ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พธู คูศรีพิทักษ์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนในการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคม จากมหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2565 ภายใต้โครงการปรีชาญาณนคร ที่อิงอาศัยความเชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรม มีประสบการณ์ในการจัดการอบรม Design Thinking หรือกระบวนการคิดเชิงออกแบบ ร่วมกับ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการวัดและประเมินผลทักษะทางสมองขั้นสูง Executive Function (EF) ได้แก่ ทักษะการตัดสินใจ ทักษะทางสมองชั้นสูง
การจัดอบรมกระบวนการคิดเชิงออกแบบ เรียนเด่น เล่นดี มีรายได้ (Play Learn Earn) เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล และสร้างสรรค์ รวมทั้ง สามารถหารายได้ให้แก่ชุมชนของตนเอง ให้แก่ นักเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตบางกอกน้อย ในฐานะที่เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลศิริราช จึงเป็นการสร้างความผูกพันของมหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม (Mahidol Social Engagement) ทางหนึ่ง
จากการทำงานกับชุมชนอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปี ทำให้เห็นว่าชุมชนมีองค์ประกอบที่เพียบพร้อม แต่ยังขาดความเชื่อมโยงในเรื่องการเรียนรู้ระหว่าง โรงเรียน บ้าน วัด และพิพิธภัณฑ์ โครงการนี้จึงพยายามออกแบบกิจกรรมเพื่อเชื่อมโยงทรัพยากรทางการเรียนรู้ที่มีอยู่แล้วเข้าด้วยกัน และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยการคิดเชิงออกแบบ เรียนเด่น เล่นดี มีรายได้ เรียนรู้จากปัญหา แก้ไขปัญหาจริงของโลกแห่งชีวิตภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นทางออกของปัญหาที่สามารถสร้างรายได้ได้ด้วย
ทางโครงการได้วัดทักษะทางสมองขั้นสูงของผู้ร่วมกิจกรรมผ่านเกมเปิดไพ่ ทั้งก่อนและหลังการร่วมกิจกรรม เพื่อวัดพัฒนาการด้านทักษะการตัดสินใจของผู้เข้าร่วมโครงการ
โครงการนี้มีผู้ร่วมกิจกรรม ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดอมรินทราราม นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดสุวรรณารามวิทยาคม นักศึกษาชั้น ปวส. ปี 2 วิทยาลัยเทคโนโลยีจรัลสนิทวงศ์ ระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 – พฤษภาคม 2566 นอกจากนี้ ได้ขยายผลไปยังโรงเรียนในจังหวัดอื่น ๆ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาธิตเทศบาลเมืองราชบุรี และสามเณร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ณ มหาวชิราลงกรณ เถรวาทราชวิทยาลัย กำแพงแสน ซึ่งได้รับคำแนะนำจากเจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม พระธรรมวชิราจารย์ (สุชาติ กิตฺติปญฺโญ ป.ธ.๘ ,ดร.) ที่ปรึกษาโครงการ
การคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ชุมชนสามารถคิดวิเคราะห์ปัญหาได้ด้วยตนเอง ออกแบบหาทางแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง ไตร่ตรองสะท้อนความคิด และใคร่ครวญกระบวนการทำงานทั้งหมดด้วยตนเอง กระบวนการคิดเชิงออกแบบ เริ่มจากการหาปัญหาในชุมชนว่ามีปัญหาอะไรบ้าง
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนวัดอัมรินทราราม ที่เข้าร่วมโครงการ ได้วาดแผนที่ชุมชน เริ่มจากโรงเรียน และชุมชนโดยรอบว่ามีอะไรบ้าง และให้นักเรียนวิเคราะห์ปัญหาจากในโรงเรียนหรือในชุมชน ปัญหาที่นักเรียนได้หยิบยกขึ้นได้ ได้แก่ การทิ้งขยะไม่เป็นที่ การถูกบูลลี่ ปัญหาสุนัขจรจัด คนเร่ร่อน และปัญหารถติด
กระบวนการเรียนรู้ เริ่มต้นจากการชี้ชัดปัญหา แล้ววิเคราะห์สาเหตุว่าปัญหานั้น เกิดจากสาเหตุอะไร หาทางแก้ไข และทำอย่างไรให้สามารถสร้างรายได้ได้ด้วย นักเรียนแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด และคนจรจัด ด้วยการออกแบบเสื้อยืด D-I-Y 1 Life 2 Live ความหมายคือ หนึ่งชีวิตสามารถช่วยเหลืออีกสองชีวิตได้ ผู้ซื้อสามารถออกแบบการจัดวางลวดลายได้เอง นักเรียนจะนำรายได้จากการขายเสื้อมาตั้งเป็นกองทุน เพื่อบริจาคให้แก่ คนเร่ร่อน และใช้แก้ปัญหาสุนัขจรจัด
ส่วนเด็กนักเรียนอีกห้องเป็นกลุ่มเด็กที่ชอบทำกิจกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ในการทำ “กำไลรักกัน” กับ “ขนมเลิกล้อ” เพื่อแก้ปัญหา การถูกกลั่นแกล้ง ทะเลาะวิวาท และการถูกบูลลี่ “ขนมเลิกล้อ” เป็นขนมที่มีคุณสมบัติเย็น เมื่อทานขนมแล้วจะใจเย็นแล้วเลิกล้อกัน
นอกจากนี้ มีการสร้างแอปพลิเคชัน “คุณครูใจดี” ความหมายคือ คุณครูที่มีความเป็นกันเอง เล่นได้ คุยได้ โรงเรียนวัดสุวรรณาราม แก้ปัญหาการบูลลี่ ด้วยคลิป TikTok “เด็กไทยไม่บูลลี่” โดยนักเรียนได้ถ่ายทำเอง ด้วยเหตุผลที่ไม่อยากให้คนล้อเลียน ไม่ว่าจะรูปลักษณ์ ฐานะทางการเงิน เป็นการรณรงค์ให้คนเลิกล้อผ่านแพลตฟอร์ม TikTok ที่สามารถสร้างรายได้อีกด้วย
นักศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีจรัลสนิทวงศ์ที่ร่วมโครงการนั้น เรียนในรายวิชาการท่องเที่ยว ซึ่งทางโครงการได้ออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสมกับนักศึกษา สอนให้ออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยว โดยพานักศึกษาไปเรียนรู้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี และชุมชนโดยรอบ นักศึกษาออกแบบแก้ปัญหาไม่มีป้ายบอกทางเข้าพิพิธภัณฑ์ด้วยทางเดินอัจฉริยะ (Smart Pathway) ช่วยให้คนสามารถยืนอยู่บนทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ แล้วมีข้อมูลเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ และชุมชนให้ได้เรียนรู้ระหว่างทาง และพาเราไปยังจุดหมายได้ การเรียนรู้จากกิจกรรมการคิดเชิงออกแบบ เรียนเด่น เล่นดี มีรายได้นี้ มุ่งหวังให้ผู้ร่วมกิจกรรมมองเห็นปัญหา คิดวิเคราะห์ปัญหาได้ด้วยตนเอง สามารถสร้างรายได้ และนำทักษะไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง
ตัวแปรสำคัญของโครงการฯ ในความอนุเคราะห์จากผู้อำนวยการสถานศึกษา ทั้ง 5 แห่ง และครูผู้สอน รายวิชาต่าง ๆ อันได้แก่ การค้นคว้าอิสระ (IS) ลูกเสือ – เนตรนารี วิชาชมรม วิชาท่องเที่ยว เป็นต้น
ครูเป็นบุคลากรสำคัญที่เป็นตัวเชื่อม และส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้ การเรียนรู้แบบนี้จะสัมฤทธิ์ผลได้ เมื่อคุณครูเข้าใจ และเปลี่ยน ปรับ ประยุกต์ กระบวนการเรียนรู้แบบ Play Learn Earn ในการจัดการเรียนการสอน การส่งเสริมศักยภาพของครูจึงมีความจำเป็นยิ่ง เพื่อการนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้จริง และผลักดันในเชิงนโยบายต่อไป กิจกรรมดังกล่าวนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับครูที่มุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะ วิธีการเรียนรู้ดังกล่าวสามารถประยุกต์ได้กับทุกสาระการเรียนรู้
การบูรณาการงานวิจัยด้านการพัฒนาทักษะทางสมองชั้นสูง สอนให้เด็กเกิดทักษะ คิดแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล สร้างสรรค์ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาสมองชั้นสูง ให้เด็กโตไปเป็นคนคุณภาพ ทำให้เด็กผ่อนคลาย เกิดการเรียนรู้ มีความคิดสร้างสรรค์ การคิดนอกกรอบเป็นเรื่องความกล้า ความอิสระ เกิดการค้นหาตัวเอง มีทักษะและความสามารถที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน Soft Skilll พัฒนาไปได้อย่างเป็นระบบ หากส่งเสริมไประดับนโยบายได้จริง วัด โรงเรียน พิพิธภัณฑ์ บ้าน ชุมชน หรือเรียกว่า เมืองวรพบ นำไปสู่ชุมชนแห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมให้เกิดปรีชาญาณนครได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา โครงการฯ ได้จัดกิจกรรม เวทีขับเคลื่อน “นโยบายปรีชาญาณนครกับการผลักดันนโยบายระดับประเทศ” มีการนำเสนอผลงานวิจัยผ่านนิทรรศการ Play Learn Earn จัดแสดงกระบวนการเรียนรู้และผลงานนักเรียนที่เข้าร่วมงาน โดยมี ตัวแทน นักวิชาการ ภาคีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนนโยบาย พระสงฆ์ ผู้บริหารสถานศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่บางกอกน้อย ชุมชน พิพิธภัณฑ์ เข้าร่วมการเสวนา แบบไฮบริด ทั้ง ณ วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร และ แบบออนไลน์
โครงการปรีชาญาณนคร นำข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนการศึกษา โดยเสริมหลักสูตรการคิดเชิงออกแบบ เรียนเด่น เล่นดี มีรายได้ ตลอดทุกช่วงชั้นเรียน ครู อาจารย์สามารถจัดการเรียนการสอนแบบเสริมสมรรถนะ คำนึงถึงบริบทพื้นที่ และเสนอ ชานชาลาแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต “ว ร พ บ” วัด โรงเรียน พิพิธภัณฑ์ บ้าน ที่ต้องเสริมศักยภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิต