ก่อนปี 2565 สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (Rainbow Sky Association of Thailand: RSAT) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ฟ้าสีรุ้ง” และ มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (Service Workers in Group Foundation: SWING) หรืออีกชื่อที่เป็นที่รู้จักมากกว่าคือ “สวิง” สาขา จ.ชลบุรี
เป็นสององค์กรภาคประชาสังคมที่จดทะเบียนเป็น “คลินิกเทคนิคการแพทย์” และได้ให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) และบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ใน “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” (บัตรทอง) แก่ประชาชนไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษา (บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และอื่นๆ)
ภายใต้การแสดงเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่ต้องการยุติปัญหาเอดส์ (Ending AIDS) ให้ได้ในปี 2573 ผ่านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ 2560-2573
ด้วยลักษณะเฉพาะขององค์กรภาคประชาสังคมที่มีจุดเด่นในการให้บริการที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ที่มีความจำเป็นและต้องการมารับบริการมากกว่าสถานพยาบาลของรัฐ และเหมาะสมในการให้บริการไม่ว่าจะเชิงรุก หรือเชิงรับ
ทั้งเวลาเปิด-ปิดที่ยืดหยุ่นกว่าเวลาราชการ สภาพแวดล้อมของสถานที่ที่เอื้อและเต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ เนื่องจากต้องการ “ลดการตีตรา” โดยให้ความสำคัญกับการไม่เปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยอย่างรัดกุม เพื่อให้เกิดความสบายใจที่สุด และอื่นๆ อีกมากมาย จึงช่วยให้มีการเข้าถึงบริการป้องกันเอชไอวี และเข้าสู่ “กระบวนการรักษา” เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ทว่า เหล่านี้เป็นไปโดยการทำสัญญาดำเนินการตามโครงการแบบปีต่อปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือระหว่างรอยต่อเพื่อต่อปีงบประมาณใหม่นั้น “เกิดช่องว่าง” ทำให้ไม่สามารถให้บริการได้ต่อเนื่อง หรือให้บริการได้น้อยลง เพราะกระบวนการต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นแบบชับไวจบปุ๊ปต่อปั๊ปทำได้เลย
ดังนั้น เมื่อปีที่แล้วองค์กรภาคประชาสังคมที่มีความพร้อมในการให้บริการกว่า 60 แห่ง จึงเสนอมายัง สปสช. เพื่อให้ขึ้นทะเบียนพวกเขาเป็น “หน่วยบริการรับส่งต่อด้านเอชไอวี” ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ต่อมาคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีมติเห็นชอบประกาศโดยกำหนดให้ “องค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน” เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่นตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2565
ทำให้องค์กรภาคประชาสังคม 16 แห่ง รวมถึง “ฟ้าสีรุ้ง” และ “สวิง” ที่ผ่านการประเมินมาตรฐานด้านการให้บริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชนโดยกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเริ่มดีเดย์ให้บริการแบบไร้รอยต่อเมื่อ 1 ต.ค. ปี 65
มาวันนี้ใกล้ครบ 1 ปีแล้วของการเป็นหน่วยบริการแบบเต็มตัว เนตรนภิศ มณีเนตร หัวหน้างานคุณภาพและบริการชลบุรี “คลินิกเทคนิคการแพทย์ฟ้าสีรุ้ง เมืองชลบุรี” บอกว่าด้วยการทำงานโดยไม่ถูกกรอบระยะเวลามากำหนด ทำให้สามารถค้นหากลุ่มเสี่ยงได้ทุกพื้นที่แบบไม่มีข้อจำกัด
ที่สำคัญคือ การทำงานร่วมกันกับหน่วยบริการอื่นๆ ทั้งภาครัฐและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งช่วยขยายการให้บริการได้มากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งการตรวจคัดกรองเอชไอวี ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบซี บริการถุงยางอนามัย รวมถึงติดตามสถานะการติดเชื้อ ตลอดจนการให้คำปรึกษา ตรวจเลือด และส่งต่อต่อไปยังโรงพยาบาลชลบุรี ซึ่งได้ทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) ในการเป็นเครือข่ายบริการสุขภาพด้านการป้องกันเอชไอวี เพื่อให้ยาป้องกัน (PrEP) ในกลุ่มผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี หรือการรักษาแก่ผู้ติดเชื้อ สำหรับทุกสิทธิการรักษา
ปลายทางจึงเป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) รวมถึงลดภาระงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ จากสถิติตั้งแต่ขึ้นทะเบียนมาจนถึงวันนี้มีผู้รับบริการที่ “คลินิกเทคนิคการแพทย์ฟ้าสีรุ้ง เมืองชลบุรี” มากถึง 3,700 ราย ซึ่งเขย่าให้แนวโน้มผู้ติดเชื้อเอชไอวีในภาพรวมของ จ.ชลบุรี ลดลงด้วย
ส่วน “สวิงพัทยา คลินิกการแพทย์” ได้ต่อยอดไปถึงการให้บริการ “ยาต้านไวรัสภายใน 24 ชั่วโมง” (Same Day ART) ได้แล้ว สำหรับผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งจะมีแพทย์จากโรงพยาบาลบางละมุง ที่ได้ทำ MOU กัน คอยให้คำปรึกษาและสั่งจ่ายยา ผ่านระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) หรือผ่านแอปพลิเคชันไลน์
บริการดังกล่าวเป็นความสำเร็จจากการทดลองวิจัยร่วมกัน 4 หน่วยงาน อันประกอบด้วย “สวิง ” องค์กรพัฒนาเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) องค์การแฟมิลี่เฮลท์เนชั่นแนล (FHI 360) และมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI)
ก่อนที่จะเสนอต่อ สปสช. และ สธ. เพื่อทำข้อตกลงร่วมกันผ่านโรงพยาบาลบางละมุง เหมือนเป็นการนำร่องก่อน จนสุดท้ายประสบความสำเร็จและเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อ 14 ก.พ. 2566
สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิสวิง อธิบายว่าการเกิดขึ้นของบริการนี้มาจากการเห็นช่องว่างในการให้บริการ เพราะความเป็นคลินิกเทคนิคการแพทย์ “สวิง” สามารถค้นหาและคัดกรองได้ แต่ไม่สามารถจ่ายยาเองได้ ต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลบางละมุง ซึ่งกระบวนการหลังนี้ทำให้ผู้รับบริการ ได้รับยาช้ากว่าที่ควร คือ อาจต้องรออีก 1 วัน หรืออาจช้าถึง 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน เลย
ผู้รับบริการที่เข้าสู่ขั้นตอนนี้จำนวนไม่น้อยอาจไม่ได้รับยา เพราะเปลี่ยนใจ เนื่องจากติดเงื่อนไขในการทำงานและกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน และขาดการติดต่อจาก “สวิง” ไป ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ
ดังนั้น Same Day ART จึงตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุด และทำให้ “สวิงพัทยา คลินิกการแพทย์” กลายเป็นหน่วยบริการแบบ One-Stop Service คือ ครบจบที่เดียวในด้านบริการเอชไอวี
อย่างไรก็ดี สิ่งนี้อาจไม่เกิดขึ้นถ้าไม่เกิดการร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ สปสช. ที่ได้ให้องค์กรภาคประชาชนสังคมได้เข้ามาเป็นหน่วยบริการ
“มันเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าระบบบริการสุขภาพของประเทศให้ความสำคัญและคุณค่ากับหน่วยบริการภาคประชาสังคม หรือชุมชน ยอมรับในการให้บริการของพวกเรา แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเราล้ำหน้าว่าการให้บริการสาธารณสุข โดยเฉพาะด้านเอชไอวีไม่ต้องผูกติดกับบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นหน่วยบริการของรัฐเท่านั้น” ผู้อำนวยการมูลนิธิสวิง กล่าว