แพทย์ เตือน กิน "น้ำซุป" โซเดียมสูง เสี่ยงป่วยไตวาย เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ปลุกแคมเปญลดซด ลดปรุง ลดอาหารแช่แข็ง ช่วยลดเค็ม ลดโรค ขยายชุมชน-มหาวิทยาลัย ชวนปรับพฤติกรรม ตัดตอนโรค NCDs
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เปิดตัวโครงการลดเค็ม ลดโรค รณรงค์ให้คนไทยเห็นภัยร้ายจากการกินโซเดียมเกินมาตรฐาน โดย น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผอ.อาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. กล่าวว่า น่าตกใจที่พบคนไทยส่วนใหญ่ กินโซเดียมเฉลี่ยอยู่ที่ 3,636 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งมากกว่าเกือบ 2 เท่า จากเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือ ไม่ควรกินโซเดียมเกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม เป็นปัจจัยที่ทำให้คนไทยเสี่ยงป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบตัน ความดันโลหิตสูง ไตวาย รวมถึงโรคเรื้อรังชนิดอื่น สร้างความสูญเสียทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
น.ส.สุพัฒนุช กล่าวว่า โครงการลดเค็ม ลดโรคเกิดขึ้นจากการวิเคราะห์โจทย์หลายอย่างในชีวิตประจำวัน ซึ่งภัยเงียบจากโซเดียม ที่ซ่อนในมื้ออาหารจากการปรุงรสชาติ การซดน้ำแกง น้ำผัด น้ำซุป และอาหารแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป โดยคนไทยส่วนใหญ่ชอบกินน้ำซุปทุกมื้ออาหาร จากแกงจืด ก๋วยเตี๋ยว ต้มยำ พะโล้ และอาหารประเภทต้ม โดยไม่รู้ว่าน้ำซุปที่กินเข้าไปเป็นอันตราย เนื่องจากมีโซเดียมซ่อนอยู่ทั้งในวัตถุดิบต่างๆและน้ำซุป รวม 1,400 – 1,500 มิลลิกรัม/ชาม หากกินหมดชามแถมซดน้ำซุปจนเกลี้ยง เท่ากับ 1 มื้อ ร่างกายได้รับโซเดียมเกือบถึงเกณฑ์ใน 1 วันแบบไม่รู้ตัว ยังไม่ได้รวมกับมื้ออื่นๆ เลย จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ “ลดซด ลดโซเดียม ลดเค็ม ลดโรค” เพื่อสื่อสารให้คนไทยปรับพฤติกรรมการกินและเห็นถึงภัยร้ายจากโซเดียม ลดการซดน้ำซุป น้ำผัด น้ำแกง น้ำยำ ในแต่ละมื้ออาหาร ให้น้อย ติดตามได้ทางสื่อโทรทัศน์และออนไลน์
“การดูอาหารที่กินว่ามีโซเดียมมากน้อยแค่ไหน ยากกว่าการดูเรื่องความหวาน เพราะที่มาของโซเดียมเห็นไม่ชัด ถ้าเป็นความหวานแค่เห็นใส่น้ำตาล น้ำผึ้ง นมข้น ก็รู้ว่าหวานมาก หวานน้อยแล้ว แต่โซเดียม เราไม่รู้ว่าสิ่งที่กินไปมีโซเดียมเท่าไร เพราะมีทั้งที่เค็มและไม่เค็ม นี่คือคีย์เวิร์ดสำคัญที่ สสส. ต้องการณรงค์ผ่านการปรับพฤติกรรมในโครงการลดเค็ม ลดโรค นอกจากลดซดน้ำซุป อยากสื่อสารไปถึงการลดปรุงและลดอาหารแช่แข็ง โดยอยากให้ทดลองปรับพฤติกรรมต่อเนื่องใน 21 วัน จะช่วยให้ลิ้นปรับความไวในการรับรสชาติ จะกินเค็มให้น้อยลงได้ เพื่อสุขภาวะที่ดี” น.ส.สุพัฒนุช กล่าว
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า โซเดียมและการกินเค็มเป็นภัยเงียบ อาจไม่เห็นผลเสียทันที ยกเว้นคนที่ไวต่อการกินเค็ม เช่น ผู้สูงอายุ หรือคนที่มีโรคประจำตัว จะมีอาการตาบวม ขาบวม ความดันโลหิตขึ้น ปวดหัว หิวน้ำบ่อย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปัจจุบันพบคนไข้ป่วยเป็นโรคไตหรือไตวายอายุน้อยลงอยู่ที่ 35 – 40 ปี จากเดิมที่อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 50 – 60 ปี มีผลจากวัฒนธรรมการกินของคนไทยที่เปลี่ยนไป นิยมอาหารสำเร็จรูป บุฟเฟ่ต์ ปิ้งย่าง หมูกระทะ อาหารญี่ปุ่น-เกาหลี ที่มีรสเค็มจัดจากการหมักดองเกลือ หรือใส่เครื่องปรุงจำนวนมาก เมื่อกินสะสมบ่อยๆ จึงติดรสเค็มแบบไม่รู้ตัว อีกปัจจัยคือการกินเค็มตั้งแต่เด็ก เช่น ขนมกรุบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กซอง-ถ้วย อาหารพวกนี้มีโซเดียมสูง แม้กระทั่งอาหารที่ผู้ปกครองปรุงเอง แต่ใช้ความเค็มสูง เมื่อเด็กที่น้ำหนักตัวน้อยกิน ก็ทำให้บริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ลิ้นจะติดเค็ม มีผลทำให้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เร็วขึ้น
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า อาหารที่กินแต่ละวัน ผู้บริโภคมักคิดว่าอาหารที่เค็มจะมีโซเดียมสูง เพราะปรุงรสด้วย เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว น้ำมันหอย น้ำพริก ปลาร้า และซอสหรือผงปรุงรสอื่นๆ แต่ทางการแพทย์พบว่ามีโซเดียมที่ไม่เค็ม คือ โมโนโซเดียมกลูตาเมต (MSG) หรือ ผงชูรส แต่มีผลต่อสุขภาพไม่ต่างกัน เปรียบเทียบง่ายๆ การกินก๋วยเตี๋ยว น้ำซุปที่ร้านค้าปรุงจะใส่ซุปก้อนสำเร็จรูป ผงชูรส ซีอิ๊ว ซอสปรุง ในน้ำจะมีโซเดียม 60 – 70% ขณะที่เส้น ผัก เนื้อสัตว์ มีโซเดียมไม่ถึง 30 – 40% แม้ความอร่อยจะอยู่ในน้ำซุป แต่เป็นความอร่อยที่แฝงไปด้วยภัยเงียบ แนะนำว่าหากหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูงไม่ได้ ต้องเลือกกินเฉพาะเนื้อสัตว์ ผัก ลดการซดน้ำให้น้อยที่สุด ไม่ได้ห้ามซด แต่กินในปริมาณที่พอดี ไม่ว่าจะเป็นซุปน้ำใส น้ำข้น หรือแกงชนิดอื่นๆ เพราะปัจจุบันพบว่าร้านค้ามากกว่า 95% ใช้ผงปรุงรสสำเร็จรูปมากกว่าเคี่ยวน้ำซุปด้วยผักหรือเนื้อสัตว์ เพราะมีต้นทุนที่ถูกกว่า
“ตั้งเป้าทำชุมชนลดเค็ม 73 จังหวัด ในปี 2566 ร่วมมือกับ สสส. รณรงค์ประชาชนให้กินเค็มน้อยลง ลดผงชูรส ลดเครื่องปรุง ลดซดน้ำแกง และติดตามปริมาณโซเดียมในอาหาร โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว จะติดตามว่ากินเค็มมากน้อยแค่ไหน ด้วยการใช้เครื่องวัดความเค็ม มีอาสาสมัครชุมชนดูแล และจะทำพื้นที่นำร่องมหาวิทยาลัยลดเค็ม ที่ ม.มหิดล จะแถลงข่าวเปิดตัววันที่ 7 ก.พ. 2566 ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมเปิดตัวแคมเปญลดเค็ม ลดโรค ลดซด ลดปรุง ร่วมกับชุมชนลดเค็มทั่วประเทศ พบกับการสาธิตปรุงอาหารลดโซเดียม โครงการนี้จะขยายไปร้านอาหารทั่วประเทศ แจกตัวติดกระจก ลดเค็มสั่งได้ ลดเค็มทำได้ และแผ่นพับสามเหลี่ยม ลดเค็ม ลดโรคบนโต๊ะอาหารร้านที่ร่วมโครงการ เพื่อกระตุ้นให้คนไทยปรับพฤติกรรมการกินอีกทาง” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว