xs
xsm
sm
md
lg

สธ.หนุน Lifestyle Medicine ปรับพฤติกรรม ป้องกัน-คุมอาการโรค NCDs

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.หนุนพัฒนาบุคลากรแพทย์ด้วย “เวชศาสตร์วิถีชีวิต” หรือ Lifestyle Medicine ปรับพฤติกรรมสุขภาพเป็นระบบ ลด ละ เลิก บุหรี่ สุรา สารเสพติด กินอาหาร กิจกรรมทางกาย การนอนหลับ ช่วยป้องกัน/ลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ช่วยผู้ป่วยคุมอาการได้ ทำตามคำแนะนำการรักษาของแพทย์ดีขึ้น

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดการประชุมวิชาการ สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 เรื่อง “New Era of Preventive Medicine in Genomic Medicine” พร้อมบรรยายเรื่อง อนาคตงานเวชศาสตร์ป้องกันของประเทศไทย ว่า การมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ทั้งกินอาหารหวาน มัน เค็ม มีกิจกรรมทางกายน้อย ดื่มสุรา สูบบุหรี่ นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง เป็นต้น ถือเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญอันดับหนึ่งของไทย และเป็นภาระในการดำเนินชีวิตทั้งของผู้ป่วยและบุคคลใกล้ชิด การลดปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยหลักยังคงเป็นการปรับพฤติกรรมสุขภาพ


"ปัจจุบันมี “เวชศาสตร์วิถีชีวิต” หรือ Lifestyle Medicine เป็นศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพ โดยปรับพฤติกรรมสุขภาพอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยป้องกันและลดโอกาสเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมถึงช่วยให้ผู้ที่ป่วยอยู่แล้วสามารถควบคุมอาการให้อยู่ในระดับคงที่ได้ และยังมีหลักฐานว่าช่วยสนับสนุนให้ผู้รับบริการปฏิบัติตามคำแนะนำในการรักษาของแพทย์ได้ดียิ่งขึ้น" นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า สธ.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ให้สามารถบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อและโรคติดต่อได้ โดยมีนโยบายพัฒนากําลังคนด้านสุขภาพเพื่อให้บริการประชาชนในชุมชน เช่น สนับสนุนให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นผู้ให้บริการหลักในระบบบริการปฐมภูมิร่วมกับทีมบริการสุขภาพ ช่วยให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้ในชุมชน ลดภาระการให้บริการใน รพ. นอกจากนี้ ยังเน้นให้คำแนะนําผู้ป่วยหรือผู้รับบริการเพื่อส่งเสริมการปรับพฤติกรรมสุขภาพอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับการใช้ชีวิตในชุมชนของตน และหลักการให้บริการด้วยเวชศาสตร์วิถีชีวิต ได้แก่ ลด ละ เลิก บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติด บริโภคอาหารที่มีประโยชน์ถูกสุขลักษณะ มีกิจกรรมทางกาย การนอนหลับ และการส่งเสริมสุขภาพ พร้อมพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร/การถ่ายทอดความรู้ ในการจัดการพฤติกรรมสุขภาพไม่พึงประสงค์

สำหรับการจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ เป็นหนึ่งในนวัตกรรมการสร้างบุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถทำงานด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมปัญหาและรักษาผู้ป่วยด้วยโรคที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมสุขภาพ และยังเป็นโอกาสดีที่ทุกภาคส่วนจะได้ทำความเข้าใจและให้ความสำคัญในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น