สธ.หารือ ยธ. เร่งคลอด กม.ลูกกำหนดจำนวนถือครองกี่เม็ดเป็นผู้เสพ ให้ได้ใน ต.ค.นี้ เร่งเปิดมินิธัญญารักษ์ จังหวัดละ 1 แห่ง ใน 100 วัน แบ่งกลุ่มก่อนบำบัด เผยกลุ่มสีแดงสีเหลืองรวม 4.59 แสนราย ส่วนเสพแต่ไม่ติดอีก 1.46 ล้านคน ใช้ชุมชนเป็นฐานบำบัด
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เมื่อช่วงเย็นวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา เรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วน เพื่อลดปัญหายาเสพติดให้ได้ภายใน 1 ปี ทั้งแง่ปริมาณผู้เสพ ผู้ขาย ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด จึงหารือเน้นหนักเรื่องการบำบัดดูแลผู้ใช้ผู้เสพผู้ติด ซึ่งโดยหลักแล้วนโยบายของ สธ. ผู้เสพก็คือผู้ป่วย จึงต้องมีการแบ่งระดับผู้เสพ เพื่อเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟู โดย สธ.จะใช้อาการของผู้ป่วยแบ่งกลุ่ม คือ กลุ่มสีแดงผู้ที่ใช้ประจำ มีอาการติดเรื้อรัง มีประมาณ 36,000 คน คิดเป็น 8% , กลุ่มสีเหลือง ผู้เสพที่มีอาการ มีจำนวนค่อนข้างเยอะ 423,000 คน คิดเป็น 92% และกลุ่มสีเขียว ผู้เสพที่ไม่มีอาการ หรือเป็นผู้ใช้เฉยๆ ประมาณ 1.46 ล้านคน
“สองส่วนแรกจะเป็นหน้าที่โดยตรงของ สธ. ที่ต้องนำเข้าสู่การบำบัดในสถานพยาบาล เราได้ประกาศนโยบายเร่งด่วน (Quick Win) ว่า 1 จังหวัดจะต้องมีมินิธัญญารักษ์รองรับ 1 แห่ง รวมๆ แล้วกลุ่มนี้เรามีตัวเลขประมาณ 459,000 ราย แต่อีก 1.46 ล้านคนถือเป็นผู้ใช้ กลุ่มนี้เราทิ้งไม่ได้หากเจอตัว ก็จะมีระบบให้ชุมชนบำบัด เป็นความร่วมมือระหว่าง สธ.กับกระทรวงมหาดไทย (มท.) รวมถึงเป็นการรองรับผู้ป่วยที่ผ่านการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลแล้ว คืนคนเหล่านี้สู่สังคม สังคมก็ต้องรับไปดูแลต่อ ให้อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขที่สุดนี่คือเป้าหมายของเรา” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในส่วนของ ยธ.จะดูเรื่องเม็ดเงินงบประมาณที่ใช้ในการบำบัดรักษาฟื้นฟู ที่ถูกจัดอยู่ในงบฯ บูรณาการ ที่มีหลายกระทรวงร่วมดูแล สธ.เป็นเจ้าภาพจึงเน้นว่าทำอย่างไรให้งบประมาณที่ได้มาครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่จะทำการบำบัดรักษามากที่สุด อย่างปี 2566 ของบฯ ไป 1.5 แสนล้านบาท แต่ได้มาเพียง 400 กว่าล้านบาท สามารถบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดได้เพียง 69,000 คน จึงต้องมาคุยกันว่าจะต้องช่วยกันดูแลอย่างไร นอกจากนี้ยังคุยกันเรื่องจะประกาศ Quick Win ร่วมกันในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่ง สธ.ประกาศไปแล้ว คือ มีมินิธัญญารักษ์ทุกจังหวัดจังหวัดละ 1 แห่ง ภายใน 100 วัน ส่วน ยธ.ก็จะประกาศนโยบายเร่งด่วนในภารกิจของตัวเองเช่นกัน ว่า 100 วันเขาจะทำอะไร
ทั้งนี้ สธ.จะต้องมาออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดจำนวนการถือครอบครองว่า จำนวนเท่าไรจะถือเป็นผู้เสพ ที่ประชุมมีมติให้คณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันหาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีเหตุผลรองรับ จะเป็น 1 เม็ด 5 เม็ดหรือ 8 เม็ด บนพื้นฐานเหตุผลทั้งมิติด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะนายกฯ ก็ได้ทวงถาม ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่ได้สรุป แต่ก็มีคนเสนอว่า ให้กำหนดที่ 5 เม็ด แต่ข้อมูลทางการแพทย์ถ้าเอาปริมาณมิลลิกรัมที่เสพเข้าไปแล้วมีผลกระทบกับร่างกาย กับจิตประสาท ก็จะใช้ตรงนี้เป็นหลัก แต่ในเชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคมจำนวนผู้ต้องขัง ความสามารถในการรองรับต่างๆ ก็จะนำเข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งการออกกฎกระทรวงไม่ได้กำหนดว่าต้องเมื่อไร แต่จะเร่งรัดให้เร็ว โดยไทม์ไลน์เดิมที่กำหนดไว้ก็คือภายใน ต.ค.นี้ จะต้องประกาศได้
เมื่อถามว่าจะพิจารณากำหนดมาตรการอะไรเพื่อปิดช่องโหว่ ไม่ให้คนอ้างถึงจำนวนเม็ดที่ถืออยู่นั้นเป็นผู้เสพ แต่ที่จริงอาจจะเป็นผู้ค้ายา นพ.ชลน่าน กล่าวว่า มันไม่สามารถจะปิดได้ทั้งหมด แต่ในส่วนของ สธ.ที่เน้นผู้เสพ คือผู้ป่วย ไม่ว่าจะเสพกี่เม็ดเราก็ตีเป็นผู้ป่วยหมด อย่างไรก็ตาม กำหนดแล้วมีการครอบครองเกินจากนั้นจะถือเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งมีโทษหนัก หากครอบครองต่ำกว่าที่กำหนดก็จะถือเป็นผู้เสพ ไม่มีโทษ แล้วเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา และตามกฎหมายจะให้มีการบำบัดรักษาโดยสมัครใจ แต่ถ้าไม่สมัครใจก็จะมีโทษ ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด