xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” คาดปี 69 ย้ายศาลากทม. เสร็จ ต่อยอด “พิพิธภัณฑ์เสาชิงช้า” แง้มชื่อ People Square มี City Lab ให้คนมาพูดคุย-ถกปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าฯ ชัชชาติ หารือการย้ายศาลาว่าการกทม. จากเสาชิงช้าสู่ดินแดง ต่อยอด “พิพิธภัณฑ์เสาชิงช้า” แง้มชื่อ People Square ย้ำประโยชน์ของเมืองเป็นเรื่องใหญ่ ทำทุกอย่างด้วยความรอบคอบ คาดใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี

วันนี้ (16 มี.ค.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการศาลาว่าการกรุงเทพมหานครและลานคนเมือง สู่พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการศาลาว่าการกรุงเทพมหานครและลานคนเมือง สู่พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 3 มีคณะกรรมการ 2 ชุด ประกอบด้วยชุดใหญ่และชุดเล็ก เป็นเรื่องของการแนวคิดในการจะปรับปรุงศาลาว่าการกรุงเทพมหานครและลานคนเมืองมาเป็นพื้นที่สำหรับประชาชนในหลายมิติ เช่น มีทั้งพิพิธภัณฑ์เมือง มีทั้งเป็น City Lab สำหรับทำวิจัย คล้ายๆ กับเป็นที่ทำงานหรือให้ประชาชนมาใช้เพื่อประโยชน์ของเมือง เมื่อทำเป็นพื้นที่สำหรับประชาชนก็ต้องมีการย้ายเจ้าหน้าที่ไปศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง ซึ่งมีโครงการปรับปรุงพื้นที่เพื่อรองรับโดยอาจใช้เวลาดำเนินการประมาณ 1 ปีครึ่ง เนื่องจากเป็นอาคารเก่าที่สร้างมา 23 ปีแล้วจึงมีความเสื่อมโทรมตามสภาพและต้องปรับปรุงเพื่อความปลอดภัย รวมทั้งเรื่องลิฟต์โดยสารด้วย

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องเนื้อหาในส่วนนี้เมื่อตกผลึกแล้ว มิติของที่จุดนี้เป็นที่มีค่าต่อเมืองเกินกว่าที่จะมาใช้เป็นแค่สำนักงานเก็บเอกสาร เป็นพื้นที่ที่เป็นจุดศูนย์กลางของกรุงเทพฯ เรียกว่าเป็นสะดือของกรุงเทพฯ ซึ่งทางคณะกรรมการฯ มีความเห็นหลากหลายคือ ขั้นแรกต้องเป็นพื้นที่แสดงถึงอดีตปัจจุบันและอนาคตของเมือง ซึ่งกรุงเทพฯมีอดีตที่มีคุณค่ามากมาย มีเรื่องราวมากมายในหลายมิติ แต่ไม่มีพื้นที่ไหนที่จะบรรยายถึงสิ่งมีคุณค่าที่ผ่านมา หรือมีการเก็บรวบรวมไว้ว่าปัจจุบันเป็นอย่างไร และสุดท้ายแล้วทิศทางของเมืองในอนาคตเป็นอย่างไรโดยสามารถใช้เทคโนโลยีโพรเซสชั่นเล่าเรื่องเพื่อให้คนเกิดความหวังกับเมืองในอนาคต

ต่อมาคือต้องศึกษาบริบทต่างๆ ของกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุมว่าตรงนี้มีความสำคัญอย่างไร มีความเชื่อมโยงกับชุมชนต่างๆ อย่างไร รวมทั้งเนื้อหาต่างๆ ที่คาดว่าพื้นที่นี้ควรจะมีไว้ ซึ่งจะไม่ใช่เป็นเพียงพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งแสดงโชว์และมีไฟส่องเฉยๆ แต่จะเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมร่วมกันกับคนและชุมชนโดยมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาไปตามสถานการณ์ด้วย ที่สำคัญคือการมี City Lab เป็นพื้นที่ให้คนมาพูดคุย ค้นหาคำตอบของเมือง การทดสอบปัญหาต่างๆ และอาจจะมีการถกแถลง โดยมีห้องประชุมเดิมของสภา กทม.ที่สามารถให้คนมาใช้เพื่อการนี้

ก็คงต้องมีการศึกษารายละเอียดต่อไป คิดว่าคงใช้เวลาอีกประมาณไม่เกิน 8 เดือน เมื่อศึกษารายละเอียดแล้วก็ดูว่าสุดท้ายแล้วเรามองพื้นที่นี้อย่างไร ว่าพื้นที่นี้ที่มีความเชื่อมโยงทั้งในแง่ของลานคนเมืองและศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร รวมถึงชุมชนโดยรอบข้างด้วย

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า เมื่อเราเห็นปัญหาหลักๆ ที่คนพูดถึงก็เป็นปัญหาระยะสั้นคือ เจ้าหน้าที่ไม่อยากย้าย เพราะมีความคุ้นชินกับสถานที่ และมีพวกร้านค้าโดยรอบ ที่กลัวว่าเกิดเราย้ายไปจากตรงนี้แล้วเศรษฐกิจก็จะถดถอยลง เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะว่าที่เราจะทำน่าจะเป็นพื้นที่มีคนเข้าออกมากขึ้น อาจจะ 24 ชั่วโมง ซึ่งเรื่องเศรษฐกิจก็คงดูให้รอบคอบดูให้ดีว่าไม่ได้ทำให้ชุมชนเกิดความเสียหาย น่าจะคึกคักมากขึ้น  โดยชุมชนก็เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาของพิพิธภัณฑ์ด้วย มีคนเสนอให้ใช้ว่าเป็น People Square หรือลานพลเมือง ที่พลเมืองได้มาเจอกัน ถ้าดูพื้นที่รอบข้าง วัดสุทัศน์ โบสถ์พราหมณ์ หรือว่าจะเป็นชุมชนต่างๆ คลองหลอด คลองผดุงกรุงเกษม คลองโอ่งอ่าง คลองบางลำพู วัดราชนัดดา วัดเทพธิดาราม ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของของเนื้อหาของงานด้วย ไม่ใช่ว่าหยุดแค่มาดูตึกแต่ว่ารู้สึกว่าจะลงไปในพื้นที่เดินในพื้นที่ต่างๆ ก็จะเป็นสิ่งที่น่าจะมีความสนใจและเป็นจุดที่มีความสำคัญของเมือง

ส่วนที่มีผู้กังวลเรื่องการบริหารจัดการในอนาคต ไม่ใช่ว่าตัดริบบิ้นเปิดงานแล้วจบ แต่จะเหมือนกับตัดสายสะดือต้องเลี้ยงให้โต จึงต้องศึกษาว่าสุดท้ายแล้วใครจะบริหารจัดการพื้นที่นี้ให้มีคุณภาพ และกรุงเทพมหานครเองอยู่ในระบบราชการจะทำได้ยาก ต้องคิดให้ทะลุ คิดให้ถึงจุดสุดท้าย ไม่ใช่คิดแค่ว่าจะเปิด แต่สุดท้ายแล้วการบริหารไม่รู้จะเอางบมาจากไหน ต้องทำด้วยความรอบคอบ คิดให้รอบด้าน ไม่ต้องเร่งรีบ

“เพราะตรงนี้ก็คือสะดือกรุงเทพฯ มีเสาชิงช้าที่อยู่ตรงศูนย์กลางที่มีชีวิต เป็นชัยภูมิที่ดี สามารถเชื่อมต่อไปสนามหลวง ไปภูเขาทอง ไปเยาวราช ไปพาหุรัด ถ้าหากพัฒนาให้ดี ไปจุดเริ่มต้นแล้วเดินเชื่อมโยงเมืองได้ ก็จะมีความผูกพันกับเกาะรัตนโกสินทร์ทั้งหมด” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าวและย้ำว่า บริเวณนี้สามารถเป็นจุดเชื่อมต่อไปสู่พื้นที่ต่างๆ ที่เป็นจุดสำคัญของเมือง มีจุดท่องเที่ยวที่แบ่งมันเป็น Segment ประเภทต่างๆ เช่น ด้านประวัติศาสตร์เมืองและคลอง เป็นจุดดึงดูดหรือจุดที่เรียกว่าสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเมือง โดยมีเรื่องราวที่น่าสนใจเหมืองเหมือนอื่นๆในต่างประเทศ ซึ่งจะต้องคุยกับชุมชน จุดแข็งกรุงเทพฯ คืออะไร รวมถึงการทำประชาพิจารณ์ คนรอบข้างมองอย่างไร จะเป็นรูปแบบไหน เข้ามาแล้วมองเห็นอะไร รวมถึงการบริหารจัดการด้วยว่าใช้งบประมาณเท่าไหร่ต้องไปให้ไกลที่สุด เราจะได้ใกล้ความเป็นจริงมากที่สุด คือไม่อยากจะมาศึกษาแล้วศึกษาอีก

ส่วนเรื่องของการย้ายสำนักงานทางเจ้าหน้าที่หลายคนต่างก็ชินในเรื่องของพื้นที่ เรื่องโรงเรียนลูก ซึ่งต้องมีการอธิบายให้เข้าใจ โดยมองว่าประโยชน์ของเมืองนั้นเป็นเรื่องใหญ่ รวมทั้งยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ อาจมี Shuttle bus วิ่งรับส่งในช่วงแรกเพื่อให้มีการปรับตัวได้ อย่างเช่น กระทรวงมหาดไทยที่ย้ายไปเจริญนคร เพราะตรงที่เดิมนั้นไม่เหมาะที่จะดึงคนเข้ามาในเมือง ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากย้ายอยู่แล้ว แต่ก็คงเข้าใจและค่อยๆอธิบาย ซึ่งจะมีการอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ ส่วนการย้ายไม่ใช่ย้ายพรุ่งนี้มะรืนนี้ ต้องมีเวลาอย่างน้อย 2 ปี ที่พอจะขยับขยายได้ สถานที่ใหม่มีความกว้างขวาง การเดินทางก็สะดวกสบายขึ้น ไม่ต้องฝ่ารถติดเข้าไปในเมือง  ที่ต้องพิจารณาถึงคนกรุงเทพ 5 ล้านคน ปัจจุบันประชาชนไม่ได้มาติดต่อที่นี่แล้ว ส่วนใหญ่ไปตามสำนักงานเขต ยิ่งถ้าการเดินทางดีพื้นที่ตรงนี้จะยิ่งมีคุณค่า ควรทำเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนส่วนใหญ่เข้ามาใช้งานได้ ซึ่งร้านค้าแถวนี้จะหาที่จอดรถยาก แต่ต่อไปจะเข้ามาจอดรถตรงนี้ได้ หากจอดนานอาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ก็ทำให้เกิดการหมุนเวียน ซึ่งไม่ใช่แค่ตรงนี้ อาจไปถึงสนามหลวง วัดพระแก้ว ที่สามารถเดินไปได้

“โครงการนี้ไม่ใช่โครงการของคนเดียว แต่เป็นโครงการของกรุงเทพมหานครที่ต้องทำ เพียงแต่ว่าเราไม่ได้เร่งรีบ ถ้าจะเสร็จก็คงจะเป็นช่วงปลายๆ สมัยดำรงตำแหน่ง ทุกอย่างต้องไปด้วยความรอบคอบ เพราะจริงๆ แล้วพื้นที่นี้เป็นพื้นที่สำคัญ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อชีวิตหลายภาคส่วนเหมือนกัน แต่เราก็เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันแรก มีการประชุมคณะกรรมการ ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงก็ใช้เวลา ต้องค่อยๆ ให้ทุกคนเข้าใจ ไม่ได้เร่งรีบทำให้เสร็จในสมัยนี้ อาจจะใช้เวลา 2 ปีครึ่งถึง 3 ปี” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวทิ้งท้าย
















กำลังโหลดความคิดเห็น