลังแต่งงานทำอย่างไรให้สามารถมีลูก ขณะที่ตั้งท้องดูแลการเจริญเติบโตของลูกในท้อง ดูแลสุขภาพของแม่ ตรวจคัดกรองลูกตั้งแต่ในท้อง ว่าสมบูรณ์ปลอดภัยไหม หลังคลอดก็ตรวจคัดกรองให้ หมายความว่าเราจะดูลูกของแต่ละคนที่เกิดมาให้มีคุณภาพให้มากที่สุด เรามั่นใจในมิติการดูแลด้านสาธารณสุขของเราพร้อมเต็มที่
"ส่วนเรื่องตั้งแต่การตั้งครรภ์ - 6 ปี กำลังดูอยู่ว่าคนท้องจะมีรายได้ได้อย่างไร กำลังคิดอยู่ว่าจะมีการจัดรายได้ให้เพื่อสนับสนุน อย่างคนที่มีลูกคนที่ 4 ได้ 4 เท่าของคนที่ 1 หรือไม่ อย่างสิงคโปร์เป็นประเทศเล็กๆ แต่นโยบายนี้ได้ผล สิงคโปร์บอกว่า มี 3 หรือ 3 คนขึ้นไปเรื่องเรียนดูแลอยู่จนจบปริญญาตรี เรื่องนี้จะอยู่ในวาระแห่งชาติก็จะมาช่วยกัน" นพ.ชลน่าน
นพ.ชลน่านกล่าวว่า ส่วนเรื่องเพิ่มค่าป่วยการเป็น 2,000 บาท พ.ร.บ.ประมาณปี 67 จะเสร็จเดือนเมษายน ทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้พฤษภาคม 67 พวกเราสตาร์ท 2,000 บาท และมีสิทธิ์เบิกย้อนหลังตั้งแต่ตุลาคมถึงเมษายนได้ สธ.ต้องการดูแลอย่างเต็มที่ เพราะเป็นนักรบสุขภาพที่ในพื้นที่ ในชุมชน นอกจากค่าป่วยการแล้วเราจะส่งเสริมสนับสนุนให้ทำงานอย่างเต็มที่ภายใต้ความรู้ความสามารถที่เติมเต็มให้ วันนี้เราทำงานปฐมภูมิ อสม. 65% ได้รับการฝึกอบรม การดูแลโดยใช้เทคโนโลยี สมาร์ทโฟนเข้าไปดูแลสุขภาพคนไข้แล้ว นับเป็นความก้าวหน้า จะได้รับการเติมเต็มองค์ความรู้เหล่านี้ต่อไป จะมีความสะดวกสบายมากขึ้น บัตรประชาชนใบเดียวถ้าจะใช้หมายความว่าสามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ทุกที่ทุกแห่ง
"อยุธยาอาจจะช้ากว่าจังหวัดอื่น แต่เราจะนำร่อง 4 จังหวัดเพื่อดูความพร้อมความสมบูรณ์ก่อน ภาคละ 1 จังหวัด คือ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส หลังจากนั้นชุดที่ 2 ภาคกลางตอนกลางจะเป็นสิงห์บุรี ถ้าสิงห์บุรีพร้อมก็อยู่ใกล้อยุธยา เหตุที่ต้องรอเพราะอยุธยาเป็นจังหวัดใหญ่ มีสถานบริการหลากหลายมาก ทั้งของสธ. ทหาร ภาคเอกชน เราต้องเตรียมพร้อมในการเชื่อมโยงระบบก่อนเลยใช้เวลา" นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่วว่า เราต้องการการดูแลเพื่อสุขภาพประชาชนหมายถึงสุขภาพสุขภาวะดีพร้อม ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และสังคม ซึ่งสังคมเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพร่างกายจิตใจของพวกเราสูงมาก ต้องทำสังคมให้ดี ซึ่งอยุธยาเข้าร่วม Wellness Center หรือ Healthy City เมืองสุขภาพดี อยู่หลายอำเภอหลายชุมชน เราจะขยายตรงนี้ 7 ดี เช่น กินดี อยู่ดี สมองดี สิ่งแวดล้อมสังคมดี การบริการดี เป็นต้น
ด้าน นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า เรื่องค่าป่วยการ อสม.ที่จะเพิ่มเป็น 2 พันบาทนั้น หากเข้าสู่การพิจารณา ก็พร้อมไปให้ข้อมูลถึงเรื่องนี้ ซึ่งการเพิ่มค่าป่วยการตรงนี้ก็มีส่วนช่วยส่งเสริมการหมุนเวียนของเม็ดเงิน เพราะ อสม.ก็นำไปใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ส่วนจะมีผลตั้งแต่วันที่อนุมัติหรือให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566 ก็ขึ้นกับการพิจารณาและงบประมาณ โดยเบื้องต้นใช้งบประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม หากสามารถเบิกจ่ายย้อนหลังตั้งแต่ ต.ค. 2566 ทุกวันนี้ อสม.จะได้ค่าป่วยการอยู่ที่ 1 พันบาท เมื่อมีผลย้อนหลังก็จะดำเนินการเบิกจ่ายค่าป่วยการเพิ่มอีกเดือนละ 1 พันบาทให้ครบ 2 พันบาท