ถึงจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาแล้ว 2 เดือน สำหรับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว แต่ก็ยังอยู่ในช่วงระหว่าง "เดินสาย" ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของกรมต่างๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยประเดิมตรวจเยี่ยม "กรมการแพทย์" เป็นกรมแรก ช่วงเช้าวันที่ 18 ต.ค. ตามด้วยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ก่อนไปต่อที่ "กรมควบคุมโรค" วันที่ 19 ต.ค.
จากนั้นก็เลื่อนการตรวจเยี่ยมกรมยาวๆ ซึ่งเดิมมีกำหนดจะไปตรวจเยี่ยมกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก วันที่ 20 ต.ค. กรมสุขภาพจิตวันที่ 25 ต.ค. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วันที่ 27 ต.ค. ก่อนที่จะมาตรวจเยี่ยมอีกครั้งเมื่อวันที่ 9 พ.ย. กับ "กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ" แล้วต่อด้วย "กรมอนามัย" เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา
สำหรับกรมอนามัย ถือเป็นอีกหนึ่งกรมใหญ่ของ สธ. ที่มีภารกิจในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยของประชาชนทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย ซึ่งนโยบายของ นพ.ชลน่าน ที่ประกาศออกมา มีหลายเรื่องที่ต้องให้กรมอนามัยช่วยเร่งขับเคลื่อน ทั้งโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ , "Healthy City Model" สร้างเมืองสุขภาพดี คนไทยสุขภาพดี , สถานชีวาภิบาล บูรณาการ Long Term Care เพื่อรองรับผู้สูงอายุ , เศรษฐกิจสุขภาพ Wellness Community กินดีอยู่ดี เพิ่มมูลค่าชุมชน , นักท่องเที่ยวปลอดภัย ในเรื่องสุขาภิบาลอาหารและน้ำ อนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ท่องเที่ยวให้มีมีความสะอาด ปลอดภัย
ส่วนที่ขาดไม่ได้เลยคือนโยบายเรื่อง "การส่งเสริมการมีบุตร" ซึ่ง นพ.ชลน่าน ประกาศปักหมุดมาตั้งแต่แรกว่า จะผลักดันให้เป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างประชากรที่คนสูงอายุมีจำนวนมากขึ้น แต่เด็กกลับเกิดน้อย และจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคต โดยเน้นให้เกิดมาตรการชักชวน จูงใจให้ครอบครัวที่มีความพร้อมมีบุตรอย่างสมัครใจ เน้นการเกิดอย่างมีคุณภาพ ลดการเกิดที่ไม่มีความพร้อม "กรมอนามัย" ในฐานะที่ดูแลเรื่องงานอนามัยแม่และเด็ก งานอนามัยเจริญพันธุ์ อีกทั้งยังมี พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 จึงถือเป็นเจ้าภาพหลักที่ต้องบูรณาการงานเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้
พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยกำหนดนโยบายเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน 4 ด้าน ดังนี้ 1.Partnership ส่งเสริมภาคีเครือข่ายเข้มแข็ง โดยยกระดับการทำงานร่วมกับเขตสุขภาพภายใต้เป้าหมายเดียวกันให้บรรลุเป้าหมายด้วยกัน 2. PP Excellence ยกระดับบริการสุขภาพ เช่น ลดอัตราการเสียชีวิตของแม่ ส่งเสริมให้เด็กไทยมีพัฒนาการสมวัย งานอนามัยโรงเรียน สร้างวัยรุ่นทักษะชีวิตดี ส่งเสริมการเกิด วัยทำงานมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ สร้างชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ HPC Transformation และยกระดับบริการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม
3. HEALTH LITERCY สร้างสังคมรอบรู้สู่สุขภาพดีทุกช่วงวัย สร้างสังคมไทยรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ พัฒนาเครือข่าย องค์กร ชุมชนรอบรู้ด้าน รวมถึงส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพด้วย Digital Literacy และ 4. ENVIRONMENTAL HEALTH อนามัยสิ่งแวดล้อมได้มาตรฐาน ปลอดภัย เอื้อต่อการมีสุขภาพ สร้าง Wellness Community กินดีอยู่ดีเพิ่มมูลค่าชุมชน Safety Tourism ยกระดับความปลอดภัยสถานประกอบการ สุขาภิบาลอาหารและน้ำ เพื่อการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม
แนวทางการดำเนินงานในปี 2567 จะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มวัย คือ 1.แรกเกิด ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย เด็กมีพัฒนาการที่สมวัย 2.วัยเรียน 6-14 ปี เก่ง ดี มีทักษะ แข็งแรง สูงดี สมส่วน 3.วัยทำงาน สุขภาพดี ค่า BMI ปกติ ลดอัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ 4.วัยสูงอายุ ดูแลตนเอง ลดภาวะพึ่งพิง Active Aging ส่วนกลุ่มที่มีภาวะพึ่งพิง เปราะบาง ด้วยโอกาส เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ จะมี Care Giver ในพื้นที่ดูแล
พญ.อัจฉรากล่าวว่า สำหรับด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมได้สร้างระบบนิเวศเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งดำเนินการเมืองที่เป็นมิตรต่อสุขภาพลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Green & Health) โดยมีการจัดการน้ำอุปโภค บริโภคที่ปลอดภัย มีการจัดการขยะที่ดี มีพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อน และมีชุมชนไม่สร้างมลพิษทางอากาศ เสียง และฝุ่น โดยมี Green Health Attraction จำนวน 40 จังหวัด/แห่ง Green Health Hotel จำนวน 2,000 โรงแรม ส้วมสาธารณะผ่านเกณฑ์มาตรฐาน HAS จำนวน 15,000 แห่ง ใน 77 จังหวัด GREEN & CLEAN Hospital Challenge จำนวน 600 แห่ง การจัดการสิ่งปฏิกูลคุณภาพ จำนวน 120 แห่ง มูลฝอยติดเชื้อได้รับการกำจัด
"ผลการดำเนินงาน Health City ผ่านการประเมิน จำนวน 250 เมือง มี Food & Water Sanitation CFGT จำนวน 120,000 ร้าน เส้นทางอาหารปลอดภัย 13 เขตสุขภาพ โดยมีสถานประกอบการผ่านเกณฑ์ เช่น ตลาด ร้านอาหาร อาหารริมบาทวิถี โรงแรมมีเมนูชูสุขภาพ และครัวเรือนอาหารปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีระบบประปาหมู่บ้านขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีผ่านเกณฑ์คุณภาพ และน้ำประปาดื่มได้ จำนวน 360 แห่ง และลดผลกระทบทางสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อม ได้แก่ PM2.5 สาธารณภัย และ Climate Change" พญ.อัจฉรากล่าว
ส่วนการส่งเสริมการมีบุตร นพ.มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า การส่งเสริมการมีบุตร เพื่อเพิ่มอัตราการเกิดของเด็ก ใช้คอนเซ็ปต์ "GIVE" Birth Great WORLD โดย GIVE มาจาก G : Get together การร่วมกัน , I : Inspire one another สร้างแรงบันดาลใจให้กัยและกัน , V : Value new life คุณค่าของชีวิตใหม่ และ E : Extend the family ครอบครัวขยาย/ครอบครัวใหญ่ เป็น 4 ประเด็นที่ใช้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยมาตรการที่จะเพิ่มจำนวนเด็กก็มี 4 มาตรการ เพื่อรองรับกลุ่มคน 4 กลุ่มที่มีปัญหาแตกต่างกัน คือ
1.กลุ่มที่ยังไม่มีคู่ หรือโสดแบบไม่ตั้งใจ ก็ต้องมีมาตรการที่ช่วยกลุ่มนี้ ที่ผ่านมากรมอนามัยได้จัดกิจกรรมโสดสมาร์ท โสดออนซูม รวมถึงโสดมีตติ้ง เพื่อสนับสนุนการหาคู่ 2.กลุ่มไม่อยากมีลูก กลุ่มนี้ต้องเน้นขับเคลื่อนด้วยการมีสวัสดิการที่ดีมารองรับสนับสนุนให้คนอยากมีลูก 3.กลุ่มผู้มีบุตรยาก ต้องส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิประโยชน์การรักษา และ 4.กลุ่มอยากมี แต่มีไม่ได้ เช่น กลุ่มหลากหลายทางเพศ ตรงนี้ต้องแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบ เพื่อให้สามารถเข้าสู่การใช้เทคโนโลยีช่วยการมีบุตรได้อย่างถูกกฎหมาย