สภาผู้บริโภค ชง "ขนส่งทางบก" 4 เรื่อง คุมเข้มรถโดยสารสาธารณะ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขอลงโทษสูงสุด ติดตามรถผ่าน GPS ตรวจความพร้อมรถและคนขับ ประกาศชื่อผู้ประกอบการที่ถูกร้องเรียนหรือถูกปรับ หลังยังพบปัญหาซ้ำซาก ค่าตั๋วแพง รถเถื่อน ทิ้งผู้โดยสาร
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร ประธานคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีข่าวพนักงานขับรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ ขับรถระยะทางไกลกว่า 350 กิโลเมตร ติดต่อกันเกินเวลากำหนด และรถทัวร์บริษัทดังเปิดขายตั๋วราคาพรีเมียม แต่ใช้รถเสริม ว่า ทั้ง 2 กรณีเป็นสัญญาณเตือนถึงมาตรการความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะของรัฐที่ขาดประสิทธิภาพ ยิ่งช่วงหยุดยาวสงกรานต์ มีคนเดินทางและใช้รถโดยสารสาธารณะจำนวนมาก ผู้ประกอบการขนส่งต้องเร่งเดินรถหลายรอบ เพื่อรับผู้โดยสารให้ได้มากที่สุด ยิ่งเส้นทางไกลที่การจราจรหนาแน่น จะส่งผลให้พนักงานขับรถใช้เวลาบนท้องถนนนาน เพิ่มความอ่อนล้า นำไปสู่อาการหลับในได้
"ช่วงเทศกาลมักพบปัญหาซ้ำรอยเดิม ทั้งค่าตั๋วโดยสารแพง รถเถื่อนรถผี บรรทุกเกิน ทิ้งผู้โดยสาร เกิดอุบัติเหตุ แม้ระยะหลังอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะช่วงเทศกาลสงกรานต์จะลดลง ปี 2564 เกิดเหตุ 4 ครั้ง เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 12 ราย ปี 2565 เกิดเหตุ 5 ครั้ง เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 9 ราย แต่การเอาเปรียบผู้บริโภคยังคงมีอยู่" นพ.อนุชากล่าว
นพ.อนุชากล่าวว่า สภาผู้บริโภค มีข้อห่วงใยต่อมาตรการความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมีผู้บริโภคใช้บริการเป็นจำนวนมาก จึงมีข้อเสนอต่อกรมการขนส่งทางบกและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. กำหนดมาตรการกำกับบทลงโทษสูงสุด สำหรับผู้ประกอบการขนส่งที่กระทำผิดซ้ำซาก เจตนาหลีกเลี่ยงไม่ปฎิบัติตามกฎกระทรวงความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายและไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยในลักษณะเดียวกันนี้ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท
2. ขอให้มีระบบติดตามเชิงป้องกันแบบเรียลไทม์ผ่านระบบ GPS ในรถโดยสารสาธารณะ เมื่อพบว่าขับรถเกินระยะเวลาที่กำหนด หรือขับรถด้วยความเร็วสูง หรือเข้าเส้นทางเสี่ยงอันตรายสามารถแจ้งเตือนหรือสกัดจับได้ทันที เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการควบคุมควรเชื่อมต่อหรือส่งข้อมูลในหน่วยงานอื่น ๆ ในระดับพื้นที่ เช่น ตำรวจทางหลวง สำนักงานขนส่งจังหวัด
3. กำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุ โดยตรวจความพร้อมสถานประกอบการตาม Checklist ตรวจสอบสภาพความพร้อมของรถและพนักงานขับรถ พร้อมตรวจสอบตามจุดสถานีขนส่งผู้โดยสารและจุดจอดทุกจังหวัด และ 4.เผยแพร่รายชื่อผู้ประกอบการขนส่งที่ถูกร้องเรียนหรือถูกปรับ กรณีหลีกเลี่ยงไม่ปฎิบัติตามกฎหมาย เพื่อเป็นข้อมูลการเฝ้าระวังรถโดยสารไม่ปลอดภัยและเป็นทางเลือกประกอบการตัดสินใจใช้บริการของผู้บริโภค