xs
xsm
sm
md
lg

สรุป 5 ประเด็นแก้ปัญหาบุคลากร หลัง สธ.คุย ก.พ. ตั้งคณะทำงานเห็นผลใน 30 วัน เผยเป้าเพิ่มตำแหน่ง ขรก.แต่ละวิชาชีพในปี 69

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.หารือ ก.พ.สรุป 5 เรื่องแก้ไขปัญหาบุคลากรระยะสั้นและระยะยาว จ่อเพิ่มจำนวนตำแหน่งข้าราชการ เช่น หมอเพิ่มเป็น 3.5 หมื่นตำแหน่ง และพยาบาลเป็น 1.7 แสนตำแหน่งในปี 69 พร้อมวิชาชีพอื่นๆ ปลดล็อกเกณฑ์ "พยาบาล" ขึ้นตำแหน่งชำนาญการพิเศษ เล็งคุยแพทยสภาให้เพิ่มฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านในศูนย์แพทย์ของ สธ. ตรึงแพทย์อยู่ในภูมิภาค ลดสูญเสียกำลัง ขอ ก.พ.ช่วยปลดล็อกการขึ้นเงินเดือน เล็งขอจัดสรรแพทย์ใช้ทุน 85% และเพิ่มผลิตแพทย์ชนบทเป็นปีละ 2 พันคน ตั้งคณะทำงานเห็นผลคืบหน้า 30 วัน

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. เมื่อเวลา 11.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัด สธ. และผู้บริหาร สธ. หารือร่วมกับ ดร.ปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ถึงการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขในสังกัด สธ. ทั้งเรื่องความก้าวหน้าและอัตรากำลัง หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวแพทย์ลาออกจากภระงานมาก โดยใช้เวลาหารือกันราว 2 ชั่วโมง จากนั้นจึงออกมาร่วมกันแถลงข่าวผลการหารือ


นพ.โอภาสกล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมเรื่องบุคลากรที่ สธ.ร่วมกับ ก.พ. ซึ่งมีการหารือประจำทุกเดือน ช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากหลายเหตุการณ์ ฯลฯ ทั้งเลือกตั้งทำให้เว้นช่วงการหารือมาประมาณ 2-3 เดือน วันนี้ก็นัดหมายมาหารือ ซึ่งมีปัญหาที่เป็นข่าวตามสื่อในหลายเรื่อง ทั้งการลาออกของแพทย์ การขาดแคลน ภาระงานบุคลากรที่มีมากขึ้น วันนี้เป็นที่สนใจและมีนายรณภพ ปัทมะดิษ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาร่วมหารือและให้ความคิดเห็นด้วย ภาพรวมมีความคิดเห็นตรงกันว่า ภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมีเพิ่มขึ้นจากหลายเหตุ ไม่ว่าจะเป็น 1.สังคมผู้สูงอายุ ที่ต้องมีการรับบริการการแพทย์และสาธารณสุขเพิ่มขึ้น 2.ผู้ใช้ยาเสพติดและสุขภาพจิตที่มี พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติดกำหนดภาระการดูแลผู้ติดยาเสพติดเป็นบทบาทหน้าที่หลักของ สธ.ซึ่งเรามีผู้ติดยาเสพติดจากการประมาณการณ์ 1 ล้านคน ล้วนเป็นภาระที่ทำให้ระบบงานสาธารณสุขมีมากขึ้น 3.ความคาดหวังของประชาชนต่อระบบบริการสาธารณสุขที่มีมากขึ้น ทั้งความครอบคลุมสถานที่ คุณภาพ และห้วงเวลาที่เหมาะสม และ .การถ่ายโอน รพ.สต. ทำให้บางแห่งไม่สามารถจัดบริการให้ประชาชนตามที่ประชาชนคาดหวังได้ตามเดิม ทำให้กลับมารับบริการที่ รพ.ในสังกัด สธ.มากขึ้น แต่เป็นเหตุผลย่อยๆ ทำให้ภาระงานมากขึ้น

"ที่ผ่านมาแม้เรามีบุคลากรสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งแพทย์ พยาบาล แต่เมื่อเทียบกับภาระงานกับจำนวนที่เพิ่มขึ้นของบุคลากร ก็พบว่าบุคลากรของเราหลายส่วนมีภาระงานมากเกินไป จึงเป็นประเด็นที่มาหารือกัน โดยใช้กรอบความคิด แนวทางปฏิบัติในการหาวิธีการนวัตกรรมใหม่ๆ มาหารือกัน สิ่งหนึ่งที่นายรณภพแนะนำคือ ควรทำอะไรที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะประเด็นที่จะช่วยแบ่งเบาปัญหาระยะสั้น" นพ.โอภาสกล่าว


ด้าน นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า วันนี้มีข้อสรุปของการประชุม 5 ประเด็น คือ 1.เห็นชอบการหาเพิ่มจำนวนตำแหน่ง "ข้าราชการ" ให้อยู่ในกรอบขั้นสูง ซึ่ง สธ.วางไว้ในแต่ละวิชาชีพไม่เท่ากัน แต่เรามีหลักคิดและวางไว้ทุกระดับ มีการกระจาย เช่น แพทย์อยู่ที่ประมาณ 35,578 คนที่วางไว้ในปี 2569 จากปัจจุบันอยู่ที่ 24,649 คน พยาบาล 175,923 คน จากปัจจุบัน 116,038 คน และวิชาชีพอื่นๆ ด้วย ซึ่งก็จะไล่เรียงกันไปตามความเร่งด่วน 2.ความก้าวหน้าถือเป็นขวัญกำลังใจ ที่ประชุมบรรลุวัตถุประสงค์โดยเฉพาะวิชาชีพพยาบาลที่รอการเป็นชำนาญการพิเศษหรือ ซี 8 ซึ่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ระบุว่าไม่ใช่แค่มองในเรื่องชำนาญการพิเศษ แต่ต้องมองไกลไปถึงระดับเชี่ยวชาญด้วย ในพื้นที่โดยเฉพาะในภูมิภาคต้องให้การพิจารณาเป็นพิเศษ จะมีการตั้งคณะกรรมการลงไปดูเกณฑ์ ซึ่งเดิมเรามีเกณฑ์ติดขัดหลายประเด็น ทั้งจำนวนพยาบาลที่ต้องครบ 4 คนถึงปรับเป็นชำนาญการพิเศษได้ ติดล็อกในเรื่องจำนวนคนที่มีน้อยอยู่แล้ว หลักเกณฑ์เหล่านี้ผ่อนปรนได้ไหม จะมีคณะทำงานลงไปดำเนินงาน

3.การจัดสรรบุคลากรให้เพียงพอ โดยเฉพาะเรื่องของแพทย์ เราดูเรื่องอัตรากำลังที่เห็นภาพชัดคือแพทย์ในภูมิภาคจะหายไป 2 ส่วน คือ ลาไปฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านปีละ 4 พันคน ส่วนหนึ่งอยู่ในภาคมหาวิทยาลัย ถ้าไปอยู่ในส่วนกลางก็จะลดจำนวนลง ถ้าอยู่ในส่วนภูมิภาคจะเป็นการดี เราก็ขอให้อยู่ในพื้นที่ให้มากที่สุดคือ จะไปหารือกับแพทยสภาในวันนี้ ซึ่งที่ผ่านมาการลาไปฝึกอบรมจะติดขัดเรื่องความก้าวหน้าในเรื่องการขึ้นเงินเดือน จึงอยากให้สนับสนุนให้มีการลาฝึกอบรมและอยู่ในพื้นที่ภูมิภาค เช่น รพ.ในสังกัด สธ. 48 แห่งที่มีความสามารถเปิดฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านได้ใน รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ก็จะให้ไม่ต้องมีการลาศึกษา แต่เป็นการไปทำงานและสามารถอยู่ปฏิบัติงาน ฝึกอบรมและได้วุฒิบัตร ก็จะคงอัตรากำลังได้ทันที ในโควตาขอ สธ.มีประมาณ 1,500 ที่


4.การจัดสรรแพทย์เพิ่มพูนทักษะให้เพียงพอกับภาระงานการใช้ทุนปี 1 ซึ่งอยู่ที่ 85% ต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ (Consortium) และ 5.ระยะยาวเรามาวิเคราะห์แล้วว่าการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (ซีเพิร์ด) อัตราการคงอยู่ในระบบ 80-90% เราจะขยายจำนวนการผลิตให้เข้ามาปีละ 2 พันคน ก็จะตรงกับตัวเลขความต้องการของ สธ.เรา หารเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30 กว่าคนต่อศูนย์แพทย์ฯ ก็จะสร้างความมั่นใจว่าลูกหลานที่เรียนหนังสือเก่งๆ ในต่างจังหวัดสามารถเข้าเรียนแพทย์ในภูมิภาคตัวเอง รพ.ใกล้บ้านเป้นโรงเรียนแพทย์ได้ด้วยก็จะเป็นคุณหมอในอนาคต พิสูจน์มาแล้ว 10 ปีว่าสามารถรักษาคนในระบบไว้ได้

"ทั้งหมดนี้จะพยายามให้เห็นผลใน 30 วัน โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการผู้บริหารระดับปฏิบัติการ เพื่อลงไปทำงานในเรื่องเกณฑ์กำหนด ข้อติดขัด ข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้ไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของการประชุมในวันนี้ เช่น เมื่อปลดล็อกกฎเกณฑ์ต่างๆ แล้ว สามารถเป็นชำนาญการพิเศษเพิ่มขึ้นเท่าไร เป็นต้น" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

ถามว่าการจัดสรรแพทย์ใช้ทุนปัจจุบันเราได้อยู่เท่าไร นพ.โอภาสกล่าวว่า ปัจจุบันเราได้รับจัดสรรมาไม่ถึง 70% เราจะขอขึ้นไปเป็น 85% สัดส่วนที่ สธ.ดูแลเทียบกับในพื้นที่ เราดูแลสัดส่วนเฉพาะหลักประกันสุขภาพ 88% เราก็ขอเป็น 85%

ถามถึงการไม่ต้องลาไปศึกษาแพทย์ประจำบ้านหากอยู่ในพื้นที่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ลาไปศึกษาต่อโดยไม่ถูกแป้กการขึ้นเงินเดือนจะมีหน่วยราชการอื่น เช่น หมอทหารเขาได้พิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนทุกปีตอนที่ไปศึกษา เพราะตอนที่ไปศึกษาก็เหมือนกับไปฝึกฝนปฏิบัติงานอีกสถานที่หนึ่ง ก็ใช้เกณฑ์ที่มีอยู่แล้วไม่ได้ไปปรับอะไร พยายามทำให้เปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ สายวิชาชีพอื่นให้เกิดความใกล้เคียงเท่าเทียมกัน


ดร.ปิยวัฒน์กล่าวว่า สำนักงาน ก.พ.และ สธ.มีการหารือประจำเรื่องปรับเปลี่ยนปรับปรุงระบบบุคลากรทางการแพทย์ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป ในการดำเนินการ ก.พ.ได้สนับสนุนเรื่องของระบบบุคลากรทางการแพทย์มาโดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งอัตรากำลังและค่าตอบแทน แต่ที่ผ่านมาเราเห็นความจำเป้นเร่งด่วนว่าการดำเนินงานต้องเร็วขึ้น แก้ปัญหาให้ทันการณ์มากขึ้น การแก้ปัญหาก็คุยกันว่าปัญหามีหลายระดับ ทั้ง 1.ผู้รับบริการ/ประชาน ที่ต้องรับบริการอย่างทั่วถึงทันการณ์ 2.ตัวระบบ อัตรากำลัง จะต้องเร่งแก้และดูในภาพรวมและภาพลึกด้วยว่า อัตรากำลังตรงไหนเมื่อไรอย่างไรที่ต้องบริหารจัดการ และ 3.ข้าราชการและบุคลากรเองว่า ต้องการที่จะพัฒนาอย่างไร คือ ค่าตอบแทนและความก้าวหน้า เพราะขวัญกำลังใจเป้นสิ่งสำคัญท่ามกลางภาระงานที่หนัก สำนักงาน ก.พ.เป็นพาร์ทเนอร์แนวร่วมขับเคลื่อนปรับปรุงระบบบุคลากรทางการแพทย์พร้อม สธ.

ถามว่าการบรรจุข้าราชการโควิดรอบ 2 มีการพิจารณาหรือไม่ ดร.ปิยวัฒน์กล่าวว่า เรามีการหารือกับ สธ.มาอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลที่ สธ.ส่งมาให้เรา เราทบทวนร่วมกับ สธ.ว่า สธ.มีตำแหน่งว่างอยู่ด้วย เราต้องดูอย่างน้อย 2 เรื่อง คือวัตถุประสงค์ในการบรรจุ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนสถานภาพในรอบที่ 2 จะยังคงหลักการเป็นอย่างไร จะเหมือนหรือต่างจากคราวแรกหรือไม่ และการบริหารจัดการอัตราว่างที่มีอยู่จะบริหารอย่างไร ส่วนไหนของข้อเสนอ จะใช้อัตราว่างส่วนไหนที่เป็นอัตราตั้งใหม่ ก.พ.จะได้เสนอคณะกรรมการที่เกี่ยข้องต่อไป ส่วนหนึ่งคือต้องรอให้มีการจัดสรรภายใน สธ.ก่อน




กำลังโหลดความคิดเห็น