xs
xsm
sm
md
lg

สธ.รุกคอนเซ็ปต์ "สวย เริด เชิด สู้มะเร็ง" ดูแลป้องกันหญิงไทย เน้นความรู้ คัดกรอง ป้องกัน รักษาไว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.รณรงค์ดูแล "มะเร็ง" ในผู้หญิง ใช้คอนเซ็ปต์ "สวย เริด เชิด สู้มะเร็ง" เน้นให้ความรู้ป้องกันมะเร็ง การตรวจคัดกรอง วินิจฉัยรักษาเร็ว เร่งดันควิกวินฉีดวัคซีน HPV หญิงอายุ 11 – 20 ปี 1 ล้านคน พ.ย.นี้ พัฒนาระบบบริการรองรับรักษาทุกที่



เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอนด์ บางกอก คอนเวนชันเซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างเปิดประชุมเพื่อหารือและเสริมสร้างนโยบายมะเร็งในสตรี และโอกาสของการดูแลมะเร็งในสตรี “Enhancing Women’s Cancer Care: Thailand Women Cancer Policy Forum” ว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกที่พบมากในผู้หญิงไทย สถิติจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ 17,000 รายต่อปี เสียชีวิต 4,800 รายต่อปี มะเร็งปากมดลูกมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 5,400 รายต่อปี เสียชีวิต 2,200 รายต่อปี สธ.กำหนดเรื่อง “มะเร็งครบวงจร” เป็นหนึ่งในนโยบายการดำเนินงานปี 2567 ครอบคลุมทั้งส่งเสริม ป้องกัน คัดกรอง วินิจฉัย รักษา และดูแลแบบประคับประคอง โดยมีควิกวินที่จะเร่งรัดให้เห็นผลใน 100 วันแรก คือ ฉีดวัคซีน HPV ให้กับหญิงอายุ 11 – 20 ปี จำนวน 1 ล้านคน พร้อมกันทั่วประเทศใน พ.ย. 2566


นพ.ชลน่านกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขามะเร็ง ให้ครอบคลุมประชาชนในทุกเขตสุขภาพ มีการดูแลรักษาส่งต่ออย่างเป็นระบบ และเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ตามสิทธิ หรือ มะเร็งรักษาได้ทุกที่ (Cancer Anywhere) เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งของประชาชน ทั้งนี้ ต.ค.ของทุกปี ถือเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยโรคมะเร็งเต้านม สธ.จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่ายจัดการประชุมครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก การสังเกตอาการเบื้องต้นจากแพทย์ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ มาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับมาตรการและแนวทางใหม่ๆ ที่จะทำให้การป้องกัน ควบคุมโรคมะเร็งในสตรีมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสำหรับหญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป การคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการคลำโดยผู้เชี่ยวชาญ การตรวจแมมโมแกรมในผู้ที่ได้รับการประเมินว่ามีความเสี่ยงสูง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และยังมีบูธให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก จัดขึ้นภายใต้สโลแกน “สวย เริด เชิด สู้มะเร็ง” หรือ “Women Power No Cancer”


นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตนได้ฝากให้ สปสช. พิจารณาการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องเมมโมแกรม ในผู้หญิงกลุ่มเสี่ยงที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป เรื่องนี้มีการคุยเบื้องต้นแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมา สปสช. ดูแลเรื่องการรักษามะเร็งเต้านม แต่กรณีไม่มีอาการ แต่อยากตรวจเมมโมแกรม ส่วนนี้สิทธิประโยชน์ของ สปสช. ยังไม่ครอบคลุม จึงได้พูดคุยกับ สปสช. ว่าน่าจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ตรงนี้ แต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาคอขวดในการดูแลผู้ป่วย จึงจะต้องกำหนดกลุ่มปัจจัยเสี่ยงอันดับแรกคือ เพศหญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีประจำเดือนเร็วและหมดช้า ผู้ที่มีภาวะอ้วน และผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง






กำลังโหลดความคิดเห็น