"ชลน่าน" มอบกรมควบคุมโรค เร่งลดปัญหาวัณโรค-อุบัติเหตุถนน หลังยังตกเกณฑ์ SDGs เชื่อบรรลุติด 1 ใน 3 ของโรคด้านการควบคุมโรค ส่วนขยายเวลาเปิดผับบาร์ตี 4 อาจกระทบอุบัติเหตุทางถนนโดยตรง ต้องมีมาตรการสกัดคนดื่มฝ่าฝืนขับรถ ย้ำจะขยายหรือไม่ต้องดูความสมดุล
เมื่อวันที่ 19 ต.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ตรวจเยี่ยมกรมควบคุมโรค โดย นพ.ชลน่านกล่าวว่า โครงการควิกวิน 13 ประเด็น กรมควบคุมโรคมี 7 ประเด็นที่รายงาน โดยเฉพาะโครงการราชทัณฑ์ปันสุข จากการเข้าเฝ้า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยถึงสุขภาพผู้ต้องขัง โดยเฉพาะห้องขังที่ไม่มี รพ.ใหญ่รองรับ ได้รายงานให้คำมั่นว่า กรมควบคุมโรคมีโครงการรองรับ มี รพ.แม่ข่ายที่จะประสานการดูแล ซึ่งผู้ต้องขังที่มีประมาณ 2.7 แสนคนต้องให้การดูแลอย่างครอบคลุม ตั้งแต่การคัดกรองจนถึงการออกมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข นอกจากนี้ นโยบายมะเร็งครบวงจร ตนอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ พบผู้ชายไทยเป็นมะเร็งท่อน้ำดีจำนวนมาก ทราบว่ามีการวางเป้าคัดกรอง 1 แสนคน อยากให้ร่วมกันดำเนินการ รวมถึงรณรงค์ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ไม่ใช่เพียงเป้าหมายการฉีดวัคซีนป้องกัน 1 ล้านโดส แต่ต้องดูถึงปัจจัยเสี่ยง เรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องให้ความสำคัญด้วย
“เชื่อมั่นว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มีศักยภาพดำเนินงานอย่างเต็มที่ ผมและ รมช.สธ.เป็นส่วนเสริมให้ทุกคนทำงานได้เต็มศักยภาพ ผมจะไม่ใช้คำว่าสั่งการหรือออเดอร์ เพราะเป็นสิ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล แต่เป็นการมอบหมายงานและแนวทางปฏิบัติ ขณะเดียวกันจะให้ความสำคัญเรื่องขวัญกำลังใจ โอกาสความก้าวหน้าในวิชาชีพ ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งสวัสดิการสวัสดิภาพ แต่ขอให้ทุกคนทำงานอย่างเต็มศักยภาพ” นพ.ชลน่าน กล่าวและว่า นอกจากนี้ อยากฝากเรื่องการปรับแก้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งที่ผ่านมาในสถานการณ์โควิด 19 ได้เห็นถึงข้อจำกัดของกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการควบคุมโรค ต้องอาศัยกฎหมายความมั่นคงเข้ามาควบคุม จึงฝากให้พิจารณาหากเกิดภาวะวิกฤตในอนาคต จะแก้กฎหมายให้เอื้อการทำงานอย่างไร รวมถึงอยากให้กรมฯ จัดตั้งศูนย์ Day Care เนื่องจากมีบุคลากรถึง 5 พันกว่าคน เป็นอีกแนวทางที่จะส่งเสริมการมีบุตร
ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เรื่องการป้องกันควบคุมโรคที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ใน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.โรคติดต่อสำคัญ 2.โรคไม่ติดต่อ 3.ปัจจัยเสี่ยง และ 4.โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ถ้าดูจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเรื่องของการป้องกันควบคุมโรคแล้ว พบว่าจะมี 2 ตัวที่ไทยยังตกเกณฑ์ หรือไม่ถึงเป้าของความยั่งยืน คือ วัณโรคและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร หากสามารถบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้ได้ เชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ไทยสามารถบรรลุได้ตามเป้าประสงค์ที่จะเป็น 1 ใน 3 ของระดับนานาชาติด้านการป้องกันโรค จากที่ล่าสุดอยู่ที่อันดับ 1 ของเอเชีย และอันดับ 5 ของโลกโดยอันดับ 1 คือ สหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยออสเตรเลีย ฟินแลนด์ แคนาดา และไทย
เมื่อถามถึงการบรรลุเป้าหมาย SDGs นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตัวชี้วัดของ SDGs มีทั้งหมด 17 ตัว ที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์คือ วัณโรคและอุบัติเหตุจราจร เป็นภารกิจหน้าที่ของกรมควบคุมโรควางแนวดำเนินการ ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ เช่น ปี 2573 เราจะขจัดวัณโรค มีการป้องกัน ดูแล รักษา ฟื้นฟูสภาพจากอุบัติเหตุทางถนน การจะลดได้ต้องอาศัยความร่วมมือหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางถนน กรมควบคุมโรคเป็นส่วนหนึ่ง เพราะอุบัติเหตุทางถนนไม่ได้เกิดแค่พฤติกรรมบุคคล มีเรื่องสภาพถนน วิศวกรรม พฤติกรรมของมนุษย์ เครื่องจักรเครื่องยนต์ หลายปัจจัยเกี่ยวข้อง จึงต้องดูทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ของเราที่จะเน้นหนักคือ ก่อนเกิดเหตุ โดยให้ความรู้ความเข้าใจ มาตรการเตรียมความพร้อมรองรับในภาวะเกิดเหตุ และขณะเกิดเหตุเข้าไปช่วยเหลือให้ทันท่วงทีอย่างไร จะมีกำหนดเวลาอยู่ในการถึงจุดเกิดเหตุ เป็นเกณฑ์วัดที่เราต้องทำ การส่งต่อผู้ป่วยไปดูแลรักษา
"วัณโรคเรามั่นใจว่า ต่อไปถ้าเรามีการดูแลจัดการอย่างเข้มข้น เราลดจำนวนวัณโรคตามเป้าหมายได้ กรมควบคุมโรคมีรถเคลื่อนที่พระราชทาน สามารถนำมาใช้ในการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคได้ และมาตรการควบคุมวัณโรคในเรือนจำ มีโครงการาชทัณฑ์ปันสุขในการตรวจคัดกรองก่อนที่จะส่งเข้าขัง ถ้าพบเจอก็แยกและรักษาป้องกันการแพร่เชื้อ การค้นหาในชุมชน วางโครงข่ายเฝ้าระวังค้นหาทุกชุมชนถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนแรงงานต่างด้าวที่พบมากถือเป็นกลุ่มเปราะบางตามนโยบายหลักของก็ต้องให้ความสำคัญดูแล ตั้งแต่การค้นหา วินิจฉัย รักษา และติดตาม ส่วนระยะเวลาดำเนินการให้ได้ตามเป้าของ SDGs ก็มีการกำหนดเวลาอยู่ อย่างวัณโณคคือปี 2573 ส่วนอุบัติเหตุวางเป้ายาก ก็พยายามประสานทุกหน่วยงานที่จะลดให้ได้มากที่สุด" นพ.ชลน่านกล่าว
ถามถึงกรณีอุบัติเหตุทางถนนยังเป็นปัญหา ส่วนหนึ่งมาจากดื่มแล้วขับ แต่จะมีนโยบายขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึงตี 4 จะมีการแก้ปัญหาอย่างไร นพ.ชลน่านกล่าวว่า การขยายเวลาเปิดผับถึงตี 4 จะกระทบอุบัติเหตุทางถนนหรือไม่ อาจมีความสัมพันธ์ทางตรง เพราะเหตุส่วนหนึ่งที่เจอคือเมาหรือดื่มแล้วขับ หน้าที่เราคือทำอย่างไรจะมีมาตรการป้องกันไม่ให้คนที่ดื่ม เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการขับยวดยานพาหนะ เป็นหน้าที่เราอยู่ตรงนี้ การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง มาตรการควบคุมตรงนี้อาจจะต้องเข้มข้น สำคัญที่สุดคือทำอย่างไรให้รับทราบและเกิดความตระหนักในการระมัดระวังในตัวบุคคล มีความเข้าใจป้องกันตนเองได้ ถ้ารู้ว่าตนเองดื่มก็ต้องไม่ฝ่าฝืนไปขับรถ
ถามต่อว่าจุดยืนของ สธ.เป็นอย่างไรเรื่องขยายผับบาร์ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นมิติสุขภาพและเศรษฐกิจ ต้องสร้างความสมดุล เราส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนแต่ต้องไม่มีผลกระทบสุขภาพ ต้องชั่งน้ำหนักตรงนี้ มาตรการไหนที่จะป้องกันดูแลไม่ให้มีผลกระทบสุขภาพต้องใส่อย่างเข้มข้น