สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระคติธรรมเนื่องในวันอาสาฬหบูชา “ถ้าพุทธศาสนิกชนอ้างตนเป็นชาวพุทธ แต่ไม่ศึกษาเรียนรู้พระธรรมให้เข้าใจกระจ่าง ก็ย่อมปฏิบัติผิด หลงผิด” พึงสืบอายุพุทธศาสนาให้ยั่งยืนนาน ด้วยการ “ศึกษา-ปฏิบัติ” ตามพระธรรมวินัย
วันนี้ (1 ส.ค.) เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันอาสาฬหบูชา วันอังคารที่ 1 ส.ค.2566 ความว่า
“ดิถีอาสาฬหบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ควรที่พุทธบริษัทจะได้บำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษ เพื่อรำลึกถึงวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดปัญจวัคคีย์ เริ่มประกาศพระศาสนา กระทั่งบังเกิดมีพระอริยสงฆ์ ครบถ้วนพร้อมเป็น "พระรัตนตรัย" อันเป็นสรณะสูงสุดในพระพุทธศาสนา
พระมหากรุณาคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทอดพระเนตรตระหนักเห็นความทุกข์ในสังสารวัฏของสรรพสัตว์นั้น ใหญ่หลวงนัก หาใช่เพียงเฉพาะในพระชาติสุดท้ายที่เสด็จอุบัติมาเป็นพระโพธิสัตว์เจ้าชายสิทธัตถะ หากแต่สั่งสมมาเนิ่นนานถึงสี่อสงไขยแสนกัป ทรงตั้งพระหฤทัยบำเพ็ญเพียร เพื่อจะได้ทรงรื้อขนสรรพชีวิตให้ล่วงพ้นจากทุกข์ได้อย่างถาวร ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมที่ตรัสรู้ เราทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท จึงพึงสืบอายุพระพุทธศาสนาไวัให้ยั่งยืนนาน ด้วยการ "ศึกษา" และ "ปฏิบัติ" ตามพระธรรมวินัย
ทั้งนี้ การทำหน้าที่พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา ต้องเริ่มที่การสร้างสรรค์ตนเองให้เป็นพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาที่มีคุณภาพ ตามพระพุทธประสงค์ให้ได้ก่อนเป็นเบื้องต้น ถ้าบรรพชิตบวชแล้วไม่เข้าใจและไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย อีกทั้งถ้าพุทธศาสนิกชนอ้างตนเป็นชาวพุทธ แต่ไม่ศึกษาเรียนรู้พระธรรมให้เข้าใจกระจ่าง ก็ย่อมปฏิบัติผิด หลงผิด ทำให้พระพุทธศาสนาก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้นาน
วันอาสาฬหบูชา นอกจากจะเตือนใจให้รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อันเป็นสรณะสูงสุดของพุทธบริษัทแล้ว ยังนำพาให้เราทั้งหลายมั่นคงแน่วแน่ด้วยอธิษฐานจิตตั้งมั่น ในอันที่จะพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนาด้วยการศึกษาพระปริยัติธรรมให้เข้าถึงการปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องตรงทางอริยมรรค เพื่อให้ได้ชื่อว่าท่านกำลังเจริญรอยตามพระยุคลบาทของพระพุทธองค์ ในการช่วยกันสืบอายุพระพุทธศาสนา แล้วจงประคับประคองจิตใจให้อาจหาญร่าเริง เบิกบานด้วยกุศลฉันทะพร้อมกระทำคุณประโยชน์ ด้วยการพลีสรรพกำลัง เกื้อกูลให้เพื่อนร่วมชาติ ร่วมสังคม สามารถก้าวพ้นจากทุกข์ภัย นำมาซึ่งสันติสุขร่วมกันของสรรพชีวิตบนโลกนี้สืบไป ตลอดกาลนาน เทอญ.”