วันนี้ 13 ก.พ. 2566 ที่ Thaihealth Academy อาคาร SM Tower กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) 101PUB และ LUKKID จัด “Youth Policy Lab ห้องทดลองออกแบบนโยบายโดยเด็กและเยาวชนเพื่อเด็กและเยาวชน” น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส. กล่าวว่า คิด for คิดส์ ซึ่งเป็นศูนย์วิชาการของสำนัก 4 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสภาเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ สำรวจความคิดเห็นเด็กเยาวชนอายุ 15 - 25 ปี กว่า 20,000 คนจากทุกภูมิภาค พบ 3 ประเด็นที่กระทบความสุขของเด็กและเยาวชน 1. การศึกษา ยังเข้าถึงยาก เฉพาะในกรุงเทพฯ มีนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษากว่า 2,500 คน จากเหตุไม่มีเงิน โรงเรียนอยู่ไกล มีความสามารถไม่พอ 2.ปัญหาสุขภาพจิต เด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี เผชิญปัญหาสุขภาพจิต เสี่ยงซึมเศร้าและฆ่าตัวตายมากขึ้น และพบว่าโรคซึมเศร้าบั่นทอนชีวิตเยาวชนมากกว่าช่วงวัยอื่น 3.งานหายาก โดยเฉพาะงานที่ถูกใจ โดยปัจจัยเรื่องทักษะ เส้นสาย และเงิน เป็นอุปสรรคต่อการประสบความสำเร็จด้านการทำงาน
“สสส. สานพลังภาคี ดึง 3 ประเด็นดังกล่าวมาทำโครงการนี้ เปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้ทดลองออกแบบนโยบายและนำร่องปฏิบัติการในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 84 คน ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ 30 คน ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ได้คิด ทดลองทำ ตั้งแต่ ก.พ. ที่ผ่านมา วันนี้เป็น Demo day ที่เยาวชน 6 ทีม จะนำเสนอนโยบายที่ได้ออกแบบมา ซึ่งผู้บริหาร กทม. จะร่วมแสดงความคิดเห็นและรับข้อเสนอของเด็กและเยาวชนที่น่าสนใจ เพื่อนำสู่การขับเคลื่อนนโยบายในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วย เชื่อว่าการเปิดพื้นที่ให้ได้มีส่วนร่วม จะช่วยลดความอึดอัดและความขัดแย้งได้ โดย สสส. จะนำบทเรียนที่ได้รับจากโครงการในครั้งนี้มาต่อยอดดำเนินงานในพื้นที่อื่นๆ หลังจากจบการเลือกตั้ง มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว จะได้จัดทำเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาผลักดันร่วมกันต่อไป” น.ส.ณัฐยา กล่าว
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. ร่วมขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนร่วมกับ สสส.มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการนี้ เน้น 3 ประเด็นปัญหา ที่ กทม.ให้ความสำคัญเร่งด่วนเช่นกัน ทั้งการศึกษาที่ยังเหลื่อมล้ำ กทม.กำลังเดินหน้าขยายโอกาสให้ครอบคลุมเด็กและเยาวชนอย่างเท่าเทียม พัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงการประกอบอาชีพในฝันของเด็กยุคใหม่ ส่วนเรื่องสุขภาพจิต เน้นป้องกันมากกว่าเยียวยา มุ่งส่งเสริมการปกป้องสิทธิ เช่น การแต่งกาย ทรงผม จะช่วยลดภัยคุกคามทางใจของเยาวชนได้ สำหรับการเปิดพื้นที่ให้เจ้าของปัญหา ได้มาออกแบบนโยบายแก้ไข จะตรงจุด ตรงใจของเยาวชนมากที่สุด ทาง กทม.เองมีผู้มาร่วมรับฟังทั้งฝ่ายราชการและฝ่ายการเมือง จะรับข้อเสนอไปปรับสู่การขับเคลื่อนจริงในพื้นที่ กทม.ด้วย
น.ส.เจณิตตา จันทวงษา นักวิจัย 101 Public Policy Think Tank (101PUB) กล่าวว่า โครงการ Youth Policy Lab 2023 เกิดขึ้นจากมุมมองในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ซึ่งเชื่อว่าไม่มีใครเข้าใจได้ดีกว่าตัวเด็กและเยาวชนเอง โดยเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 30 คน แบ่งเป็น 6 ทีม ร่วมออกแบบนโยบายที่ผ่านกระบวนการคิด การตัดสินใจ รวมถึงแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญ และทำกิจกรรมต่างๆ มาเป็นเวลาประมาณ 2 เดือน จนทำให้ได้ข้อเสนอนโยบายแก้ปัญหาโจทย์ ทั้งเรื่องสุขภาพจิต ทำอย่างไรให้สังคมกรุงเทพ เป็นมิตรต่อสุขภาพจิต ออกแบบระบบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเด็ก ให้เข้าถึงการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพทั่วถึง เท่าเทียม และอนาคตการทำงาน ให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ ความท้าทายใหม่ๆ ในตลาดแรงงานที่พวกเขาต้องเผชิญ ซึ่งนโยบายต่างๆ ที่น้องๆ เยาวชนนำเสนอ จะนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เป็นแซนด์บ็อกที่มีความท้าท้าย มีโจทย์ นำศักยภาพ นโยบายของเด็กสู่การทำงานจริงๆ