xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผย ถ่ายโอน รพ.สต. 90% ยังเจอปัญหา แนะ 4 เรื่องปรับปรุงร่วมกัน ขอให้รับฟังแก้ไข ไม่ใช่แก้ตัวโจมตี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.แจงบุคลากร รพ.สต.ถ่ายโอน 40% ขอย้ายกลับ สำรวจตามหลักวิชาการ ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ จาก รพ.สต.ถ่ายโอนกว่า 3 พันแห่ง 49 พื้นที่ ขอให้รับฟัง ไม่ใช่แก้ตัวโจมตี แต่ขาดแก้ไข แนะ 4 เรื่องควรปรับปรุงร่วมกันให้การถ่ายโอนคล่องตัว ให้บริการประชาชนมีคุณภาพ หลังพบ 90% ยังมีปัญหา ส่วนถ่ายโอนแล้วอยู่ระดับพอใช้ ดี และดีมากแค่ 10%

เมื่อวันที่ 23 ม.ค. นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ประธานคณะอนุกรรมการ MIU วิชาการและติดตามประเมินผลถ่ายโอนภารกิจ สอน./รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสำรวจบุคลากร รพ.สต.ถ่ายโอนกว่า 40% ต้องการขอย้ายกลับ สธ. ว่า คณะอนุฯ กำลังศึกษาเรื่องนี้ ว่า จะมีทางออกใดช่วยบุคลากรได้บ้าง หากพิจารณาตามหลักข้อมูลวิชาการ ตัวอย่างที่ผ่านมาของต่างประเทศ กลุ่มประเทศพัฒนาและมีการกระจายอำนาจประสบความสำเร็จดี บางพื้นที่ก็สามารถกลับมาได้ แต่ทั้งหมดต้องพิจารณาจากแนวทางวิชาการ ศึกษาระเบียบต่างๆ ต้องไม่ขัดกับข้อกฎหมายที่มี ทั้งนี้ โดยหลักการ สธ.สนับสนุนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และไม่กระทบต่อบุคลากรคนทำงาน ซึ่งมองว่าการถ่ายโอนที่ดี คือ การบริการ โดยเป้าหมายหลักคือการบริการประชาชนต้องมีคุณภาพ ประชาชนได้ประโยชน์แท้จริง ทั้งหมดต้องร่วมด้วยช่วยกัน มีความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำงานร่วมกันได้หมด และทุกอย่างต้องพร้อม ทั้งคน เงิน ของ

ถามว่า ตัวเลขบุคลากร 40% มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการสำรวจอย่างไร นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า การสำรวจเป็นไปตามหลักข้อมูลวิชาการ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ทำเพื่อประโยชน์เพื่อระบบสาธารณสุขและประชาชน ถือเป็นการสะท้อนให้ข้อแนะนำเชิงสร้างสรรค์ (Constuctive feedback) อยากให้รับฟัง มิใช่ออกมาแก้ตัวโจมตี แต่ขาดการแก้ไข โดยสำรวจ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปกว่า 3 พันแห่ง ใน 49 พื้นที่ และลงพื้นที่ไปสำรวจแบบโฟกัสกรุ๊ป ให้ตอบคำตอบแบบอิสระ จึงได้ข้อมูลดังกล่าวว่า สาเหตุหลักๆ ที่ต้องการกลับคืน สธ. มีทั้ง 1. ความไม่พร้อมในการรับถ่ายโอนของ อบจ. ระบบใหม่ยังไม่ลงตัว ระเบียบต่างๆ และแนวทางการดำเนินงานยังไม่ชัดเจน และไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานของสาธารณสุข 2. ภาระงาน ให้เหตุผลว่า ภาระงานเพิ่มมากขึ้น บุคลากรไม่เพียงพอต่องาน ฯลฯ 3. ความก้าวหน้าและความมั่นคงในการทำงาน โดยลูกจ้างมีโอกาสก้าวหน้าค่อนข้างยากและไม่มีความชัดเจน 4. ระบบการทำงานของ อบจ.ไม่เอื้อต่อการทำงานของ รพ.สต. แนวทางการปฏิบัติงานยุ่งยาก ซับซ้อน ขั้นตอนมาก ไม่มีความคล่องตัว ฯลฯ และ 5. ความรู้สึกหลังการโอนย้าย โดยระบุว่าไม่ชอบระบบทางการเมือง แนวนโยบายก่อนกับหลังถ่ายโอนไม่สามารถทำตามได้จริง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ควรมีการปรับปรุงร่วมกันในเรื่องการถ่ายโอนอย่างไรให้ครั้งหน้าเกิดปัญหาน้อยที่สุด นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า หลักๆ มองว่า 1. กลไกส่วนกลางที่ทำหน้าที่บริหารจัดการ ควรประสานงานร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ควรเน้นการสั่งการหรืออ้างข้อกฎหมายอย่างเดียว ต้องเน้นประสานงาน สร้างความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมมากที่สุด โดยเฉพาะภาคประชาชน 2. คู่มือแนวทางการถ่ายโอนฯ มักมีบางส่วนระบุว่า ทำไมไม่ทำตามคู่มือ หากทำตามก็จะไม่เกิดปัญหา จริงๆ ต้องมาดูว่าการปฏิบัติตามคู่มือ กับข้อกฎหมายของแต่ละหน่วยงานทำได้มากน้อยแค่ไหนด้วย 3. ระดับพื้นที่ เจ้าหน้าที่ควรเข้าใจหลักการการถ่ายโอนจริงๆ ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า มีส่วนหนึ่งถ่ายโอนเพราะมองความก้าวหน้าเป็นหลัก แต่ข้อเท็จจริงมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ต้องดูว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน ประกอบกับงานสาธารณสุข เป็นเรื่องหลายมิติ มีมิติความเป็นมนุษย์ มีการป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งค่อนข้างซับซ้อน และ 4. กลไกโครงสร้างการทำงานระดับพื้นที่อาจต้องปรับให้มีส่วนร่วมจริงๆ ในทุกพื้นที่

“จากการสำรวจพบว่า การโอนย้ายไป อบจ.ครั้งนี้ที่อยู่ในระดับพอใช้ ดีและดีมาก มีประมาณ 10% แต่มีราว 90% ที่ค่อนข้างมีปัญหาหลากหลาย ตรงนี้ต้องค่อยๆ ทำงานร่วมกันและปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ในอนาคตที่จะมีการถ่ายโอนอีกเกิดปัญหาน้อยที่สุด เพราะสุดท้ายเป้าหมายสำคัญ คือ ประชาชนต้องได้รับประโยชน์ และเจ้าหน้าที่ต้องทำงานอย่างมีความสุข” นพ.รุ่งเรือง กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น