xs
xsm
sm
md
lg

เตือนเภสัชกรแขวนป้าย สภาฯ ไม่เอาผิดเริ่มต้นแค่ "ตักเตือน" ปรับเป็น "พักใช้ตั๋ว" 2 ปีทันที หลังบังคับใช้ GPP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาเภสัชกรรม เตือนเภสัชกรแขวนป้ายร้านยา ปรับเอาผิดขั้นแรกจาก "ตักเตือน" เป็นพักใช้ใบอนุญาต 2 ปี หลัง อย.ประกาศบังคับใช้มาตรการร้านยา GPP ทุกร้านยาต้องมีเภสัชกร หลังผ่อนผันมานาน 8 ปี ย้ำเภสัชกรประจำได้แค่ร้านเดียวเท่านั้น เผยปีที่แล้วเอาผิดข้อหาแขวนป้ายเยอะสุด ตามด้วยโฆษณาในโซเชียลมีเดีย

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่อาคารมหิตลาธิเบศร ภก.ดร.สุวิทย์ ธีรกุลชน อุปนายกสภาเภสัชกรรม กล่าวภายหลังจัดงานเปิดบ้านสภาเภสัชฯ คุยข่าวเล่าเรื่อง "เผยทุกปัญหาการใช้เครื่องสำอางในโลกโซเชียล" ว่า เราพบปัญหามากมายในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับสินค้าสุขภาพ และพบว่าหลายคนเชื่อว่า สิ่งที่ได้รับข้อมูลมาเป็นความจริง สภาเภสัชฯ อยากเปิดบ้านให้สื่อร่วมกันสร้างบทบาทให้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยครั้งแรกเราให้องค์ความรู้เกี่ยวกับเครื่องสำอาง โดยผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาเภสัชกรรม สาขาเภสัชกรรมเทคโนโลยี และอาจารย์ประจำศูนย์ทดสอบเครื่องสำอางและเภสัชภัณฑ์ทางผิวหนัง คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล มาพูดคุยถึงปัญหาเหล่านี้ ทั้งนี้ กรณีประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อมูลเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ที่ได้นับมาจากโซเชียลมีเดีย จริงๆ สามารถตรวจสอบได้โดยสอบถามจากเภสัชกรได้ในหลายจุด ทั้งร้านขายยาที่มีเภสัชกรอยู่ทุกร้านหรือห้องยา รพ. ไม่จำเป็นจะต้องเป็นยาที่รับประทานอยู่ ได้ยินข่าวอะไรมาก็สอบถามได้ หรือโทรเข้ามาสอบถามที่สำนักงานสภาเภสัชกรรมได้ แต่จะเป็นระบบรับฝากคำถามไว้แล้วติดต่อกลับ เรามีเครือข่ายคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ให้คนเข้าเว็บไซต์สอบถามข้อมูลต่างๆ ได้

"เราเห็นประเด็นปัญหาช่วงโควิดที่ผ่านมา มีข่าวลือมีการอ้างต่างๆ มากมาย และบางเรื่องเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ข่าวสารที่ส่งกันว่าตัวนั้นตัวนี้ใช้รักษาโรคได้ ก็พยายามให้ข้อมูลความจริงกับสังคมรับรู้อีกทางหนึ่ง ต่อไปก็อาจจะสื่อสารเรื่องของอาหารเสริม ยา ติดตามดูจากโซเชียลมีความน่าสนใจเรื่องไหนอย่างไรต่อไป" ภก.ดร.สุวิทย์กล่าว

เมื่อถามถึงปัจจุบันจะเห็นเภสัชกรออกมาให้ข้อมูลในโซเชียล ให้ทายาตัวนั้นตัวนี้ได้ผล ภก.ดร.สุวิทย์กล่าวว่า ในแง่ของจริยธรรมสภาเภสัชกรรม เราไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพสนับสนุนผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง ไม่ต้องพูดถึงว่าแนะนำให้ใช้ตัวนั้นตัวนี้ ไม่สามารถทำได้ การจะมาปักตะกร้าสินค้าในช่องของเภสัชกรไม่สามารถทำได้ สิ่งที่ทำได้คือให้คำแนะนำกลางๆ ลักษณะทางวิชาการ แจ้งให้ทราบข้อมูลโดยทั่วไป การสนับสนุนการขายผลิตภัณฑ์ การโฆษณาโดยใช้วิชาชีพไม่สามารถทำได้ ส่วนกรณีขายของโดยไม่ใช้วิชาชีพมาอ้าง ถือเป็นการกระทำส่วนบุคคลไป แต่หากเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่ทุกคนรู้ดีว่าเป็นแพทย์เป็นเภสัชกรก็ไม่สามารถทำได้ แม้จะไม่อ้างว่าเป็นแต่ทุกคนรู้ว่าเป็นอยู่ หากพบเห็นลักษณะเช่นนี้สามารถร้องมาได้ที่สภาเภสัชกรรม


เมื่อถามว่าปี 2565 สภาฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนใดมากที่สุดและมีบทลงโทษแล้วหรือไม่ ภก.ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเข้ามาประมาณ 100 กว่าคดี มากสุดคือ เภสัชกรแขวนป้าย ไม่อยู่ประจำร้านขายยา ไม่ปฏิบัติหน้าที่ รองลงมาคือโฆษณาในโซเชียลมีเดีย ที่ผ่านมามีการพิจารณามาเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการตักเตือนมากกว่า อย่างไรก็ตาม บทลงโทษเกี่ยวกับวิชาชีพ ก็จะมีตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาต ตั้งแต่ 3 เดือน หรือ 2 ปี ไปจนถึงเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการตักเตือน แต่เมื่อ ต.ค. 2565 มีการบังคับใช้ เรื่องการปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนในร้านขายยาแผนปัจจุบัน (GPP) หลังจากผัดผ่อนเรื่องของร้านยาทุกร้านจะต้องมีเภสัชกรมา 8 ปี ซึ่งที่ผ่านมามักมีการอ้างว่าเภสัชกรไม่เพียงพอนั้น ดังนั้น ปีนี้สภาเภสัชกรรมมีมติให้เพิ่มบทลงโทษพักใช้ใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม กรณีเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้ที่ของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (แขวนป้าย) เป็นเวลา 2 ปี ตามข้อบังคับสภาเภสัชกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์การพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2563

"ร้านยาทุกร้านจะต้องมีเภสัชกร ซึ่งจริงๆ ควรเตรียมตัวมาตั้งแต่ 8 ปีที่แล้วแต่ไม่ได้เตรียมตัวมาบางร้านเลยยังเป็นปัญหาอยู่ ส่วนใหญ่จะได้รับการร้องเรียนเข้ามา ซึ่งปัญหาเภสัชกรแขวนป้ายเราเจอทุกจังหวัด เราพยายามทำให้หายไป อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าเภสัชกรปฏิบัติการสามารถอยู่ประจำร้านยาได้เพียงแห่งเดียว แต่อาจจะทำงานอยู่ รพ.แล้วตอนเย็นมาอยู่ร้านยาได้" ภก.ดร.สุวิทย์กล่าว

ภก.ดร.สุวิทย์กล่าวว่า เภสัชกรจะต้องอยู่ประจำร้านยาอย่างน้อย 3 ชั่วโมงที่เป็นระยะเวลาปฏิบัติการ และขึ้นกับว่าแจ้งแบบไหน ถ้าแจ้งว่าปฏิบัติการในร้าน 3 ชั่วโมงก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่จะไม่สามารถไปทำอีกร้านได้ ต้องประจำร้านใดร้านหนึ่ง ยกเว้นบางกรณีที่ผู้ปฏิบัติการไม่อยู่แล้วขอคนอื่นมาช่วยแทนเป็นบางครั้ง เช่น ลาป่วย ไปทำธุระ ก็ให้แจ้งชื่อ อย.ไปว่าขอคนนี้มาเป็นตัวแทน ซึ่งก็จะแทนร้านนั้นร้านนี้ได้ แต่ว่าแทนเฉพาะช่วงเภสัชกรคนนั้นไม่อยู่ ส่วนกรณีเภสัชกรเปิดร้านยาเองก็ตาม อาจเปิดได้หลายร้านในฐานะผู้รับอนุญาต แต่ผู้ปฏิบัติการในร้านก็ต้องเป็นได้แค่ร้านเดียว หากเปิดหลายร้านก็ต้องไปจ้างมาเพิ่ม โดยหลักการเปิดร้านยาต้องมีเภสัชกรอยู่แล้ว ที่บอกว่าเภสัชกรไม่พอ จริงๆ แล้วพอ แต่อยู่ที่ว่าจะไปอยู่หรือไม่ สิ่งที่ต้องคือต้องทำให้เภสัชกรไปอยู่ร้าน


กำลังโหลดความคิดเห็น