เตือนอันตราย “ซี่ล้อ” มรณะ หลังเด็กไทยประสบเหตุปีละกว่า 40,000 ราย เผยประเทศพัฒนาแล้วผลิตมอเตอร์ไซค์ใส่ครอบล้อ ป้องกันเท้า ส้นเท้าเข้าซี่ล้อ ลดความเสี่ยงบาดเจ็บ ตาย พิการ ระวังอย่าให้ชายเสื้อผ้าเข้าล้อและโซ่
จากกรณีเด็กผู้หญิงอายุ 6 ปี จ.กาญจนบุรี ประสบอุบัติเหตุแขนซ้ายขาด จากการที่ใส่เสื้อคลุมของแม่มีขนาดใหญ่เกินตัว จนเสื้อเข้าไปติดในซี่ล้อรถจักรยานยนต์ และตกจากรถ
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. พ.ญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย กล่าวว่า อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่ประเทศไทยครองแชมป์สูงที่สุดในโลก มิได้จำกัดอยู่เพียงกลุ่มอายุ 15-24 ปี แต่เข้าไปถึงกลุ่มเด็กอายุ 0-4 ปี ส่วนใหญ่เด็กเป็นผู้โดยสารทั้งซ้อนท้าย นั่งด้านหน้า ที่ตะโกนบอกแม่ว่า “แขนหนูหาย” และไปพบแขนอยู่ในเสื้อคลุมของแม่ที่ติดอยู่ในล้อรถ เป็นเรื่องน่าเศร้ามาก เมื่อถามหาสิทธิในการรักษาพยาบาลของเด็ก โดยเฉพาะสิทธิจาก พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ ปรากฏว่า รถที่เกิดอุบัติเหตุไม่มี พ.ร.บ.
"อุบัติเหตุครั้งนี้ไม่ใช่รายแรก แต่ขอให้เป็นรายสุดท้าย ที่ผ่านมามีเด็กจำนวนมากที่แขน ขา เข้าไปติดในซี่ล้อ จนกลายเป็นคนพิการไปตลอดชีวิต ไม่รวมเด็กที่ได้รับบาดเจ็บจากกรณีดังกล่าว ประมาณ 40,000 คนต่อปี" พญ.ชไมพันธุ์กล่าว
พญ.ชไมพันธุ์ กล่าวว่า ในต่างประเทศการออกแบบรถจักรยานยนต์ให้มีความปลอดภัยจากการติดเข้าไปในซี่ล้อ จะออกแบบโดยการมีที่ครอบกันเข้าซี่ล้ออย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ซึ่งพบว่าสามารถลดความเสี่ยงนี้ได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้เด็กไทยได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุลักษณะดังกล่าว ควรติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุสำหรับกันอวัยวะที่มักเป็นเหตุให้บาดเจ็บบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ขา แขน เท้าหรือส้นเท้า เข้าซี่ล้อ ควรหาแผ่นโลหะหรือพลาสติกไว้สำหรับกันเท้าหรือส้นเท้าเข้าไปในซี่ล้อรถทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และที่วางเท้า ในส่วนของที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กบนรถจักรยานยนต์ ควรมีเข็มขัดรัดตัวเด็ก สวมหมวกนิรภัยให้เด็กทุกครั้ง หากต้องอุ้มเด็กซ้อนท้าย ผู้ปกครองควรแต่งกายให้เด็กแบบไม่รุ่มร่าม รัดกุม ไม่มีชายผ้าอ้อม ชายเสื้อ ชายกางเกงห้อยหลุดเข้าไปติดกับโซ่ล้อรถขณะที่รถวิ่งอย่างเด็ดขาด
พญ.ชไมพันธุ์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการหรือผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ ควรมีใบเตือนอันตรายและวิธีป้องกันอันตรายในคู่มือการใช้รถ โดยเฉพาะเรื่องการบาดเจ็บจากเท้าเข้าไปในซี่ล้อในเด็ก ควรมีความรับผิดชอบในการส่งเสริมการใช้อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยควบคู่กันไป เช่น แผ่นกันเท้าเข้าซี่ล้อ ที่นั่งกันแขน ขา เข้าซี่ล้อ ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก หมวกนิรภัย สำหรับเด็กตามอายุ ฯลฯ และอาจต้องเอาความรู้ใหม่ๆในการใช้รถจักรยานยนต์แทรกเข้าไปในหลักสูตรการเรียนรู้ของเด็ก เช่น เรื่อง รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า การใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย การเคารพกฎจราจร รวมทั้งบริบทความปลอดภัยที่น้อยลงจากการเกิดอาชีพใหม่ๆที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต เช่น ไรเดอร์ เป็นต้น