xs
xsm
sm
md
lg

พบโควิด BN.1.3 ครองไทย เจอลูกผสม XAY.2 รายแรก ยันสายพันธุ์ในจีนไม่ใช่ตัวใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมวิทย์เผยพบ "โควิด" สายพันธุ์ XAY.2 ในไทย เป็นลูกผสมเดลตา AY.45 กับโอมิครอน BA.4/5 ยังไม่พบคนใกล้ชิดติดเชื้อเพิ่ม ส่วน XBB.1.5 ที่ระบาดในสหรัฐฯ ยังไม่พบในไทย แต่ไม่ต่างจาก BN.1.3 ที่เป็นสายพันธุ์หลักในไทย ด้านจีนเป็น BA.5.2 และ BF.7 ไม่ได้เป็นสายพันธุ์ใหม่

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์สายพันธุ์เชื้อโควิด 19 ว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทย ขณะนี้ตรวจพบสายพันธุ์ XAY.2 จำนวน 1 ราย ในไทย โดยรายงานเข้าไปยังฐานข้อมูล GISAID แล้ว ทั้งนี้ สายพันธุ์ XAY.2 เป็นลูกผสมระหว่าง เดลตาสายพันธุ์ย่อย AY.45 กับ โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/5 ขณะนี้ทั่วโลกพบ 344 ราย ส่วนคนที่อยู่ใกล้ชิดยังไม่พบการติดเชื้อนี้ อิทธิฤทธิ์อิทธิเดชนั้น ยังไม่มีความแตกต่างในแง่ของความรุนแรงที่ทำให้ผู้ป่วยอาการหนักหรือเสียชีวิตเร็วขึ้น แต่มีการแพร่เชื้อที่เร็วกว่าเมื่อเทียบกับลูกผสมตัวอื่น เช่น XBC ทั้งนี้ กรมวิทย์จะถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสทั้งตัวย้อนหลังเพิ่มเติม

“การพบ XAY.2 ไม่ได้มีผลกระทบในภาพรวม แต่กรมวิทย์รายงานข้อมูลตามข้อเท็จจริง ซึ่งมีการอัพเดทอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอีกตัวที่เราจับตาดู เนื่องจากพบการแพร่ระบาดมากในสหรัฐอเมริกา คือ XBB.1.5 โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามีการรายงานในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 40% แต่ยังไม่พบสายพันธุ์นี้ในไทย ทั้งนี้ เมื่อเทียบกันแล้วก็พบว่า XBB.1.5 ก็มีความสามารถในการแพร่เชื้อสูสีกับ BA.2.75 ในไทย แต่มีความเหนือกว่าเล็กน้อยในเรื่องของการหลบภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ง่าย แต่ก็ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชมากกว่ากัน อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่าเมื่อมีการเดินทางไปมาหากันมากขึ้น การพบสายพันธุ์ข้ามภูมิภาคก็เกิดขึ้นได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับข้อห่วงกังวลเรื่องการพบสายพันธุ์ XAY.2 ในไทย ช่วงเดียวกับที่จะมีการรับนักท่องเที่ยวชาวจีน ต้องย้ำว่า สายพันธุ์ที่ระบาดในจีน 97% เป็นสายพันธุ์ BA.5.2 และ BF.7 ซึ่งไม่ได้เป็นสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด และไม่ได้แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์ในไทย โดยย้ำว่าจีนยังไม่พบสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล ดังนั้นจึงไม่น่ากังวล

“การเปิดให้มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ไม่ว่าจะจากประเทศใด ย่อมมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่เราต้องชั่งเรื่องเศรษฐกิจด้วย และที่สำคัญคือโรคไม่มีความรุนแรง ไม่มีสัญญาณอัตราป่วยหนักหรือเสียชีวิต การระบาดรุนแรงเพิ่มขึ้น”  นพ.ศุภกิจ กล่าว

ส่วนกรณีที่จีนจะเปิดประเทศนั้น จากข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์ ที่ระบาดในจีน พบว่า 97% เป็นสายพันธุ์ BA.5.2 และสายพันธุ์ BF.7 ซึ่งไม่ได้เป็นสายพันธุ์ใหม่ และไม่ได้มีการแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์ในประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่น่ากังวล

สำหรับสายพันธุ์ XBB.1.5 ที่มีการระบาดอย่างรวดเร็วในสหรัฐอเมริกา จากการเฝ้าระวังยังไม่พบในประเทศไทย โดยสายพันธุ์หลักที่พบในไทยขณะนี้เป็นสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BN.1.3 ซึ่งเป็นลูกหลานของ BA.2.75 ซึ่งข้อมูลความสามารถในการหลบภูมิและแพร่เร็วใกล้เคียงกับ XBB.1.5

“กรมวิทย์ร่วมกับเครือข่าย ยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง การสวมหน้ากาก ล้างมือ ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ยังจำเป็น โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน ขอให้มารับเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น ลดโอกาสติดเชื้อ ลดอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น