คณะวิทย์ มธ.เผยรายงาน SDR 2023 ไทยขยับขึ้น 1 อันดับ ได้ที่ 43 ของโลก หลังผ่าน sdg4 การศึกษา ยังขาด 4 เป้าหมาย 9 ตัวชี้วัด หากไม่สำเร็จอาจถูกมาตรการทางการค้าของประชาคมโลกกดดัน พบ 3 ตัวแปรสำคัญฉุดรั้งไทยไกลมาตรฐาน แนะรัฐบาลยึด 3 แนวทางพัฒนา SDGs ยั่งยืน รุกถ่ายทอด 3 นวัตกรรม “เตาผลิตถ่านคุณภาพสูง – ระบบกรองน้ำ - ตรวจวัดคุณภาพน้ำ” ส่งเสริม SDG ด้านหลักประกันน้ำ
เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ผศ.ดร.เยาวทัศน์ บุญกล้า อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นวาระสำคัญที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ปัจจุบันมีเป้าหมายร่วมกัน 17 เป้าหมาย จากรายงาน "Sustainable Development Report 2023 (SDR 2023)" ระบุว่า ไทยได้รับการจัดอันดับที่ 43 จาก 166 ประเทศ สูงขึ้นหนึ่งอันดับจากปีที่ผ่านมา หลังบรรลุเป้าหมายที่ 4 (SDG4) การศึกษาที่มีคุณภาพให้กลายสถานะเป็นสีเขียว ต่อจากเป้าหมาย SDG1 ขจัดความยากจน แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ ยังมี 4 เป้าหมายที่อยู่ใน “สถานะท้าทายมาก” (สีแดง) หรือสถานการณ์วิกฤตมีความท้าทายอย่างมาก คณะวิทย์ฯ มธ. มองว่า หากจะผลักดันให้บรรลุครบทุกเป้าหมาย ประเทศไทยต้องขับเคลื่อนทั้ง 4 เป้าหมาย ที่มี 9 ตัวชี้วัดย่อยให้ครบ ดังนี้
SDG 2 ยุติความหิวโหย ได้แก่ ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการและเพียงพอตลอดทั้งปี , ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบและแก้ไขปัญหาความต้องการสารอาหารของ หญิงวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และผู้สูงอายุ และสร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน เพื่อเพิ่มผลิตภาพและการผลิต พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อทุกการเปลี่ยนแปลง
SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี คือ ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลง 1 ใน 3 , ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง และลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษ การปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573 ส่วน
SDG 10 ลดความเหลื่อมล้ำ การลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ คือ ลดค่าธรรมเนียมการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานย้ายถิ่นให้ต่ำกว่าร้อยละ 3 และขจัดการชำระเงินระหว่างประเทศที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ร้อยละ 5 ภายในปี 2573
SDG 14 นิเวศชายฝั่งและมหาสมุทร ติดเรื่องการป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงเศษซากขยะในทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร ภายในปี 2568 และอนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งอย่างน้อยร้อยละ 10 ภายในปี 2563
ผศ.ดร.เยาวทัศน์กล่าวว่า หากไทยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว อาจจะส่งผลให้ไทยได้รับแรงกดดันจากมาตรการทางการค้าจากประชาคมโลก หรือถูกกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศในอนาคต หากพิจารณาถึงภาพรวมแผนพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย จะพบ 3 ตัวแปรสำคัญที่รั้งไทยห่างไกลมาตรฐาน แม้ว่าไทยจะอุดมไปด้วยแหล่งทรัพยากรในฐานะครัวโลก รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์แขนงต่างๆ ดังนี้ 1.รัฐขาดการวางกลยุทธ์แบบบูรณาการ เพราะรัฐบาลถือเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการออกนโยบายและดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อขับเคลื่อน SDGs อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ที่ผ่านมาพบว่าทุกกิจกรรมเพื่อสังคมจากทั้งภาคเอกชนหรือภาคการศึกษา ขาดการมอบอำนาจหรือมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานท้องถิ่น เข้ามารับช่วงต่อขยายผลให้เกิดสัมฤทธิ์ผลที่เป็นรูปธรรม 2.คุณภาพชีวิตประชากรในพื้นที่ชายขอบ หนึ่งในปัจจัยทำให้ไทยไม่สามารถบรรลุ SDG 3 ด้วยข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์และการคมนาคมภายในพื้นที่ เมื่อเจ็บป่วยไม่สามารถเดินทางเพื่อมารักษาที่ดีได้ และ 3.ความเหลื่อมล้ำในบางบริบทของพื้นที่ คือ ความสามารถในการเรียนรู้ของชุมชน ที่สร้างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงและประยุกต์ใช้เครื่องมือหรือนวัตกรรมที่ได้รับการถ่ายทอดจากภาคเอกชนและภาคการศึกษา
ผศ.ดร.เยาวทัศน์กล่าวว่า คณะวิทย์ฯ มธ. โดยสาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีข้อเสนอ 3 แนวทางถึงภาครัฐ ในการพาไทยก้าวข้ามทุกข้อจำกัดในการบรรลุเป้าหมาย SDGs เพื่อชิงความได้เปรียบด้านทรัพยากรของไทยภายใต้โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy) และทรัพยากรบุคลากรที่มีศักยภาพสูง ดังนี้ 1.วางกลยุทธ์ผลักดัน SDG ที่มีระบบ-ต่อเนื่อง ผ่านการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ-เอกชน-การศึกษา-หน่วยงานท้องถิ่น ผู้นำชุมชน สู่การหารือถึงปัญหาและวางแผนพัฒนาเพื่อความยั่งยืนที่มีระบบและต่อเนื่องในทุกมิติ เพื่อให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เรียนรู้และถอดบทเรียนจากประเทศที่บรรลุเป้าหมายได้สำเร็จอย่างเนเธอร์แลนด์ ที่ใช้นวัตกรรมลดปัญหาภัยพิบัติน้ำ และต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
2.อัดฉีดงบหนุนหน่วยงานที่มีศักยภาพขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้โตต่อได้อย่างยั่งยืน ผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบทางการเกษตร สินค้าชุมชนเพื่อจัดจำหน่ายในประเทศและส่งออก ควรกำหนดตัวชี้วัดและติดตามผลรายไตรมาสและรายปี ว่าดำเนินงานต่อเนื่องหรือไม่ มีเป้าหมายใดอยู่ระหว่างดำเนินการ และ 3.ออกแผนส่งเสริมความรับผิดชอบร่วมกัน ผ่านการจัดแคมเปญรณรงค์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนไทย เนื่องจากการบรรลุเป้าหมาย SDG มิสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยหน่วยงานในภาคส่วนใดส่วนหนึ่ง อาทิ ภาคการศึกษา ด้วยสร้างแรงจูงใจที่ส่งเสริมให้นักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัย ตลอดจนนักศึกษา ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ 3 แกนของ SDG นอกเหนือจากการพัฒนางานวิจัยในเชิงพาณิชย์ ภาคท้องถิ่น ในการสอดส่องคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชุมชน อันนำไปสู่การวางแนวทางแก้ไขปัญหาในอนาคต
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน คณะวิทย์ มธ. ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนแผนการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเป็นการอุดช่องโหว่ระหว่างทางของการพัฒนาในหลากมิติ อาทิ ใน SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล โดยส่งมอบ 3 นวัตกรรมและองค์ความรู้ที่ช่วยให้โรงเรียนบ้านแม่เงา ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน สามารถเข้าถึงน้ำที่สะอาด-ปลอดภัย และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน หลังพบปัญหาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคของชุมชนและภายในโรงเรียนไม่ได้มาตรฐาน และขาดการเข้าถึงระบบประปาที่มีคุณภาพ โดยสาขาวิชาฯ ได้ร่วมกับโครงการ SPHERE 9 ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิตระกูลโก๊ะ (Goh Foundation) ประเทศสิงคโปร์ จัดทำ ‘ระบบกรองน้ำ’ เพื่อผลิตน้ำสะอาดและปลอดภัยสำหรับการอุปโภคบริโภค ปราศจากตะกอนและเชื้อแบคทีเรียที่เจือปนมากับแหล่งน้ำธรรมชาติอย่าง ‘โคลิฟอร์ม’ (Coliform) หรือ ‘อีโคไล’ (E.coli) มีการถ่ายทอดความรู้ ‘การตรวจวัดคุณภาพน้ำสะอาด’ เพื่อให้คนในชุมชนมั่นใจได้ว่าน้ำที่จะนำไปอุปโภคบริโภคมีความสะอาดและปลอดภัย นอกจากนี้ยังถ่ายทอด ‘นวัตกรรมเตาเผาถ่านคุณภาพสูง’ เพื่อส่งต่อองค์ความรู้อย่างง่ายในการเผาถ่านที่มีคุณภาพซึ่งนอกจากจะนำมาใช้เป็นวัสดุส่วนหนึ่งของระบบกรองน้ำแล้ว ยังสามารถผลิตถ่านเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้มอาหารได้ด้วย และสามารถต่อยอดเพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้แก่คนในชุมชนได้
สำหรับสาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน คณะวิทย์ มธ. มุ่งเน้นจัดการเรียนการสอนแบบ Area Based Learning ผ่านการหยิบยกโจทย์ปัญหาจากสถานการณ์หรือบริบททางสังคมที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น มาถอดบทเรียนและวางแผนแก้ไขด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนขยายผลการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสู่หน่วยงานภายนอก อาทิ กรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.0 ความลึก 10 กิโลเมตร ที่มีจุดศูนย์กลางอยู่นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา ส่งผลต่อประเทศไทยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอาคารสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและนนทบุรีสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้น ทางสาขาวิชาฯ ได้ทำการพัฒนาระบบตรวจวัดการสั่นสะเทือนของของอาคารและติดตั้งบนอาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ซึ่งสามารถตรวจจับการสั่นสะเทือนเนื่องจากแผ่นดินไหวดังกล่าวได้อย่างชัดเจน แต่ระดับการสั่นสะเทือนอยู่ในเกณฑ์ต่ำและไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอาคาร
นอกจากนี้ระบบตรวจวัดการสั่นสะเทือนจะถูกนำไปติดตั้งบนอาคารที่มีความสำคัญในพื้นที่ กทม.เพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงกรณีฝุ่น PM2.5 ที่มักพบปริมาณสูงในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ทางสาขาวิชาฯ ได้พัฒนา ‘เซนเซอร์วัดฝุ่น’ และมอบหมายให้นักศึกษาลงพื้นที่ติดตั้งเซนเซอร์ฯ ในชุมชนที่เสี่ยงภัยฝุ่น ซึ่งนอกจากนักศึกษาจะได้เรียนรู้และปฏิบัติจริงด้วยตนเองแล้ว ยังได้ฝึกการสื่อสารกับชุมชน ภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานภายนอกที่ต้องการความช่วยเหลือ
นอกเหนือจากหลักสูตรที่เปิดสอนในคณะแล้ว ทางสาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน คณะวิทย์ มธ. ยังได้สอดแทรกแนวทางการผลักดัน SDG ผ่านรายวิชาศึกษาทั่วไป หรือ GenEd (General Education Courses) ในชื่อ การพัฒนาที่ยั่งยืน (RT 366) เพื่อเป็นการเปิดกว้างทางการศึกษาสำหรับนักศึกษาต่างคณะ ที่มีความสนใจในประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ตลอดจนสร้างพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียจากคนรุ่นใหม่ ผ่านการทำ Mini-Project เพื่อเพิ่มโอกาสและทางเลือกใหม่ในการแก้ไข 9 ตัวชี้วัดย่อยที่ไทยยังไม่บรรลุเป้าหมายและก้าวสู่อันดับที่สูงขึ้นในอนาคต ซึ่งเรายังคงต้องติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการหล่อหลอมให้บัณฑิตมีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่รอบด้านและพร้อมเผชิญกับ SDG ที่มีความเข้นข้นขึ้นในอนาคต
สำหรับผู้สนใจศึกษาต่อในสาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://sci.tu.ac.th/ และ https://www.facebook.com/ScienceThammasat หรือสอบถามทางสาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืนที่ https://sustain.sci.tu.ac.th/ และ https://www.facebook.com/sdt.sci.tu