สวรส.วิจัยพบ 3 ปัจจัย ส่งผลการอยู่-ลาออกของแพทย์ในชนบท แนะ 2 มาตรการแก้ปัญหาขาดแคลน "สร้างแรงจูงใจ" และ "ป้องกันลาออก" ชงปรับนโยบายใช้ทุน บรรจุข้าราชการ เพิ่มอัตราค่าตอบแทนที่เหมาะสม
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รอง ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ช่วงปี 2556-2565 ไทยผลิตและบรรจุแพทย์เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพของรัฐ 19,355 คน เฉลี่ย 2,000 คนต่อปี แม้ยังอุดช่องว่างการขาดแคลนแพทย์ได้ไม่เต็ม และยังมีแพทย์ออกจากระบบกว่า 4,500 คน แต่ปัญหาสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรลดความรุนแรงลงตั้งแต่ปี 2537 จากอัตราส่วน 1:4,165 คน เหลือ 1:1,771 คนในปี 2562 ส่วนการกระจายแพทย์ยังเป็นปัญหาของระบบ ทั้งเชิงพื้นที่และสาขาความเชี่ยวชาญ แพทย์กระจุกตัวในเมืองใหญ่ เกิดสภาพ “คอขวด” ในระบบบริการสุขภาพ เป็นอุปสรรคสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชน มาตรการบังคับชดใช้ทุนยังไม่สามารถส่งผลต่อการคงอยู่ของแพทย์ใน รพ.ชุมชนได้นานกว่า 3 ปี ทั้งนี้ ปัญหาแพทย์ลาออกส่วนหนึ่งมาจากบริบทสังคมที่ซับซ้อน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล การระบาดของโรคอุบัติใหม่ และความเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ แนวคิดการใช้ชีวิตและการทำงานของแพทย์รุ่นใหม่เปลี่ยนไป ให้ความสำคัญกับ work life balance
ผศ.ดร.จรวยพรกล่าวว่า การแก้ปัญหาเชิงระบบและพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย ต้องมีข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยมาเป็นฐานตัดสินใจและออกแบบระบบ ดังนั้น สวรส.และทีมวิจัยจากสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) จึงวิจัยเรื่อง “การศึกษาทางเลือกเชิงนโยบายในการกระจายแพทย์ไปยังหน่วยบริการสุขภาพในพื้นที่ขาดแคลนหรือห่างไกลในชนบท” พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการคงอยู่หรือลาออกจากระบบสุขภาพภาครัฐของแพทย์จบใหม่ ได้แก่ 1.ค่าตอบแทน พบ 19% ที่พึงพอใจกับรายได้ อีก 33% ไม่พอใจ 2.สภาพการทำงาน ส่วนใหญ่พึงพอใจกับเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา และระบบส่งต่อผู้ป่วย แต่กลุ่มที่ไม่พึงพอใจก็ไม่ได้ห่างกันมากคือ 41% เน้นไปที่เรื่องภาระงาน 3.ปัจจัยส่วนบุคคล 40.5% พอใจกับการได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว และ 38.8% พอใจที่ได้ทำงานในบ้านเกิด นอกจากนี้ สถาบันการเรียนการสอนแพทย์มีความสัมพันธ์กับการลาออก โดยแพทย์ที่จบจากโรงเรียนแพทย์เอกชนหรือต่างประเทศ กับโรงเรียนแพทย์ของรัฐบาลใน กทม.และปริมณฑล มีความเสี่ยงลาออกมากกว่าแพทย์ที่จบจากโรงเรียนแพทย์ของรัฐบาลในต่างจังหวัด 5.5 เท่า และ 4.3 เท่า อีกทั้งในแพทย์ 1,000 คน จะมีแพทย์จากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) ลาออกเฉลี่ย 30.6 คน ต่ำกว่าโครงการทั่วไปที่ลาออกเฉลี่ย 50 คน
ทั้งนี้ ทางเลือกเชิงนโยบายเพื่อกระจายแพทย์ไปยังหน่วยบริการสุขภาพในพื้นที่ขาดแคลนหรือห่างไกลในชนบท แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.มาตรการป้องกันการสูญเสียแพทย์ออกจากชนบท สรรหาและธำรงรักษา เช่น รับนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในชนบทให้เข้าเรียนแพทย์ ช่วยเหลือแพทย์กรณีเกิดการฟ้องร้อง กำหนดภาระงานให้เหมาะสม (Work-life balance) กระจายอำนาจการบริหารจัดการแพทย์จากส่วนกลางไประดับเขต ให้พื้นที่ร่วมออกแบบ ทั้งรูปแบบการจ้างงาน การผลิต การธำรงรักษากำลังคน การทำสัญญาบังคับทำงานชดใช้ทุน นำปัจจัยที่มีผลต่อการคงอยู่มาใช้ออกแบบ และ 2.มาตรการสร้างแรงจูงใจและพัฒนา เช่น จัดให้มีระบบที่ปรึกษาจากแพทย์รุ่นพี่หรือผู้เชี่ยวชาญ พัฒนาระบบ Telemedicine/consult เพื่อกระจายความรู้และให้แพทย์ในชนบทมีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น การให้ค่าตอบแทนที่ยุติธรรมและตรงเวลา กำหนดความก้าวหน้าตามความรู้ความสามารถที่ทำงานในชนบทโดยไม่ต้องย้ายไปรับตำแหน่งนอกพื้นที่ ออกแบบระบบบริการสุขภาพที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรทั้งของภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น เพื่อการจัดบริการร่วมกัน การให้ทุนการศึกษาต่อเฉพาะทางทั้งแพทย์ในโครงการ CPIRD และโครงการทั่วไป
"ด้านนโยบายการทำสัญญาใช้ทุนของ สธ. มีผลต่อการกระจายแพทย์ไปในพื้นที่ชนบท แต่ควรมีการปรับปรุงการจัดสรรแพทย์ชดใช้ทุน (Intern) ไปในพื้นที่ โดยอาศัยการนำปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการคงอยู่ของแพทย์มาออกแบบวิธีการเลือกพื้นที่ชดใช้ทุนแทนการเลือกแบบสุ่มจับฉลากเพียงวิธีเดียว รวมถึงปรับเพิ่มอัตราค่าปรับให้สมเหตุสมผลและสามารถมีผลต่อการป้องปรามการลาออกก่อนครบระยะเวลาชดใช้ทุน 3 ปี ส่วนด้านนโยบายการบรรจุข้าราชการ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ควรพัฒนารูปแบบการจ้างงานที่ตอบสนองความต้องการของแพทย์รุ่นใหม่ แต่อาจไม่ใช่การจ้างงานด้วยตำแหน่งราชการ เช่น การให้ทุนการศึกษาเรียนต่อเฉพาะทางเมื่อทำงานได้ครบจำนวนปีที่กำหนด ร่วมกับกำหนดภาระงานของแพทย์ และจัดให้ได้รับสวัสดิการสำหรับครอบครัวคล้ายกับสวัสดิการข้าราชการ" ผศ.ดร.จรวยพรกล่าว
ผศ.ดร.จรวยพรกล่าวว่า ผู้กำหนดนโยบายควรดำเนินการทั้งนโยบายป้องกันการสูญเสียแพทย์ออกชนบท รวมถึงการสร้างแรงจูงใจและการพัฒนาควบคู่กันไปโดยนำนโยบายที่มีผลกระทบสูง มีความเป็นไปได้สูง ไม่เกินขีดความสามารถรัฐบาลที่จะลงทุนมาดำเนินการก่อน เช่น ระบบการใช้ทุนของแพทย์ การเพิ่มอัตราการบรรจุข้าราชการ การจ่ายค่าตอบแทนให้ตรงเวลา ผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทให้มากขึ้น เพราะมีอัตราการคงอยู่ในระบบมากกว่า พัฒนาระบบการให้คำปรึกษาของแพทย์รุ่นพี่หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยเหลือแพทย์ใช้ทุน การพิจารณารูปแบบการบริหารจัดการอัตรากำลังแพทย์ เช่น รพ.บ้านแพ้วที่ออกนอกระบบ มีการบริหารจัดการที่คล่องตัว จัดสรรอัตรากำลังแพทย์ให้มีชั่วโมงการทำงานที่สมดุล ค่าตอบแทนเป็นที่พึงพอใจสูงกว่า รพ.รัฐ แต่อาจไม่เท่า รพ.เอกชน จูงใจให้แพทย์อยู่กับ รพ.ได้ โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนแต่ละพื้นที่ เชื่อว่าข้อเสนอจากงานวิจัยดังกล่าวจะสามารถนำไปพิจารณาเพื่อต่อยอดให้เกิดการใช้ประโยชน์ในระดับนโยบายต่อไป