xs
xsm
sm
md
lg

อธิการบดีจุฬาฯ เปิดนิทรรศการ “After Shock : ศิลปนิวัต” โชว์ผลงานศิลปะสุดทึ่งของนักเรียน-อาจารย์-บุคลากร รร.สาธิตจุฬาฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานในพิธีเปิด นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะของนักเรียน อาจารย์และบุคลากร ครั้งที่ 9 : ศิลปนิวัต The 9th Art Exhibition of the Students and Staff of CUD : AFTER SHOCK ณ ลานพิพิธศิลป์ ระหว่างอาคารศิลปวัฒนธรรม และอาคารพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี รองศาสตราจารย์ศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อาจารย์ศรียา เนตรน้อย ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม, คุณกรรชิต จิตระทาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม, คุณหรรษา คำล้วน ผู้อำนวยการฝ่ายพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์, อาจารย์พรพรหม ฉัตรชัยพรสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มัธยม, คุณกำพล โชติปทุมวรรณ นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, ตัวแทนนายกสมาคมนักเรียนเก่าสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อาจารย์ธนัญญา จตุรานนท์ ผู้ฝึกซ้อมนักเรียนบรรเลงเปียโน, อาจารย์ฌานดนู ไล้ทอง ผู้ควบคุมวงโยธวาทิต กลุ่มศิลปิน และอาจารย์สมใจ จงรักวิทย์ ประธานจัดงานนิทรรศการ เป็นเกียรติเข้าร่วมพิธี โดยภายในงานมีผู้ปกครอง นักเรียน บุคลากร และผู้สนใจเข้าร่วมชมเป็นจำนวนมาก

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.ดร.บัณฑิต อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวระหว่างการเปิดงานว่า วัยเด็ก โดยเฉพาะเด็กนักเรียนนั้นมีพลังมาก แต่การอบรม และกล่อมเกลา ให้เด็ก ๆ สามารถใช้พลังดังกล่าวในสร้างสรรค์ ถ่ายทอดศักยภาพในตัวของเด็กและเยาวชนออกมาได้นั้นเป็นสิ่งที่ระบบการศึกษาต้องช่วยกันเกื้อหนุน

“พลังที่ระเบิดออกมา หรือพลังที่นักเรียนได้แสดงถึงความสามารถออกมาเป็นเส้นศิลป์ต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งมิติต่างๆ ของนักเรียน รร.สาธิตจุฬาฯ มาได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นศิลปะที่เป็นทัศนศิลป์ อย่างที่เราได้เห็นกันนี้ หรือ ดุริยศิลป์จากนักเรียน ซึ่งก็เป็นอีกบทหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ตรงนี้ต้องขอขอบคุณท่านคณาจารย์ ผู้บริหารที่บ่มเพาะ กล่อมเกลา ให้นักเรียนของเราเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ เพื่อที่จะไปรับใช้สังคมต่อไป ในนามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้แก่คณาจารย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย”






ทั้งนี้ นิทรรศการ ศิลปนิวัต : AFTER SHOCK ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 3 ก.ค. - 4 ส.ค. 2566 วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ เวลา 9.00 – 17.00 น. ณ ห้องนิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม และห้องนิทรรศการหมุนเวียนชั้น 1 อาคารพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย จุฬาฯ นั้น จัดโดยโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ สาระทัศนศิลป์ โดย โครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ (Art Learning) ซึ่งมี อ.สมใจ จงรักวิทย์ เป็นประธานจัดงาน โดย อ.สมใจ ได้อธิบายถึงแนวคิดของการจัดนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ซึ่งถือเป็นภาวะปกติ แต่พอมี โควิด-19 เกิดขึ้น ก็สร้างภาวะความหวาดกลัว และตื่นตระหนกที่แพร่ขยายไปทั่วโลก ทั้งยังส่งผลถึงการจัดการศึกษา การเรียนการสอนของเด็ก ๆ ด้วย ก็มีผลกระทบเยอะมาก ๆ ทั้งนี้เรื่องโควิด-19 ใช้เวลานาน 2 ปี เกือบ 3 ปีกว่าจะคลี่คลาย เมื่อมีการจัดการเรียนการสอนได้เป็นปกติ วิชาและโครงการศิลปะก็สามารถกลับมาสอนได้อย่างเป็นปกติ ซึ่งนักเรียนก็จะเห็นว่าศิลปะสามารถช่วยฟื้นคืนความสุขให้กับนักเรียนได้จริงๆ ส่วนการจัดนิทรรศการครั้งนี้ก็ถือเป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้กับนักเรียนให้ทำผลงานให้ดี รวมไปถึงช่วยสร้างความมั่นใจด้วย เพราะเขาได้แสดงงานในรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับ” อ.สมใจกล่าวอธิบาย

อาจารย์สมใจ จงรักวิทย์ ประธานโครงการ Art Learning และประธานจัดงานนิทรรศการ
ด้าน นายนัทพล โกมลารชุน หรือ กาโม่ ศิลปิน Doodle Graffit ชื่อดังของไทยนักเรียนเก่า รร.สาธิตจุฬาฯ และศิษย์เก่าโครงการ Art Learning ก็กล่าวเช่นกันว่า

“การได้เห็นนิทรรศการศิลปะของเด็กจัดอย่างนี้ ถือว่าเจ๋งมาก เพราะโดยปกติแล้วศิลปะในโรงเรียนจะไม่ได้มีการนำผลงานมาจัดเป็น Exhibition ใหญ่ขนาดนี้ แต่สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รร.สาธิตจุฬาฯ จะเห็นได้ว่าให้ความสำคัญ และเต็มที่กับงานมาก ไม่ว่าจะให้พื้นที่ หรือการจัดองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งถ้าเราเป็นเด็กนักเรียนแล้วได้มาโชว์งานในงานที่ใหญ่ขนาดนี้ก็น่าภูมิใจ และน่าปลื้มใจ”

นอกจากนี้ “กาโม นัทพล” อย่างกล่าวด้วยว่า ส่วนตัวตั้งแต่ยังเป็นเด็กประถม เมื่อได้เข้าร่วมโครงการ Art Learning ของ รร.สาธิตจุฬาฯ ก็รู้สึกประทับใจ เนื่องจากมีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องงานศิลปะจากศิลปิน วิทยากรที่มีชื่อเสียง มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ โดยตรงมาสอน ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีการสอนเด็กที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งถ้าไม่ได้เข้าโครงการก็คงไม่มีโอกาสได้เรียนหรือได้พบกับศิลปินชั้นนำเหล่านี้ ทั้งนี้สิ่งเหล่านี้ถือเป็นแรงบันดาลใจ และผลักดันตัวเราในการฝึกฝน ให้พัฒนางานด้านศิลปะต่อไปด้วย

กาโม่ นัทพล โกมลารชุน ศิลปิน Doodle Graffit ชื่อดังของไทย
สำหรับนิทรรศการครั้งนี้ได้รวบรวมผลงานศิลปะของนักเรียนในโครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ (Art Learning) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 – 6 นักเรียนที่ได้รับคัดเลือกผลงานศิลปะ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 นักเรียนในโครงการการศึกษาพิเศษเพื่อพัฒนาความสามารถทางการเรียนรู้ อาจารย์ วิทยากรในโครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ ( Art Learning ) และบุคลากรโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม

นอกจากนี้ ยังมีงานแสดงผลงานของศิลปินหลายท่าน อย่างเช่น พินิตย์ พันธประวัติ ช่างฝีมือผู้แกะสลักพระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 บนธนบัตรไทย, ปกรณ์ กล่อมเกลี้ยง ภัณฑารักษ์อิสระ, แทน โฆษิตพิพัฒน์, กาโม่-นัทพล โกมลารชุน ศิลปินดูเดิ้ล, รพีวิชญ์ จิรมิตรมงคล, เถียนเถียน-ศุภมาส ทวีโชติภัทร์ ศิลปินหญิงแนวเซอร์เรียลริสม์ และศิลปินร่วมสมัยอีกหลายท่านอีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชม งานศิลปนิวัต The 9th Art Exhibition of the Students and Staff of CUD : AFTER SHOCK ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 3 ก.ค. - 4 ส.ค. 2566 วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ เวลา 9.00 – 17.00 น. (ปิดทำการวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ได้ ณ ห้องนิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม และห้องนิทรรศการหมุนเวียนชั้น 1 อาคารพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย







แทน โฆษิตพิพัฒน์ กับ คณาจารย์ผู้ร่วมจัดนิทรรศการ











ปกรณ์ กล่อมเกลี้ยง ภัณฑารักษ์อิสระ

พินิตย์ พันธประวัติ ช่างฝีมือผู้แกะสลักพระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 บนธนบัตรไทย






กำลังโหลดความคิดเห็น