xs
xsm
sm
md
lg

งบรักษา "มะเร็ง" บัตรทองพุ่ง 1.2 หมื่นล. ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 แสนคน ลุยป้องกัน-คัดกรอง บรรจุ 3 ยาใหม่รักษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อัตราป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้น "บัตรทอง" ดูแลรักษาจาก 1 แสนราย เป็น 2.5 แสนราย ค่าใช้จ่ายพุ่ง 1.2 หมื่นล้านบาท จ่อขยาย รพ.รับส่งต่อด้านรังสีรักษาเพิ่ม รองรับรักษาที่ไหนก็ได้ เน้นป้องกันตรวจคัดกรองเซฟค่ารักษา ต่อรองราคายาใหม่-ยามุ่งเป้า เผยบรรจุ 3 ยาใหม่รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว

เมื่อวันที่ 6 มี.ค. พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพฯ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” เพิ่มมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากกว่า 1 แสนราย เป็น 2.5 แสนราย บอร์ด สปสช.มีมติดำเนินนโยบาย “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้” (Cancer Anywhere) เพิ่มการเข้าถึง ลดคิวรอคอยรักษา ทั้งผ่าตัด ให้เคมีบำบัด และรังสีรักษา เกิดการเพิ่มศักยภาพเป็น รพ.รับส่งต่อเฉพาะด้านรังสีรักษา 39 แห่ง แต่บางเขตสุขภาพมีเพียงแห่งเดียว อยู่ระหว่างขยายเพิ่มเติม ส่วนงบประมาณที่ใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 7% จากงบบัตรทองทั้งหมด 1.7 แสนล้านบาท มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากจำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่เพิ่มมากขึ้น การเข้าถึงการรักษาที่เพิ่มมากขึ้น ราคาค่าบริการที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์และยารักษา


พญ.ลลิตยา กล่าวว่า การควบคุมงบด้านโรคมะเร็ง เน้นป้องกันและควบคุมโรค เช่น ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งช่องปาก และมะเร็งเต้านม หากพบในระยะเริ่มแรก มีโอกาสรักษาให้หายและค่าใช้จ่ายต่ำกว่าระยะลุกลาม ส่วนผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย มีการดูแลแบบประคับคอง ใช้งบประมาณไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาใน รพ. ส่วนการใช้ยามะเร็งแบบมุ่งเป้า มีนโยบายให้นำยาเข้ามาในระบบบัตรทอง จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งให้คำแนะนำการรักษา จะได้รับยาตามโปรโตคอล ขณะที่ยามะเร็งรายการใหม่ๆ จะถูกนำมาบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์มากขึ้น กรณียามะเร็งราคาแพงจะเข้าสู่กลไกต่อรองราคายา อาจทำให้ราคาลดลงครึ่งหนึ่งได้

“การรักษาโรคมะเร็งมักมีการผลิตยาใหม่ออกมาและมีราคาแพงมาก กรณีได้บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ สปสช.จะมีกลไกต่อรองราคายา ด้วยจำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรับยามีจำนวนมาก จึงต่อรองราคายาลงมาได้มาก อาทิ ยาเคปไซตาบีน ยาออกซาลิพลาติน ชนิดฉีดในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร และยาอิริโนทีแคน HCL ชนิดฉีด รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น ที่ได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์บัตรทองแล้ว” พญ.ลลิตยา กล่าว


พญ.ลลิตยา กล่าวว่า ยอมรับว่า ยามุ่งเป้าขณะนี้มีบางรายการที่ผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการเบิกได้ แต่บัตรทองยังไม่ได้ โดยอยู่กระบวนการศึกษาความคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิผลของยาและราคา รวมถึงจำนวนผู้ป่วยมะเร็งในระบบที่ต้องใช้ยาเหล่านี้ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการต่อรองราคา แต่ต้องเข้าใจว่า บัตรทองเป็นระบบหลักประกันสุขภาพที่ดูแลคนไทยเกือบทั้งประเทศ ครอบคลุมการดูแลทุกโรค มีเป้าหมายคือลดภาระประชาชนด้านสุขภาพ ไม่ให้ล้มละลายจากการเจ็บป่วย การใช้งบประมาณในสิทธิประโยชน์ต่างๆ จะต้องทำให้เกิดความคุ้มค่าจริงๆ ทั้งกับผู้ป่วย ระบบภาพรวม และประเทศชาติ

“วันนี้ถ้าพูดถึงงบประมาณบัตรทอง เรายังอยู่ต่ำกว่าที่ 4% ของจีดีพีประเทศ ที่ผ่านมา สปสช. พยายามควบคุมงบประมาณโดยใช้การบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กลไกต่อรองราคา การเน้นป้องกันและคัดกรองโรค การนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งส่วนต่างที่ประหยัดงบประมาณได้นี้ จะนำมาขยายในสิทธิประโยชน์ใหม่ต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น