แพทย์ฉุกเฉินเตือน แม้ถูกงูไม่มีพิษกัด ก็ต้องล้างแผลให้ถูกต้อง ไม่ควรนำสมุนไพรมาพอกทับ อาจเกิดการติดเชื้อ ส่วนงูพิษอาการมักแสดงใน 24 ชั่วโมง ย้ำ หากถูกงูกัดต้องมาพบแพทย์ ควรมีภาพและตัวงูมาแสดง เพื่อให้แพทย์วินิจฉัย อย่านำเชือกมารัดเหนือแผล
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. พญ.บุษกร ไพศาลโรจนรัตน์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.นพรัตนราชธานี ให้สัมภาษณ์ถึงภาวะฉุกเฉินเมื่อถูกงูกัด จากกรณีมีผู้ร้องเรียนแม่ชีรักษาแผลงูกัดด้วยการใช้เข็มจิ้มรอบแผล ทำให้แผลลุกลามจนสุดท้ายต้องตัดเนื้อตาย ว่า การถูกงูกัดเป็นภาวะฉุกเฉินหนึ่งทางการแพทย์ โดยปกติงูจะมี 2 ชนิด คือ งูมีพิษและไม่มีพิษ สำหรับพิษของงูเมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์แล้วจะทำลาย 2 ระบบ คือ 1. ระบบประสาท เช่น งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา และ 2. ระบบการไหลเวียนโลหิตที่ทำให้เลือดแข็งตัว เช่น งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา งูกะปะ ดังนั้น คำแนะนำเมื่อถูกงูกัด อันดับแรกคือ ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด พยายามขยับบริเวณที่ถูกกัดให้น้อยที่สุดด้วยการหาไม้มาดามบริเวณแผล ป้องกันพิษไหลเวียนในกระแสเลือด จากนั้นให้รีบนำผู้ป่วยมา รพ. เพื่อรับการรักษา
พญ.บุษกร กล่าวว่า กรณีที่มีภาพถ่ายหรือสามารถนำงูตัวที่กัดมา รพ.ได้ แพทย์ก็จะประเมินเบื้องต้นได้ว่าเป็นงูมีพิษหรือไม่มีพิษ โดยดูจากแผล ถิ่นที่อยู่อาศัย หรือพื้นที่ที่ผู้ป่วยถูกงูกัด หรือแพทย์ก็จะส่งรูปไปยังศูนย์พิษวิทยายืนยันชนิดของงู เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง สิ่งที่ต้องเน้นย้ำ คือ ปัจจุบันทางการแพทย์ไม่แนะนำให้นำเชือกมารัดเหนือแผล เพราะหากแผลที่ถูกกัดมีอาการบวมอยู่แล้ว ยิ่งนำเชือกไปรัด ก็จะทำให้แผลบวมขึ้นมากกว่าเดิม จึงแนะนำให้รีบมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี
“การจะแยกงูว่ามีพิษหรือไม่มีพิษ ไม่สามารถแยกด้วยสายตาหรืออาการหลังถูกกัดได้ เพราะอาการของงูกัดถ้าเกิดขึ้นในระบบประสาท ส่วนใหญ่จะแสดงอาการใน 24 ชั่วโมง เช่น หนังตาตก หายใจอ่อนแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง แต่ถ้าเกิดในระบบไหลเวียนโลหิต อาจจะเกิดอาการใน 3-5 วัน ดังนั้น หลังงูกัดแล้วอาจดูปกติ แต่ก็ต้องมาพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา หรือถ้าเป็นงูไม่มีพิษก็ต้องทำการล้างแผลให้ถูกต้อง และไม่ควรนำสมุนไพรมาพอกบริเวณแผลด้วย เพราะอาจเกิดการติดเชื้อได้” พญ.บุษกร กล่าว
พญ.บุษกร กล่าวว่า ปัจจุบันสภากาชาดไทย มีเซรุ่มต้านพิษงูทั้งแบบชนิดรวมและแบบเดี่ยว ซึ่งหากยังไม่ทราบว่าถูกงูชนิดใดกัด ก็สามารถใช้ชนิดรวมได้โดยจะแบ่งตามอาการที่เกิดขึ้น คือ อาการระบบประสาทและระบบไหลเวียนโลหิต แต่ถ้าทราบว่าเป็นงูชนิดใดก็ใช้ชนิดเดี่ยวเฉพาะได้ ซึ่งการใช้เซรุ่มต้านพิษงูก็จะใช้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่กำหนดโดยสภากาชาดไทย