สรุป 7 วันสงกรานต์ เกิดอุบัติเหตุรวม 2,203 ครั้ง สังเวย 264 ศพ บาดเจ็บ 2,208 คน กทม.ตายมากสุด เชียงรายเกิดเหตุสูงสุด นครศรีธรรมราชบาดเจ็บมากสุด ภาพรวมเทียบค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี อุบัติเหตุลดลง 13% ตายลดลง 15% สาเหตุมาจากขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ จยย.เกิดเหตุสูงสุด เจ็บตายสูงจากการไม่ใส่หมวกกันน็อก
เมื่อวันที่ 18 เม.ย. นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 17 เม.ย. 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ เกิดอุบัติเหตุ 183 ครั้ง เสียชีวิต 16 ราย บาดเจ็บ 202 คน สาเหตุสูงสุดมาจากขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 45.36 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.10 ส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 45.90 จุดเกิดเหตุเป็นทางตรง ร้อยละ 83.61 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 15.01 – 16.00 น. ร้อยละ 9.63 อยู่ในช่วงอายุ 20 - 29 ปีมากสุด ร้อยละ 21.56 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี 11 ครั้ง บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี 13 คน เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ จันทบุรี นครปฐม น่าน ราชบุรี และลำพูน จังหวัดละ 2 ราย เจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,869 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 54,274 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 279,837 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 39,611 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 11,013 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 10,530 ราย
สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (วันที่ 11 – 17 เม.ย. 2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,203 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 264 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,208 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 68 ครั้ง เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กทม. 22 ราย และบาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 70 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต 2 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง และพังงา
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า จากสถิติ 7 วัน พบว่า เกิดอุบัติเหตุและมีผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย ผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 5.04 พฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็วเป็นสาเหตุหลัก แต่ลดลงร้อยละ 1.55 ดื่มแล้วขับลดลงร้อยละ 3.26 เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยสถิติอุบัติเหตุทางถนนย้อนหลัง 3 ปี สงกรานต์ปีนี้เกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ จำนวนครั้งลดลงร้อยละ 13 ผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 15 สาเหตุหลักยังเกิดจากขับรถเร็วและดื่มแล้วขับ จักรยานยนต์มีสถิติเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด เกิดจากไม่สวมหมวกนิรภัย ทั้งนี้ ประสานจังหวัดขับเคลื่อนสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี มอบหมายศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จังหวัด บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่วิเคราะห์ข้อมูลและถอดบทเรียนเชิงลึก โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงอุบัติเหตุสูง ประเมินผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะมาตรการที่เป็นปัจจัยความสำเร็จอุบัติเหตุ บาดเจ็บ และเสียชีวิตลดลง เพื่อนำมาเป็นแนวทางทำงานอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ให้ทุกจังหวัดพัฒนาแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนมากขึ้น