หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เมื่อวันอาทิตย์ (5 มี.ค.) ให้คำมั่น "รวมชาติอย่างสันติวิธี" กับไต้หวัน เช่นเดียวกับใช้ก้าวย่างต่างๆ ด้วยความแน่วแน่คัดค้านการประกาศเอกราชของไตัหวัน กระตุ้นให้ไทเปออกมาตอบโต้ว่า ปักกิ่งควรให้ความเคารพต่อความมุ่งมั่นของประชาชนชาวไต้หวันในด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพ
จีน ซึ่งกล่างอ้างว่าเกาะประชาธิปไตยไต้หวัน เป็นส่วนหนึ่งของดินแดน ได้ยกระดับความเคลื่อนไหวด้านการทหารใกล้เกาะแห่งนี้ในช่วง 3 ปีทีผ่านมา ตอบโต้ในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าการสมคบคิดกันระหว่างไทเปกับวอชิงตัน ผุ้สนับสนุนระหว่างประเทศรายสำคัญที่สุดและผู้จัดการอาวุธรายใหญ่ที่สุดของไต้หวัน
ในเดือนสิงหาคมปีก่อน จีนทำการซ้อมรบรอบๆ ไต้หวัน ตอบโต้การเดินทางเยือนเกาะแห่งนี้ของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ณ ขณะนั้น
ระหว่างกล่าวเปิดการเปิดประชุมประจำปีสภาประชาชนแห่งชาติ (เอ็นพีซี) นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ยืนกรานว่า ปักกิ่งยืนหยัดในหลักการ "จีนเดียว" ซึ่งเน้นย้ำไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ไม่ได้ข่มขู่โดยตรงเกี่ยวกับปฏิบัติการด้านการทหาร
เขาบอกกับคณะผู้แทนราวๆ 3,000 คนในมหาศาลาประชาชนของกรุงปักกิ่ง ว่า "รัฐบาลจะดำเนินการตามนโยบายของพรรคของเรา สำหรับคลี่คลายคำถามเกี่ยวกับไต้หวัน และใช้ก้าวย่างที่แน่วแน่ต่างๆ ในการคัดค้านเอกราชไต้หวัน และส่งเสริมการรวมชาติ เราจะส่งเสริมสถานการณ์สันติภาพในความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบและเดินหน้ากระบวนการรวมชาติด้วยสันติวิธีของจีน"
ประชาชนชาวไต้หวันส่วนใหญ่ไม่แสดงความสนใจอยู่ภายใต้การปกครองของจีน แต่ในขณะเดียวกัน ปักกิ่งก็ไม่เคยปฏิเสธความเป็นไปได้ในการใช้กำลังเข้าควบคุมเกาะแห่งนี้
ในความเห็นด้านกลาโหม นายกรัฐมนตรีหลี่ กล่าวว่า ทางกองทัพควรยกระดับความพร้อมสู้รบ แม้ว่าในเนื้อหาของคำปราศรัยไม่ได้พูดพาดพิงถึงไต้หวันก็ตาม
คณะกรรมการกิจการจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นผู้วางนโยบายเกี่ยวกับจีนของไต้หวัน ตอบโต้คำกล่าวของ หลี่ โดยบอกว่าปักกิ่งควรยอมรับความเป็นจริงว่า 2 ฝ่ายของช่องแคบไต้หวันไม่ได้อยู่ภายใต้คำบัญชาของกันและกัน
"จีนควรเคารพความมุ่งมั่นของประชาชนชาวไต้หวัน ต่อแนวคิดหลักของการยึดมั่นในอำนาจอธิปไตย ประชาธิปไตยและเสรีภาพแห่งสาธารณรัฐจีน" ถ้อยแถลงระบุ อ้างถึงชื่ออย่างเป็นทางการของไต้หวัน
คำแถลงระบุว่า จีนควรจัดการกิจการข้ามช่องแคบในทางปฏิบัติด้วยความสมเหตุสมผล เท่าเทียมและให้ความเคารพกันและกัน เพื่อก่อสภาพแวดล้อมต่างๆ เพื่อการมีปฏิสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง
ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน เสนอเจรจากับจีนซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ทุกครั้งถูกปฏิเสธกลับมา เนื่องจากปักกิ่งมองว่าเธอเป็นพวกแบ่งแยกดินแดน
รัฐบาลไต้หวัน โต้แย้งอย่างแข็งกร้าวต่อคำกล่าวอ้างอำนาจอธิปไตยของปักกิ่ง และบอกว่ามีเพียงแค่ประชาชน 23 ล้านคนของเกาะเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินอนาคตของตนเอง
ไต้หวัน มีกำหนดจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาในช่วงต้นปี 2024 ท่ามกลางความคาดหมายว่าความตึงเครียดกับจีนจะเป็นหัวข้อหลักของการหาเสียง
(ที่มา : รอยเตอร์)