สธ.ห่วงปีนี้คนแห่ฉลอง "สงกรานต์" หลังอัดอั้นจากโควิด หวั่นอุบัติเหตุมากขึ้น เตรียมบุคลากรรองรับ ประสาน ตร.ช่วยเหลือเหตุทะเลาะวิวาทใน รพ.ภายใน 5-10 นาที ทำประตูห้องฉุกเฉิน 2 ชั้น มี รปภ.ดูแล 24 ชั่วโมง เข้มตรวจเลือดวัดแอลกอฮอล์ เอาผิดขายน้ำเมาในสถานที่ห้าม นอกเวลา เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ด้าน ตร.ตั้งเป้าลดตัวเลขอุบัติเหตุ เจ็บตาย 5%
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และ พล.ต.ต.กำพล กุศลสถาพร รองผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ร่วมแถลงข่าว“ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566
นพ.โอภาสกล่าวว่า ช่วงสงกรานต์ปีนี้ สธ.ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) รองรับสถานการณ์ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา สั่งการให้ทุกหน่วยงานและ รพ.ในสังกัด สนับสนุนการทำงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนทั้งส่วนกลางและจังหวัดตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยฝึกทักษะการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉิน เตรียมพร้อมศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ ทั้งทางบก อากาศ และทางเรือ จัดทีมกู้ชีพระดับพื้นฐานและระดับสูงประจำเส้นทางสายหลักที่มีจุดตรวจหรือจุดบริการอยู่ห่างกัน เพื่อให้รักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว กรณีบาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตรับบริการ รพ.ใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 72 ชั่วโมงแรก ตามสิทธิ UCEP ใช้เทเลเมดิซีนมาปรับใช้ ให้ รพ.ทุกแห่งจัดเตรียมเพิ่มบุคลากรจากปกติมาขึ้นเวรมากขึ้น เตรียมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู ระบบส่งต่อ สนับสนุนเจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุและไม่สามารถเป่าวัดลมหายใจได้ ประสานตำรวจท้องที่ตรวจตราความเรียบร้อยเป็นระยะเพื่อป้องกันเหตุความรุนแรงในสถานพยาบาล และการทะเลาะวิวาท สำหรับการรณรงค์ความปลอดภัยทางถนน ได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกับ อสม. ตั้งด่านชุมชน ด่านครอบครัวเพื่อสกัดกั้นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดน้อยที่สุด
"เราให้ รพ.ประสานตำรวจในพื้นที่ ในการส่งสัญญาณแจ้งเหตุ คาดว่ามาได้ไม่เกิน 5-10 นาที ปรับโครงสร้างห้องฉุกเฉินให้ปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติงานและผู้ป่วยมากขึ้น เช่น ทำประตู 2 ชั้น มีระบบ Security มี รปภ. 24 ชั่วโมง มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด ย้ำว่า รพ.เป็นสถานที่ดูแลประชาชนทุกคนทุกฝ่ายไม่ต้องมาตีกันที่ รพ. ไม่รอดมีตำรวจแน่ มีภาพชัดเจน ซึ่งการก่อเหตุทะเลาะวิวาทใน รพ. ศาลมีการพิพากษาอย่างหนักมาตลอด เพราะเป็นการทำอันตรายต่อสังคมในทุกด้าน จึงไม่อยากให้เกิดเหตุ แต่เราก็เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์บุคลากรทางการแพทย์ อุทิศตนทุ่มเทเสียสละ เป็นวันที่คนส่วนใหญ่หยุด แต่เจ้าหน้าที่เราไม่หยุด และต้องมาขึ้นเวรมากขึ้น จึงขอให้เป็นกำลังใจและร่วมมือในการปฏิบัติงาน อย่างช่วงก่อนโควิดระบาด มีผู้บาดเจ็บมารักษาใน รพ.วันละ 25,000 ราย และเพิ่มขึ้นมากกว่า 3,500 รายมากกว่าช่วงปกติ ซึ่งปีนี้สงกรานต์ไม่ได้ฉลองหลายปี ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมในการฉลอง และมีการเดินทางมากขึ้น โอกาสเกิดอุบัติเหตุก็จะมากขึ้น ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขก็เตรียมพร้อม และขอให้ทุกคนร่วมมือกัน ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ
ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรลดลง เนื่องจากโควิดทำให้การเดินทางน้อยลง แต่ปี 2565 สถิติเริ่มเพิ่มขึ้นเป็น 26.65 ต่อแสนประชากร เป็นสัญญาณเตือน ช่วงนี้ประชาชนเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น ปัญหาหลักเกิดจากดื่มแล้วขับทำให้เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิต กรมฯ ได้ติดตามการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เน้นย้ำไปที่ทุกจังหวัดทำงานเชิงรุกช่วงก่อนเทศกาล ทั้งสถานที่ห้ามขายต่างๆ เช่น ปั๊มน้ำมัน สวนสาธารณะ ร้านค้าในชุมชน ช่วงเวลาห้ามขาย ซึ่งเราให้ขายในช่วง 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. ให้มีการจัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจเตือน เน้นย้ำผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการจำหน่ายให้แก่เด็กอายุน้อยกว่า 20 ปี หากพบมีอุบัติเหตุ มีเรื่องของเมาสุราจะให้มีการสอบสวนย้อนกลับถึงผู้จำหน่ายทุกราย หากมีการโฆษณาส่งเสริมการขายที่ผิดกฎหมายสามารถแจ้งได้ที่ศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค โทร.1422 หรือ 02-590-3342
นพ.ธเรศกล่าวว่า นอกจากนี้ ช่วงสงกรานต์ที่มีการกลับไปเยี่ยมผู้สูงอายุ เราห่วงเรื่องอุบัติเหตุของผู้สูงอายุ เมื่อกลับไปแล้วให้ดูเรื่องของพื้นที่ที่อาจจะทำให้ผู้สูงอายุลื่นล้มบ่อย เช่น ห้องน้ำ สำรวจราวจับ การใส่พื้นกันลื่น รองเท้าที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุก็สามารถให้เป็นของขวัญได้ช่วงนี้ รวมถึงหน้าร้อนมีเรื่องของท้องร่วง การรับประทานอาหารต้องสุก โดยเฉพาะน้ำแข็งต้องสะอาด มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ย้ำว่าขอให้ช่วยกันปฏิบัติตามกฎจราจร ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ขับไม่เร็ว สวมหมวกกันน็อกและคาดเข็มขัดนิรภัย รวมถึงด่านชุมชนที่ได้รับความร่วมมือจาก อสม. ยังเป็นมาตรการที่เข้มข้น ก็จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้
พล.ต.ต.กำพล กล่าวว่า ผบ.ตร.มีการสั่งการตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.ให้ทุกภาคส่วนของ สตช.ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. มีเป้าหมายคือ ลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนน ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บที่ต้องแอดมิดเข้า รพ.ไม่น้อยกว่า 5% , ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะข้อหาหลัก ดื่มแล้วขับ ขับเร็วเกินกำหนด ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย การอำนวยความสะดวกจราจรจัดเตรียมเส้นทางฉุกเฉิน เส้นทางรอง และอำนวยความสะดวกเส้นทางหลัก โดยเฉพาะจุดกลับรถ ช่องทางพิเศษ เพื่อให้การจราจรมีความคล่องตัวมากที่สุด บังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น โดยใช้เทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ตรวจจับ กวดขันวินัยจราจร จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ การตรวจจับโดยใช้กล้อง และสายตรวจชุดเคลื่อนที่เร็วในการออกไปตรวจและช่วยเหลือประชาชน โดยได้ระดมกำลังพลทั้งสิ้นทั่วประเทศ 30,734 คน
ด้าน นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า สสส.รณรงค์ “ดื่มไม่ขับ กรึ่มๆ ก็ถึงตาย” ลดพฤติกรรมเสี่ยง “ดื่มแล้วขับ” และทำคลิปออนไลน์ “พ่อที่รัก” สะท้อนผลกระทบถึงคนรอบข้าง และคลิปเรื่องเล่าจากผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจากบิ๊กไบค์ และเหยื่อจากคนที่ขับย้อนศร นอกจากนี้ ได้ขับเคลื่อนเครือข่ายตำบลสุขภาวะ กว่า 2,000 แห่ง ร่วมรณรงค์-ป้องกันปัญหาอุบัติเหตุ “ตำบลขับขี่ปลอดภัย สงกรานต์ 2566 ดื่มไม่ขับ” ใน 115 ตำบล ขยายพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยลดปัจจัยเสี่ยงในถนนตระกูลข้าวกว่า 60 แห่ง และพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้ากว่า 100 แห่งทั่วประเทศ