xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะ "ลูกร้องกลั้น" ทำหน้าเขียว-หยุดหายใจ เสียชีวิตได้ ย้ำตั้งสติ อย่าตามใจ หวั่นเด็กเรียนรู้ทำอีกเมื่อถูกขัดใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพทย์ชี้อาการ "ลูกร้องกลั้น" หรือร้องไห้แบบกลั้นหายใจ ทำหน้าเขียว หมดสติ เสียชีวิตได้ ชี้มักเกิดในเด็กเล็ก 6 เดือน - 6 ปี เหตุเด็กรู้สึกถูกขัดใจ อาการมี 2 แบบ ทั้งแบบกลั้นเขียว สัมพันธ์กับการโกรธ ไม่ได้ดังใจ และแบบกลั้นซีด จากความเจ็บปวด ให้เบี่ยงเบนความสนใจลูก หากตามใจลูกจะเรียนรู้ทำอีกเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ

เมื่อวันที่ 21 ส.ค. นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีคุณแม่รายหนึ่งโพสต์คลิปลูกชายวัย 2 ขวบ 3 เดือน มีภาวะร้องกลั้น จนหยุดหายใจไป 3 นาที มีอาการตัวแข็ง ตาเหลือก หน้าเขียวไปทั้งตัว โดยแม่พยายามทำ CPR จนลูกหายใจและฟื้นคืนสติกลับมา ว่า การร้องกลั้นเป็นภาวะที่เด็กมีอาการกลั้นหายใจ ขณะหายใจออกเป็นชั่วขณะหนึ่งทำให้ออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงในสมองไม่เพียงพอ จนทำให้หน้าเขียวและเกือบเสียชีวิตได้ ทางการแพทย์เรียกว่า “breath-holding spells” อาการนี้จะเกิดขึ้นกับเด็กแรกเกิดถึงเด็กโต เมื่อเด็กเริ่มรู้จักแสดงอารมณ์ได้แล้ว โดยเฉพาะเวลาถูกขัดใจ พบได้ตั้งแต่ช่วงเด็กเล็ก 6 เดือน - 6 ปีอายุที่พบมากประมาณ 2 ปี หรือเมื่อเด็กเริ่มรู้จักแสดงอารมณ์ได้

นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวว่า อาการร้องกลั้นจะนานประมาณ 1-2 นาที และหลังจากมีอาการเด็กจะตื่นรู้ตัวภายใน 1 นาที อาการมี 2 ลักษณะ คือ แบบกลั้นเขียว 85% มักสัมพันธ์กับการโกรธ ไม่ได้ดั่งใจ และแบบกลั้นซีด อาจเกิดจากความเจ็บปวด เป็นต้น สาเหตุที่ทำให้ลูกร้องกลั้นนั้นเกิดจากการที่เจ้าตัวเล็กร้องไห้อย่างรุนแรงด้วยความโกรธหรือถูกขัดใจ คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติดังนี้ อย่าปล่อยให้ลูกโกรธจนสุด ควรพยายามหาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจของลูกไปหาสิ่งอื่น หากลูกร้องกลั้นให้กอดลูกไว้ ไม่ว่าหรือเขย่าตัวลูกหรือตบหน้าเพื่อให้ลูกหยุดร้อง สำรวจดูว่ามีบางสิ่งในปากขณะที่ร้องกลั้นหรือไม่ หากมีให้รีบหยิบออกเพราะอาจทำให้ลูกสำลักหรือติดคอจนทำให้เกิดอันตรายได้

"คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งสติ อย่าแสดงอาการตื่นตกใจเวลาที่ลูกร้องกลั้น เพราะอาจทำให้ลูกตกใจมากขึ้น บางครั้งการวางผ้าเปียกหรือเย็นบนหน้าเด็ก โดยไม่ปิดทางเดินหายใจ อาจทำให้อาการสั้นลง สุดท้ายไม่ควรตามใจ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะการรู้สึกขัดใจ เพราะเด็กสามารถเรียนรู้ว่า หากต้องการสิ่งใดการร้องไห้กลั้นจะเป็นเงื่อนไขในการได้ในสิ่งที่ต้องการ เมื่อลูกมีอาการร้องไห้แล้วกลั้นในครั้งแรก คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจดูว่าไม่มีความผิดปกติอย่างอื่นซ่อนเร้น เช่น ภาวะเลือดจาง โรคหัวใจ หรือ โรคลมชัก ในเด็กที่มีโรคหัวใจหรือโรคระบบหลอดเลือด หากมีอาการร้องกลั่นจนหน้าเขียวคุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัย หากเด็กร้องกลั้นแล้วไม่มีการตอบสนองให้รีบนำส่ง รพ.ทันทีหรือโทร.1669" นพ.อัครฐานกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น