เมื่อวันที่ 19 ต.ค. บริษัท ทีพีซีเอกซ์ จำกัด ภายใต้เครือสหพัฒน์ โดย นายธวัชชัย ตั้งวรกิจถาวร กรรมการบริษัท ร่วมกับ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (College of Arts, Media, and Technology, Chiang Mai University) โดย ผศ.ดร. วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดี วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด โดย นายภาสกร ปานนอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ Certifile ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันก่อน
ปัจจุบันระบบการศึกษากำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เข้าสู่ยุคข้อมูลระบบ Digital ทั่วโลก อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการจัดการเรียนรู้ และกระบวนการเรียนการสอนของสถาบันศึกษาให้เปลี่ยนไปจากรูปแบบที่เป็นอยู่เดิม ทั้งสื่อการเรียนการสอน และการใช้เทคโนโลยีในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งสถาบันการศึกษาและนักเรียนต่างปรับตัวเข้าสู่การเรียนรู้วิถีใหม่ โดยมีการเรียนออนไลน์และจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นคือ แม้สถาบันสามารถออกเอกสารทางการศึกษาและเอกสารอื่นๆ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ปัญหาหลักคือเมื่อเอกสารถูกนำไปใช้ยืนยันต่อองค์กรภายนอก การยืนยันว่าเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวมีความถูกต้องหรือถูกปลอมแปลงหรือไม่ยังคงทำได้ยาก ในขณะที่เศรษฐกิจดิจิทัลกำลังเติบโตอย่างสวนทางกับความเชื่อใจที่ลดลงเมื่อมีการทำธุรกรรมระหว่างกัน
ด้วยเหตุนี้ โครงการ CERTIFILE จึงได้ร่วมมือกับ CAMT เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีสำหรับเอกสารโครงการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของนักศึกษา โดยสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บข้อมูลการเข้าร่วมกิจกรรมของนักศึกษาและผู้เกี่ยวข้องของคณะ เช่น การจัดคอร์สอบรม รวมถึงเอกสารการเข้าร่วมการฝึกงานที่ CAMT ร่วมมือกับบริษัทพาร์ทเนอร์ของ Bitkub โดยการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ในรูปแบบของ NFT (Non-Fungible Token) ผ่านมาตรฐาน KAP-721 บนเครือข่าย Bitkub Chain ที่มีคุณสมบัติขั้นต่ำเทียบเท่ากับ ERC-721 ของเครือข่าย Ethereum ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในระดับสากล อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบเอกสารได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง และตรวจสอบธุรกรรมได้บน BKC Scan
สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ CAMT CMU ที่ใส่ใจในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ช่วยพัฒนาคุณภาพการเรียนให้กับนักศึกษา โดย ผศ.ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดี ได้ให้ความเห็นว่าทาง CAMT มีความสนใจและมีแนวคิดที่จะนำแพลตฟอร์ม Certifile มาใช้ในการทำ Activity Transcript NFT ของนักศึกษา, ใบอบรมต่าง ๆ ของคณะ รวมถึงโครงการด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งยังมีแนวคิดที่จะนำไปต่อยอดเป็นมาตรฐานการทำงานร่วมกับคณะอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทั้งนี้ นายธวัชชัย ตั้งวรกิจถาวร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีพีซีเอกซ์ จำกัด ได้กล่าวเสริมถึงมุมมองของภาคเอกชนและธุรกิจในเครือสหพัฒน์ ซึ่งมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ จากเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง และเป็นโอกาสอันดีในการสร้างสะพานระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจ เพื่อให้สามารถคัดเลือกบุคลากรได้อย่างมั่นใจผ่านการยืนยันเอกสารด้วยระบบ Certifile ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การใช้กับเอกสารต่าง ๆ ระหว่างภาคธุรกิจด้วยกัน
นอกจากนี้ นายภาสกร ปานนอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด ได้ร่วมสนทนาและให้ความเห็นถึงประโยชน์ของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและศักยภาพ ที่จะยกระดับการศึกษาและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากบล็อกเชน โดย คุณภาสกร มีมุมมองว่าการพัฒนาโครงการที่ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานนี้ ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมและก้าวเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในเวทีโลก อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน และ NFT รวมถึงเทคโนโลยีอื่นที่เกี่ยวเนื่องของโครงการ Certifile นำมาประยุกต์ใช้กับเอกสารสำคัญของนิสิตนักศึกษา หรือมหาวิทยาลัย เพื่อให้นิสิต นักศึกษา มหาวิทยาลัย หน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน หรือบุคคลหรือองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง สามารถตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารสําคัญทางการศึกษาดังกล่าว รวมถึงความร่วมมือในการดําเนินกิจกรรมด้านอื่น ๆ โดยจะสามารถสร้างประสิทธิภาพสูงสุดให้กับเทคโนโลยีบล็อกเชนได้