กรมวิทย์พร้อมหนุนงานวิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยี ดัน "ธุรกิจสุขภาพ" คาดโต 2.5 ล้านล้านบาทใน 10 ปี พร้อมเซ็น MOU ร่วม JICA กรมควบคุมโรค นำการแพทย์แม่นยำ จีโนมิกส์ คุม "วัณโรค" ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อ นำร่อง "เชียงราย" ต้นแบบ หนุนยุติให้ได้ในปี 2573 และ 2578
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน กทม. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายหลังเปิดประชุมกรมวิทย์ฯ พบผู้ประกอบการ ว่า ปัจจุบันธุรกิจสุขภาพ ทั้งความสวยงาม อาหาร ออกกำลังกาย ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการแพทย์ผสมผสาน เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพที่พัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจ มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาล โดยปี 2565 คาดว่าไทยมีรายได้จากธุรกิจสุขภาพกว่า 1.8 แสนล้านบาท และ 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2.5 ล้านล้านบาท ส่วนสำคัญมาจากประชาชนให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น
ส่วนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นนี้ กรมฯ พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการ เพื่อผลักดันธุรกิจสุขภาพ ทั้งด้านการวิจัย พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชน เช่น ชุดตรวจโควิด 19 ชุดตรวจวัณโรค ชุดตรวจกัญชาสำหรับทดสอบปริมาณสาร TH ในสารสกัดกัญชา หรือน้ำมันกัญชา พัฒนาการตรวจทางพันธุศาสตร์และจีโนมิกส์ทางการแพทย์รองรับการแพทย์แม่นยำ พัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวเภสัชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง เพื่อการวินิจฉัยป้องกันและรักษาเฉพาะบุคคล เป็นต้น
ทั้งนี้ นพ.ศุภกิจ พร้อมด้วย Mr. Kazuya Suzuki หัวหน้าผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) สำนักงานประเทศไทย พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผอ.กองวัณโรค และ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ลงนามความร่วมมือโครงการ TCP/ASIST โดย นพ.ศุภกิจกล่าวว่า วัณโรคเป็นปัญหาสาธารณสุขของไทย เป็น 1 ใน 14 ประเทศของโลกที่มีภาระวัณโรคสูง แต่ละปีมีผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิต 12,000 ราย จำนวนผู้ป่วยวัณโรคของไทยมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากมีการใช้มาตรการต่างๆ แต่ต้องมีมาตรการใหม่เพิ่มเติม เพื่อเร่งรัดให้ยุติวัณโรคให้เป็นไปตามเป้าหมายยุติวัณโรคในปี 2573 และ 2578 ตามลำดับ
สำหรับโครงการดังกล่าว จะนำเอาการแพทย์แม่นยำหรือจีโนมิกส์ ภายใต้โปรแกรม SATREPS ที่เกิดผลสำเร็จที่นำไปใช้ ได้แก่ การตรวจวินิจฉัยวัณโรคและการเฝ้าระวังการระบาดด้วยวิธีถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและการตรวจ IGRA มาใช้ในการศึกษาระบาดวิทยาของการแพร่และการดื้อยาของเชื้อวัณโรคและการตรวจทางพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคและเจ้าบ้านเพื่อวางแผนการรักษาเฉพาะบุคคล เป็นต้น วิเคราะห์ข้อมูลทางจีโนมิกส์ ทั้งในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค และบุคลากรในเขตสุขภาพที่ 1, 2, 4, 5, 7 และ 8 โดยมีเชียงรายและ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ เป็นต้นแบบ
พญ.ผลิน กล่าวว่า ปกติของการรักษาวัณโรค ผู้ป่วยต้องกินยาต่อเนื่อง และมีจำนวนมาก ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ท้อและเกิดปัญาวัณโรคดื้อยา เพราะยาต้องกินยา 6 เดือน ปัจจุบันสถานการณ์วัณโรคในไทย พบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วย 100,000 คน และ วัณโรคดื้อยา 2,500 คน ในจำนวนนี้มี 800 คนได้รับการรักษาและดูแลแล้ว