ตลอด 23 ปีที่ผ่านมา สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ทำหน้าที่ประเมินคุณภาพภายนอกให้กับสถานศึกษาทุกระดับ และทุกแห่งในประเทศไทย ทั้งการศึกษาปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านการอาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และระดับอุดมศึกษา มาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้สถานศึกษาทุกประเภทนำผลจากการประเมินไปปรับใช้เพื่อยกระดับ พัฒนา และต่อยอดให้สถานศึกษาก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงมีคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาที่ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ อันจะส่งผลให้ระบบการศึกษาไทยมีคุณภาพที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งพบว่าสถานศึกษาหลายแห่งได้มีการนำผลประเมินจาก สมศ. ไปปรับใช้กับหลักสูตรการเรียนการสอนต้อนรับเปิดเทอมใหม่นี้ด้วย
ดร.ธัญมัย เดชมา ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 3 (วัดท่ามะปราง) อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า จากรายงานผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. ที่ผ่านมาพบว่าโรงเรียนเทศบาล 3 (วัดท่ามะปราง) มีจุดเด่นด้านนวัตกรรมที่มุ่งสร้างผู้เรียนให้เป็นนวัตกร ดังนั้นสถานศึกษาจึงจัดทำแผนงานอย่างมีเป้าหมายและวัดผลได้ทุกประเด็น และในภาคเรียนใหม่นี้สถานศึกษายังคงมุ่งสร้างนวัตกร โดยนำความโดดเด่นของนวัตกรรมของสถานศึกษาในหลายด้านมาพัฒนาและต่อยอดการบริหารเพื่อพัฒนาการศึกษาทั้งระบบอย่างยั่งยืน ร่วมกับการใช้หลายศาสตร์มาผสมผสานกันเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย รวมถึงการทำให้นักเรียนเป็นคนดี มีความสุข ใช้ชีวิตเป็น เป็นนวัตกรได้ โดยมุ่งพัฒนาใน 5 ด้าน คือ
1. ทำให้สถานศึกษาเป็นบ้านที่อบอุ่นและปลอดภัย
2. มุ่งพัฒนาปัญญาภายใน
3. สอนโดยใช้กระบวนการ Active Learning ที่นักเรียนจะมีโอกาสได้สืบค้น แสดงบทบาทสมมติ
4. จิตภาคเชิงบวก สนามพลังบวก และพื้นที่ปลอดภัย
5. การมีส่วนร่วมและเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพราะเครือข่ายทั้งหมดต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
ขณะเดียวกัน สถานศึกษาได้เตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียนใหม่โดยมีการปรับปรุงหลักสูตรทุกปี เพื่อให้สนองตอบผู้เรียนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดได้ หากพบว่าหลักสูตรยากไปหรือง่ายไป จะมีการปรับให้เหมาะสม สิ่งที่ทำควบคู่กันไปคือมีการอบรมครูในเชิงปฏิบัติการ อบรมเรื่องการวัดผล ออกแบบเครื่องมือที่วัดผลได้จริง มีการออกแบบความคิด และครูต้องทำหน้าที่เป็นโค้ชสอนให้นักเรียนคิดได้ด้วยการมุ่งส่งเสริมให้มีการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มุ่งไปที่คำว่า “นวัตกร” ตามคำแนะนำที่ได้รับจากการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. ทำให้สถานศึกษามุ่งเน้นให้นักเรียนจะต้องคิดเป็น สร้างงานได้ สร้ายรายได้ และเรียนอย่างมีความสุข
“ทั้งนี้ต้องขอบคุณ สมศ. ที่ได้ชี้แนะแนวทางการปรับปรุง พัฒนา ต่อยอด เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานการเรียนการสอนของทางสถานศึกษาผ่านการประเมินคุณภาพภายนอก โดยสถานศึกษาได้นำมาเป็นแนวทางให้ครูผู้สอนได้นำมาพัฒนาแนวทางการสอนเพื่อที่จะเติมเต็มศักยภาพให้กับผู้เรียน เพื่อให้สามารถผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพเพื่อให้พร้อมสำหรับการศึกษาในระดับที่สูงต่อไป” ดร.ธัญมัย กล่าวเสริม
ดร.พวงผกา แสงเงิน ผู้อำนวยการโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย (ประถมศึกษา) กล่าวว่า สถานศึกษาได้นำผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. มาต่อยอดกับกิจกรรมรักการอ่านของโรงเรียน ทำให้ล่าสุดได้รับคัดเลือกให้เป็นสถานศึกษานำร่องของโครงการ Let’s Read and Play (Thailand) ของมูลนิธิเอเชีย ที่จัดส่งทีมวิทยากรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาร่วมทำกิจกรรมกับผู้เรียนเพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน ทำให้ผู้เรียนสามารถรู้หนังสือตั้งแต่ระดับปฐมวัย ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมและ best practice ตามที่สถานศึกษาได้รับข้อเสนอแนะจาก สมศ. ด้วยการระดมความคิดเห็นกับครูผู้สอน จนสรุปแนวคิดทั้งหมดออกมาเป็นนวัตกรรมอากาศโมเดล (ARKAAD Model) เพื่อให้ครูผู้สอนใช้เป็นต้นแบบในการวางแผนการเรียนการสอน และสำหรับเปิดเทอมใหม่นี้ก็ยังคงยึดแนวทางโมเดลนี้อย่างต่อเนื่อง คือ
A = Analysis วิเคราะห์ SWOT เพื่อหาโอกาสและอุปสรรคที่มีผลต่อการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและบริบทของสถานศึกษา
R = Review ทบทวนและศึกษาแนวคิดที่จะสนับสนุนกระบวนการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบ ARKAAD Model
K – Knowledge Management กระบวนการจัดการความรู้ภายในสถานศึกษาตามเทคนิคของคุณครูผู้สอน
A – Active กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning 12 วิธีใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้
A – Assessment การใช้นวัตกรรมมาจัดการเรียนรู้แบบ ARKAAD Model โดยมีการประเมินและตรวจสอบทั้งระหว่างการใช้นวัตกรรมและเมื่อใช้นวัตกรรมไปแล้ว
D – Development นำข้อมูลที่ได้จากการประเมินมาพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา ที่จะทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ และนำมาพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนให้มีความยั่งยืนต่อไป
“การที่สถานศึกษาได้นำผลการประเมินของ สมศ. ไปพัฒนาต่อยอดเพื่อให้การเรียนการสอนมีคุณภาพมากขึ้นนั้น ผลดีที่เกิดขึ้นตามมาคือคุณภาพของตัวผู้เรียนเอง ซึ่งก็จะสะท้อนกลับมาให้เห็นถึงคุณภาพการเรียนการสอนในที่สุด ต้องขอบคุณ สมศ.ที่ให้คำแนะนำที่มีคุณค่ากับทางสถานศึกษา ทำให้สามารถนำมาต่อยอดกับกิจกรรมเล็กๆ ที่จัดขึ้นภายในสถานศึกษา จนขยายผลกลายเป็นโครงการที่มีพันธมิตรภายนอกมาร่วมให้การสนับสนุน และยังได้เป็นโรงเรียนนำร่องของโครงการดังกล่าว ทำให้กิจกรรมรักการอ่านของโรงเรียนโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย (ประถมศึกษา) มีความเข้มข้นมากขึ้นและช่วยพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม” ดร.พวงผกา กล่าวสรุป