xs
xsm
sm
md
lg

ลดอาหารกลุ่มเสี่ยง "ไขมันสูง-ปิ้งย่าง" ลดปัจจัยเกิดมะเร็ง 30-40%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอชี้พฤติกรรมกิน "อาหาร" เป็นปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง 30-40% โดยเฉพาะอาหารไขมันสูง ปิ้งย่าง หากลดการกินลงจะช่วยลดปัจจัยการเกิดมะเร็งได้ 30-40% เช่นกัน เผยคนไทยเจอป่วยมะเร็งรายใหม่ 1.4 แสนรายต่อปี เฉลี่ย 400 คนต่อวัน ส่วนฝุ่น PM 2.5 ยังไม่ชัดเจนก่อมะเร็งปอด แต่เป็นปัจจัยร่วม



เมื่อวันที่ 22 ก.พ. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเปิดงานประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติ ครั้งที่ 15 "Oncology in Agile Eea: Challenge, Cure and Care" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 ก.พ. 2566 ว่า เป็นการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความร่วมทางด้านวิชาการในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมขับเคลื่อนการรักษาดูแลผู้ป่วยมะเร็ง เช่น การขยายการใช้เครื่องรังสีรักษาให้มีความครอบคลุมมากขึ้นในทุกพื้นที่ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้รับการรักษาเร็ว ร่นระยะเวลาการเดินทาง หรือการนำเทเลคอนเฟอร์เรนซ์มาใช้ พร้อมขับเคลื่อนเรื่องการส่งเสริมและป้องกันมะเร็ง เนื่องจากสถานการณ์การป่วยมะเร็งในปัจจุบัน พบผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 1.4 แสนคน หรือคิดเป็น 400 คนต่อวัน โดยอาจมีการนำงบลงทุนเข้าไปในพื้นที่ เพื่อขยายการรักษาให้ครอบคลุมและประชาชนเข้าถึงบริการมากที่สุด พร้อมแนะนำให้ความรู้ประชาชนตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยตัวเอง ทั้งมะเร็งเต้านมที่สามารถคลำก้อนได้ หรือการตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยชุดตรวจ การตรวจหาความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูกด้วยยีน หรือการตรวจหามะเร็งลำไส้ด้วยชุดตรวจ


นพ.สกานต์ บุนนาค ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราการเกิดมะเร็งพบได้ในคนอายุน้อยลง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคมะเร็ง มาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารมากถึง 30-40% โดยเป็นกลุ่มอาหารที่มีไขมันสูง ,ปิ้งย่าง หากลดอาการเหล่านี้ได้ก็สามารถลดปัจจัยการเกิดมะเร็งได้ 30-40% เช่นกัน โดยโรคมะเร็งที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก พร้อมเตรียมให้องค์ความรู้กับภาคีเครือข่ายเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในประชาชน ส่วนสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่พบในภาคเหนือ ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปอด เป็นเพียงปัจจัยร่วม โดยฝุ่นที่ก่อให้เกิดมะเร็งอย่างชัดเจน ได้แก่ บุหรี่ ฝุ่นจากแร่ใยหิน และใยไม้ ทั้งนี้ ยังต้องมีการติดตามและศึกษาวิจัยต่อไป เนื่องจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่งเกิดในสังคม และบางพื้นที่ไม่นาน


กำลังโหลดความคิดเห็น