ปลัด สธ.แจง รพ.ขอนแก่นเงินบำรุงติดลบ แต่มีการชี้แจงสาเหตุและแนวทางแก้ไข ยันเงินติดลบไม่ใช่ความผิด เผยภาพรวมทั้งประเทศ รพ.พันกว่าแห่ง เจอติดลบ 30 กว่าแห่ง จากหลายสาเหตุ เช่น รพ.เล็ก ประชากรน้อย คาดไตรมาส 3-4 ดีขึ้น มอบ นพ.สสจ.ช่วยดูแลหมุนเงินช่วยเหลือแบบ 1 จว. 1 รพ.
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี รพ.ศูนย์เงินบำรุงติดลบ ว่า ได้รับรายงานจากผู้ตรวจราชการ สธ.ที่สงสัย รพ.มีเงินติดลบ พบว่า รพ.ขอนแก่น เงินบำรุงติดลบจริง ก็อธิบายสาเหตุและการแก้ไขมา ซึ่งการติดลบไม่ใช่ความผิด แต่เป็นที่สิ่งที่เราต้องไปตรวจสอบว่าเกิดจากอะไร และจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ภาพรวมประเทศมีไม่เยอะ ประมาณ 20-35 แห่ง ไม่มาก มอบ นพ.สสจ.ช่วยดู หลายแห่งที่ติดลบก็มีหลายสาเหตุ บางแห่ง รพ.ขนาดเล็ก ประชากรน้อย เงินเหมาจ่ายรายหัวก็จะเข้า รพ.น้อย ซึ่งเรายึดนโยบาย 1 จังหวัด 1 รพ. ก็ให้ นพ.สสจ. หากจำเป็นก็โอนเงินจาก รพ.มาอีก รพ.ได้เพื่อช่วยเหลือ เฉลี่ยความรับผิดชอบดูแลซึ่งกันและกัน แต่เท่าที่ดูตามคาดการณ์ในไตรมาส 3 และ 4 สถานการณ์น่าจะดีขึ้น และการดูแลทั้งจังหวัดก็ไม่น่าทำให้ รพ.เล็กๆ มีปัญหามากนัก แต่ต้องดูเรื่องประสิทธิภาพการเก็บเงินค่ารักษา และการลดรายจ่ายต่างๆ ด้วย
"เท่าที่จำตัวเลขได้ น่าจะประมาณพันกว่าล้านบาท เทียบกับเงินบำรุงทั้งระบบประมาณแสนกว่าล้านบาท เอามาลงทุนได้หลายหมื่นล้านบาท บางแห่งมีเงินเยอะ บางแห่งมีเงินน้อย ภาพรวม สธ.ก็ต้องดูแล รพ.ติดลบ ไม่ให้มีการติดลบมากเกินไป ซึ่งบางแห่งมีประชากรน้อย อาจมีปัญหาการหารายได้ ก็ต้องดูเป็นแห่งๆ ไป ถ้าเทียบแล้ว 30 กว่าโรง กับ รพ.ทั้งหมดพันกว่าโรงก็ไม่เยอะ แต่ สธ.ก็ต้องให้ความสนใจดูแลเป็นราย รพ. ให้ นพ.สสจ.ไปดูแล ถ้าเกิด รพ.ไหนมีประเด็นที่แก้ไขไม่ได้ สธ.อาจไปดูแลเพื่อเป็นตัวอย่างต่อไป" นพ.โอภาสกล่าว