วันนี้ (16 มี.ค.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ นางอัสตริด เอมีเลีย เฮลเล (H.E. Mrs. Astrid Emilie Helle) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรนอร์เวย์ประจำประเทศไทย เนื่องในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อแนะนำตัวหลังเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 และหารือถึงความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและสถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรนอร์เวย์ประจำประเทศไทย โดยมี คณะผู้บริหารสำนักงานการต่างประเทศ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องอมรพิมาน ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบกุญแจเมืองจำลอง และหนังสือเรื่อง “BANGKOK : Recipes and Stories from the Heart of Thailand” แก่เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรนอร์เวย์ประจำประเทศไทยเพื่อเป็นของที่ระลึก
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและราชอาณาจักรนอร์เวย์ ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2448 ภายหลังจากการประกาศเอกราชและการแยกตัวจากราชอาณาจักรสวีเดนอย่างสันติ ซึ่งนับเป็นระยะเวลา 117 ปีแล้ว และจากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักนอร์เวย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเดือนมิถุนายน 2450 พร้อมทรงได้ลงพระนามาภิไธยย่อ “จปร” ไว้บนก้อนหิน ณ บริเวณแหลมนอร์ดแคปป์ (Nordkapp) ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับราชอาณาจักรนอร์เวย์มีความใกล้ชิดและแน่นแฟ้นมากขึ้น ซึ่งต่อมาได้มีการจัดสร้างพิพิธภัณฑสถานไทย ณ นอร์ดแคปป์ (Thai Museum at Nordkapp) เพื่อเฉลิมพระเกียรติ โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรนอร์เวย์เพื่อทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเมื่อปี 2532
ต่อมาประเทศไทยและราชอาณาจักรนอร์เวย์ได้มีการแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตในระดับอัครราชทูต เมื่อปี 2495 และได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็นระดับเอกอัครราชทูต เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2503 นับจากนั้นเป็นต้นมา ราชอาณาจักรนอร์เวย์ได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตมาประจำที่ประเทศไทยตลอดมา ส่วนประเทศไทยได้มีการจัดตั้งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2530 และเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2544 คณะรัฐมนตรีมีมติให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล มีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐลัตเวียด้วย