วันนี้ (16 มี.ค.) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บรรยาย “Contemporary Political Landscapes ภูมิทัศน์ทางการเมืองร่วมสมัย” ณ อาคารจามจุรี 10 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน
การบรรยายภายใต้หัวข้อ “Contemporary Political Landscapes” หรือ ภูมิทัศน์ทางการเมืองร่วมสมัย ในวันนี้ รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ได้บอกเล่าประสบการณ์ตั้งแต่อดีตในฐานะนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายสาธารณะ และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยภายหลังการเลือกตั้ง ได้ทำงานหลายโครงการเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับกรุงเทพมหานคร หนึ่งในปัญหาหลักของกรุงเทพฯ คือการขาดบริการสาธารณะ ดังนั้น หนึ่งในโครงการหลักที่ได้ทำร่วมกับทีมบริหารกทม. คือการรายงานปัญหาผ่าน Traffy Fondue Platform ซึ่งมีผู้แจ้งเหตุทั้งหมดในปัจจุบัน 240,000 เรื่อง โดยส่วนใหญ่นั้นได้รับการแก้ไขแล้ว แต่บางส่วนที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ มาจากปัญหาซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานหลายภาคส่วน ต้องอาศัยเวลาและวิธีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเพื่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืนต่อไป
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวต่อว่า นอกจาก Traffy Fondue แล้ว ยังมีโครงการ Open Education ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการเติมเต็มการเรียนรู้ของนักเรียนภายในกรุงเทพมหานคร ผ่านรูปแบบการสอนแบบ Active Learning ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน มีการสรรหาอาสาสมัครในการนำผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้ช่วยครูเพื่อสนับสนุนการสอนวิชาต่าง ๆ อาทิเช่น วิชาดนตรี และ Open Innovation ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการย่อยซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุน Startup ผ่านการเป็นสื่อกลางการสื่อสารระหว่าง Startup และหน่วยงานราชการ และสนับสนุนให้ไอเดียนวัตกรรมของ Startup ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมและการแก้ไขปัญหาสังคมภายในกรุงเทพฯสามารถเกิดขึ้นได้จริง
ในการสรุปการบรรยาย รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องเริ่มจากสิ่งเล็กๆ เช่น การรับฟังปัญหาจากประชาชนทั่วทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้คนจากชุมชนที่ถูกละเลย และระดมความคิดในการสร้างสรรค์วิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆ และเชื่อว่าพลวัตของการเมืองไทยจะสามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ จากการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและประชาชน
การบรรยายวันนี้ จัดโดย The Harvard College in Asia Program (HCAP) โครงการสำหรับกลุ่มนิสิตตัวแทนของมหาลัย ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนมุมมองเชิงการศึกษา สังคมและวัฒนธรรม ระหว่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย หนึ่งในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์กับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยชมรม HCAP ได้เปิดพื้นที่และโอกาสสำหรับนิสิตเพื่อพัฒนาตนเอง เสริมสร้างความรู้และความสัมพันธ์ระดับนานาชาติกับผู้นำเยาวชนแห่งอนาคตจากแต่ละประเทศ ผ่านการเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี และจัดโครงการแลกเปลี่ยนที่ประเทศไทยเพื่อต้อนรับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในช่วงเดือนมีนาคม โดยในปีนี้เอง หัวข้อการประชุมประจำปี คือ ‘Starting Small, Thinking Big: Change Starting from Our Local Community’ นิสิตภายในชมรมได้จัดการประชุมที่อาคารจามจุรี 10 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 13 มีนาคม และ 16 มีนาคม 2566 การประชุมดังกล่าวได้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อดังกล่าวเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงอันเริ่มจากภายในชุมชน ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงย่อมไม่สามารถเปลี่ยนได้ภายในชั่วข้ามคืน แต่เกิดจากความพยายามที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของผู้คนภายในชุมชน ซึ่งอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและที่มาทางสังคม