xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ออก 4 ข้อสั่งการรับมือ "ไต้ฝุ่นโคอินุ" พื้นที่ประสบภัยปรับรูปแบบบริการ "เทเลเมดิซีน" เพิ่มการเข้าถึง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ออก 4 ข้อสั่งการรับมือน้ำท่วม ให้จังหวัดพื้นที่เสี่ยงพิจารณาเปิดศูนย์ฉุกเฉิน รายงานเหตุการณ์สำคัญทันที ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบจากไต้ฝุ่นโคอินุ เฝ้าระวังโรคและภัยที่มากับน้ำท่วม ปรับรูปแบบบริการพื้นที่ประสบภัยให้เข้าถึงง่ายผ่านเทเลเมดิซีน แจ้งจุดเข้ารับบริการ ส่วนกลางเตรียมสำรองยาแล้ว 7 หมื่นชุด

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการ สธ. พร้อมรัฐมนตรีช่วย สธ. และปลัด สธ. มีความห่วงใยบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข และประชาชนในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำ พื้นที่ติดกับแม่น้ำโขง ภาคตะวันออกและภาคกลางบางจังหวัด ซึ่งจากการประชุมทางไกลติดตามสถานการณ์กรณี อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) และ ผอ.รพ.ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ปัจจุบันยังมีสถานการณ์ในพื้นที่ 3 ลุ่มน้ำ จาก 22 ลุ่มน้ำ จำนวน 4 จังหวัด คือ ตาก กาฬสินธุ์ ยโสธร และ อุบลราชธานี โดยมีสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบรวม 15 แห่ง เปิดให้บริการได้ตามปกติ 14 แห่ง ปิดบริการ 1 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านดอนยานาง จ.กาฬสินธุ์


นพ.ณรงค์กล่าวว่า สธ.ได้มีข้อสั่งการ ดังนี้ 1.จังหวัดที่เป็นพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่รับน้ำ ให้พิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อติดตามสถานการณ์ ประเมินผลกระทบ และรายงานสถานการณ์มายังส่วนกลาง 2.กรณีเหตุการณ์ที่เข้าเกณฑ์รายงานเหตุการณ์สำคัญและฉุกเฉิน ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) รายงานมายังกองสาธารณสุขฉุกเฉิน 3.ให้ สสจ.ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ผลกระทบจาก “พายุไต้ฝุ่นโคอินุ” ระหว่างวันที่ 3-10 ต.ค. 2566 และ 4.มอบกรมควบคุมโรค และ สสจ. เฝ้าระวังโรคและภัยที่มากับน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังได้ย้ำให้หน่วยบริการในพื้นที่ปรับรูปแบบการให้บริการให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ เช่น ระบบเทเลเมดิซีน การจัดจุดบริการ เป็นต้น รวมทั้งสื่อสารกับประชาชนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับเส้นทางการเข้ารับบริการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน

"หน่วยงานส่วนกลางได้เตรียมพร้อมสนับสนุนทรัพยากร เวชภัณฑ์ ยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้กับจังหวัดที่ได้รับผลกระทบผ่านทางสำนักงานเขตสุขภาพ โดยสำรองยาชุดฯ และยาน้ำกัดเท้าไว้ 7 หมื่นชุด และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ยังมีวัตถุดิบที่สามารถผลิตเพิ่มเติมได้อีก 1 แสนชุด ทั้งนี้ ได้รับรายงานสถานการณ์จาก นพ.สสจ.สุโขทัย กาฬสินธุ์ ลำปาง และอุบลราชธานี ว่าทุกแห่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และยังคงให้ทุกหน่วยบริการเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง" นพ.ณรงค์กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น