xs
xsm
sm
md
lg

จี้ "ขนส่ง" บังคับขาย "มอเตอร์ไซค์" ในไทยทุกรุ่นติดระบบเบรก ABS ป้องกันอุบัติเหตุ 30%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิจัยพบ "มอเตอร์ไซค์" เบรก 2 ล้อพร้อมกัน ได้ระยะเบรกสั้ ประสิทธิภาพมากสุด ติดตั้งระบบ ABS ช่วยลดอุบัติเหตุได้ 30% จี้กำหนดมอเตอร์ไซค์ทุกรุ่ติดตั้ง ช่วยคุมรถได้ดีขึ้น ปิดช่องว่างทักษะขับขี่และเบรกแต่ละคนไม่เท่ากัน ช่วยราคาถูกลง พร้อทมเสนอ 4 ข้อถึงขนส่งทางบกและบริษัทรถ

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ดร.ทรงวุฒิ มงคลเลิศมณี รอง ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนคร กล่าวในเวทีเสวนาเผยผลทดสอบ “ระบบเบรก” รถจักรยานยนต์แบบไหนปลอดภัยสุด เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ระยะการหยุดของรถไม่ได้ขึ้นอยู่กับสมรรถนะของรถอย่างเดียว แต่ประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการเบรก ขึ้นกับระยะการรับรู้และตอบสนองของผู้ขับขี่ ทักษะในการขับขี่ ทั้งนี้ จากการวิจัยทดสอบ พบว่า การเบรกพร้อมกันทั้งล้อหน้าและล้อหลัง จะได้ระยะการเบรกที่สั้นที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด การเบรกด้วยล้อหลังเพียงอย่างเดียวมีประสิทธิภาพน้อยที่สุด นอกจากนี้ รถจักรยานยนต์ที่มีระบบป้องกันล้อล็อก หรือ ABS (Anti-Lock Brake system) ช่วยลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุได้


"สถานการณ์จริง ผู้ขับขี่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงขับรถบนพื้นถนนที่เปียกหรือลื่น และผู้ขับขี่แต่ละรายมีทักษะขับขี่และเบรกไม่เท่ากัน ดังนั้น การมี ABS จะช่วยลดความเสี่ยงการลื่นไถลของล้อ ส่งผลให้ควบคุมรถได้ดีขึ้น ผู้บริโภคที่ต้องการเลือกซื้อรถจักรยานยนต์ ควรเลือกซื้อที่ติดตั้งระบบ ABS เนื่องจากลดข้อจำกัดทั้งจากผู้ขับขี่และสภาพถนน ซึ่งอาจนำไปสู่อุบัติเหตุได้ โดยระบบ ABS ต้องถูกติดตั้งจากต้นทางการผลิต ไม่สามารถติดตั้งเพิ่มภายหลังได้ มองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องกำกับดูแลให้รถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายในไทยทุกรุ่นติดตั้งระบบเบรก ABS” ดร.ทรงวุฒิกล่าว

ด้าน พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทย สู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ใช้รถจักรยานยนต์ขนาดต่ำกว่า 125 ซีซี ถึง 80% ของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งหมด แต่รถกลุ่มดังกล่าวไม่มีกฎหมายบังคับให้ติดตั้งระบบ ABS ทั้งที่ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีการใช้ระบบ ABS ทั้งในรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ เช่น อินเดียให้ติดตั้งระบบ ABS รถจักรยานยนต์รุ่นต่ำกว่า 110 ซีซี ตั้งแต่ปี 2564 เพราะข้อมูลจากหลายประเทศบ่งชี้ว่าการติดตั้ง ABS ช่วยป้องกันอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ได้ 30% โดยรถจักรยานยนต์ที่ติด ABS แพงว่าไม่ติดเพียง 3,500 บาท ส่วนปัจจุบันอยู่ที่ส่วนต่าง 5,000 – 7,000 บาท มองว่าหากรัฐบาลออกกฎหมายบังคับการติด ABS ในรถจักรยานยนต์ทุกรุ่น อาจทำให้มีการปรับราคาลง เช่นเดียวกับ กรณีคาร์ซีทที่ปรับราคาลงเมื่อออกกฎหมาย


พญ.ชไมพันธุ์ กล่าวว่า มี 5 ข้อเสนอแนะเรื่องในเรื่องความปลอดภัย ดังนี้ 1.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำกับดูแลเนื้อหาโฆษณารถจักรยานยนต์ ที่อาจชี้นำให้เกิดการขับขี่ด้วยความเร็ว 2.บริษัทผู้ผลิตและจำหน่าย ต้องให้ข้อมูลที่จำเป็นและถูกต้องแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะความปลอดภัย เพื่อประกอบการเลือกรถ 3.ส่งเสริมให้มีกลุ่มนักวิชาการที่เป็นกลางช่วยวิเคราะห์ข้อมูลกรณีเกิดอุบัติเหตุ และบริษัทรถจักรยานยนต์ควรสนับสนุนข้อมูลทดสอบทางวิศวกรรมยานยนต์ต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบหาแนวทางแก้ปัญหา 4. ผู้บริโภคต้องมีสิทธิได้ใช้รถจักรยานยนต์ รถสาธารณะในมาตรฐานความปลอดภัยเทียบเท่าประเทศอื่น และ 5. ผู้บริโภคมีสิทธิแสดงความคิดเห็นและร่วมกำหนดหลักเกณฑ์ต่อรัฐบาลในด้านความปลอดภัย เพื่อให้คนไทยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใช้ถนนอย่างปลอดภัย

นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า มีข้อเสนอถึงกรมการขนส่งทางบก 4 ข้อ ดังนี้ 1.พิจารณาผลักดันติดตั้งระบบเบรก ABS รถจักรยานยนต์ทุกรุ่น อาจขอรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ผู้ผลิต 2.ให้มีการสอบทักษะภาคปฏิบัติการใช้เบรก 2 ล้อ ในการขอรับใบอนุญาตขับขี่ 3.ควรกำหนดเกณฑ์ให้คนที่ขอสอบใบขับขี่ต้องได้รับฝึกฝนทักษะการขับขี่และเบรกที่ถูกต้อง และ 4.ให้มีการทดสอบความสามารถระบบเบรก ด้วยการเบรกจริงหรือเครื่องมือทดสอบแรงเบรกเพิ่มเติมจากการตรวจสอบด้วยสายตา ในการตรวจสภาพเพื่อขอต่อทะเบียนภาษีรถจักรยานยนต์


ส่วนข้อเสนอต่อผู้ประกอบการ มี 4 ข้อ คือ 1.ควรทำการทดสอบระบบห้ามล้อรถจักรยานยนต์ทุกรุ่นที่ขายในไทยตามประกาศของกรมการขนส่งทางบกและเปิดเผยผลให้สาธารณชนทราบในเว็บไซต์บริษัทและเอกสารโฆษณาขาย ให้ข้อมูลอย่างจริงใจกับผู้บริโภค 2.ระบุระยะในการเบรกพร้อมวิธีปฏิบัติในคู่มือ 3.จัดการอบรมภาคปฏิบัติสำหรับการทำความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ขับขี่เรื่องระยะหยุดจากการใช้เบรกแบบต่างๆ รวมถึงการใช้เบรก ABS และ 4.ควรติดตั้งระบบ ABS เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในจักรยานยนต์ทุกรุ่น


กำลังโหลดความคิดเห็น