xs
xsm
sm
md
lg

"ชลน่าน" ยัน 13 นโยบาย สธ.มี Quick Win พร้อมเสนอเข้า ครม. จับตา 50 เขต 50 รพ.อาจประเดิม "ดอนเมือง" ที่แรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"หมอชลน่าน" รับฟัง 13 นโยบายยกระดับ "30 บาทพลัส" เผยทุกเรื่องมี Quick Win พร้อมเสนอ ครม. เตรียมแถลง 15 ก.ย. ก่อนถ่ายทอดบุคลากรทั้งหมด 22 ก.ย.นี้ พร้อมชงตั้งบอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ มีนายกฯ ประธาน ตั้ง "หมอเลี้ยบ" เลขานุการฯ ส่วน 50 รพ. 50 เขต หากจำเป็นจะก่อสร้าง รพ.ใหม่ หากมี รพ.อยู่แล้วจะยกระดับเป็นขนาด 120 เตียง เล็งพิจารณา "ดอนเมือง" เป็นตัวอย่างเขต Quick Win พร้อมเปิดตัวภริยาอาสาเป็นที่ปรึกษาด้านสื่อสาร

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ได้เข้าร่วมรับฟังการจัดประชุมทำแผนขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุข โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. ผู้บริหารจากทุกกรมในสังกัดเข้าร่วม ซึ่งภายในงานมีการเปิดตัว พญ.นวลสกุล บำรุงพงศ์ ภริยา ที่อาสามาเป็นที่ปรึกษาดูแลในงานด้านการสื่อสาร

นพ.ชลน่านกล่าวว่า วันนี้มีการเวิร์กช็อปนโยบายที่จะดำเนินการแบ่งออกเป็น 13 กลุ่ม ซึ่งจะมีการชี้แจ้งนโยบายวันที่ 15 ก.ย.นี้ สำหรับกลุ่มผู้บริหารระดับสูง และวันที่ 22 ก.ย.จะชี้แจงต่อผู้บริหารและผู้ปฏิบัติทั้งหมด รวมถึงมีการถ่ายทอดไปยังบุคลากรในต่างจังหวัดด้วย และจะมีกิจกรรมการแข่งขันฟุตบอลเพื่อให้มีพบปะสังสรรค์กันในวันที่ 22 ก.ย.นี้ โดยนโยบายที่พวกเราเตรียมทำไว้นี้ ถือว่าสอดรับกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งการประชุม ครม.นัดแรกวันนี้ สิ่งสำคัญคือการแปลงนโยบายรัฐบาลมาเป็นนโยบายของกระทรวง และแต่ละกระทรวงจะต้องเสนอ Quick Win ที่ ครม.จะสามารถประกาศต่อประชาชนได้ พอเห็นการทำงานในวันนี้ ยอมรับว่าตื้นตันใจ ซึ่งอดีต รมว.สธ. นายอนุทิน ชาญวีรกูล เคยพูดไว้ว่า สั่งงานวันนี้ต้องเสร็จเมื่อวาน หมายความว่ามีการวางแผนและเตรียมการไว้เรียบร้อย

นพ.ชลน่านกล่าวว่า หลังรับฟังการนำเสนอ ทุกเรื่องมีภาพ Quick Win ทั้งหมด สามารถนำเอาไปเสนอนายกฯ ได้ในการประชุม ครม.คราวหน้า โดยทั้งหมดยังอยู่ในนโยบายใหญ่ คือ ยกระดับ 30 บาท หรือ 30 บาทพลัส ซึ่งโครงการนี้มีตั้งแต่ปี 2545 ผ่านมา 20 ปี สินค้าทางการเมืองนี้ก็ต้องแตกต่าง เพราะบริบทเปลี่ยน ดังนั้น การทำงานร่วมกับภาคราชการ ถ้าตนมีโอกาสอยู่ครบ 4 ปี สิ่งที่ฝันและหวังในปี 2570 คือ การดูแลสุขภาพและสุขภาวะที่ดี มีความสมบูรณ์พร้อมทุกมิติ ทั้งร่างกาย จิตใจ ปัญญา และเชิงสังคม เชื่อมโยงผู้มีส่วนรับผิดชอบทั้งหมดด้านสุขภาพ โดยจะมีองค์กรหนึ่งที่เรียกว่า "คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ" ขึ้นมารองรับ ซึ่งจะเสนอเข้า ครม.ต่อไป จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเสนอผู้มีประสบการณ์ คือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นเลขานุการในกรรมการ และจะมีการเสนอรายชื่อต่างๆ เข้ามาเป็นกรรมการต่อไป ซึ่งกรรมการชุดนี้จะอุดรอยรั่วและเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ให้เป็นการทำงานที่ไร้รอยต่อจากที่อยู่ในการดูแลของ สธ. 70% ก็จะให้เชื่อมต่อกันเป็น 100%


"เน้นย้ำว่าทั้ง 13 เรื่องมี Quick Win ทั้งหมด เช่น การบริการสถานชีวาภิบาล การดูแลมะเร็งครบวงจร แต่ละเรื่องมีควิกวินทั้งหมด เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข นโยบายด้านการสรางรายได้จากสุขภาพก็มี โดยเรายกระดับทุกมิติ ทั้งส่งเสริมป้องกันรักษาและฟื้นฟู อย่างวัคซีนเอชพีวี อาจจะเป็นเรื่องเด่นในการป้องกันโรค การค้นหามะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งตับ มะเร็งปอดอาจจะเป็น Quick Win ที่เด่นเรื่องของการป้องกัน สิ่งที่วัดว่าสังคมสุขภาพดีคือ wellness community เขตสุขภาพละ 1 แห่ง ที่จะทำให้เป็นรูปธรรมได้" นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่อง 100 วันแรกจะเกิดอะไรขึ้น เช่น ใน กทม. ไม่จำเป็นต้องไปสร้างสถานพยาบาลใหม่ เพราะเตียงมีเยอะ แต่ทำอย่างไรให้มีเตียงและเข้าถึงการรักษาได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันทำ อย่างนโยบาย 50 เขต 50 รพ. การจะมี รพ.เราจะไปดูว่าถ้าจำเป็นต้องก่อสร้างใหม่ ก็จะหาสถานที่และก่อสร้างใหม่ แต่เขตไหนมีสถานที่อยู่แล้ว อาจมีการพัฒนาปรับยกระดับขึ้นมาให้มีศักยภาพขนาด 120 เตียง หรือเขตที่อยู่ใกล้กันอาจผสมผสานกัน โดยอาจเลือกในบางพื้นที่ที่ เช่น เขตดอนเมือง ซึ่งก็เป้นตัวเลือกหนึ่งที่พิจารณา ว่าจะเป็นตัวอย่างที่จะสามารถโชว์เป็น Quick Win ได้ สำคัญคือต้องมีสถานที่ก่อสร้าง รพ. ประชากรที่รองรับ และระบบบริการมีปัญหาความเชื่อมโยงอย่างไร ดอนเมืองอาจเป็นเขตหนึ่งที่เข้าเงื่อนไขเอาไปทำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนโยบาย 13 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.โครงการพระราชดำริฯ โครงการเฉลิมพระเกียรติและโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับ พระบรมวงศานุวงศ์ 2.รพ. กทม. 50 เขต 50 รพ. และปริมณฑล 3.สุขภาพจิต/ยาเสพติด 4.มะเร็งครบวงจร 5.สร้างขวัญกำลังใจบุคลากร 6.การแพทย์ปฐมภูมิ 7.สาธารณสุขชายแดน และพื้นที่เฉพาะ 8.สถานชีวาภิบาล 9.พัฒนา รพช.แม่ขาย 10.ดิจิทัลสุขภาพ 11.ส่งเสริมการมีบุตร 12.เศรษฐกิจสุขภาพ และ 13.นักท่องเที่ยวปลอดภัย


กำลังโหลดความคิดเห็น