xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เตรียมบุคลากรรับมือ "เดินทางปีใหม่" ตร.ขอก่อสร้างคืนทาง เล็งขยายดูแลช่วงก่อน 7 วัน หากรถหนาแน่น เจ็บตายสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"สาธิต" ย้ำปีใหม่ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ลดอุบัติเหตุ ยังต้องป้องกัน "โควิด" สธ.เตรียมหมอ บุคลากรเพิ่ม 120% เตรียใทีมฉุกเฉินดูแลอุบัติเหตุ เข้มร้านค้าขายน้ำเมาถูก กม. ด้านตำรวจประสานสั่งก่อสร้างคืนทาง จัด 4 หมื่นนายอำนวยความสะดวก ลดจุดเสี่ยง อาจขยายดูแลช่วงก่อน 7 วันอันตราย หลังพบเจ็บตายสูง

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่รอยัล พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. พล.ต.ต.วีรพัฒน์ ศิวะแพทย์ รอง ผบช.สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และนายวิทยา จันทน์เสนะ ผอ.กองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แถลงข่าวชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ"

นายสาธิตกล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ไทยมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพื่อสร้างรายได้ให้คนไทย ทำให้มีการใช้รถใช้จำนวนเพิ่มขึ้น สธ.ห่วงใยผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวให้มีความปลอดภัยจากอุบัติเหตุ ขอให้ดูแลสุขภาพตนเองและคนรอบข้าง เพราะการแพร่ระบาดของโควิดยังมีอยู่ ขอให้สวมหน้ากากเมื่ออยู่ในสถานที่คนหมู่มากและรับฉีดวัคซีนโควิดเมื่อรับเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน อย่างไรก็ตาม ปัญหาดื่มแล้วขับเป็นเรื่องสำคัญ ปีใหม่เป็นช่วงเฉลิมฉลอง มีการดื่มสุราโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมามีผู้ขับขี่มากกว่าครึ่ง ดื่มแล้วเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ เสียชีวิต หากต้องขับรถต้องไม่ดื่มหรือดื่มแล้วต้องห้ามขับ หรือ "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ" เพื่อความปลอดภัยของตนเองและเพื่อนร่วมทาง

"ขอเชิญชวนคนไทยร่วมใจประกอบคุณงามความดี ทำบุญตักบาตรสวดมนต์ งดดื่มสุรา ถวายเป็นพระราชกุศลและถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ให้หายจากพระอาการประชวรและมีพลานามัยแข็งแรงในเร็ววัน" นายสาธิตกล่าว


นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ.เปิดศูนย์ EOC ที่ส่วนกลางและจังหวัดสนับสนุนการทำงาน ศปถ. 24 ชั่วโมง และเตรียมทีมปฏิบัติการฉุกเฉิน (EMS) ทุกระดับ ทั้งทางบก อากาศและทางเรือ เพื่อให้การรักษารวดเร็ว กรณีบาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตรับบริการที่ รพ.ใกล้ที่สุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบาย UCEP รวมถึงสั่งการให้ รพ.ทุกแห่งเพิ่มจำนวนบุคลากรเป็น 120-130% มากกว่าช่วงปกติ เตรียมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ไอซียู ระบบส่งต่อ เจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุตามการร้องขอของตำรวจ กรณีไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ นอกจากนี้ ขอให้ประสานตำรวจตรวจตราป้องกันเหตุรุนแรงใน รพ. ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ตั้งด่านชุมชน ด่านครอบครัวสกัดกั้นกลุ่มเสี่ยงอุบัติเหตุ เน้นจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่กับครอบครัว งานเลี้ยงปลอดเหล้าปลอดภัย

"ช่วงปีใหม่บุคลากรทางการแพทย์ยังช่วยเหลือดูแลประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ปริมาณงานเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงปกติ โดย 7 วันปีใหม่ 2563 มีผู้บาดเจ็บเข้า รพ.มากกว่า 3 หมื่นราย เฉลี่ยวันละเกือบ 4,300 ราย ขอให้ระวังเกิดอุบัติเหตุ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ" นพ.โอภาสกล่าว


ด้าน นพ.ธเรศกล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนปีใหม่เป็นปัญหาใหญ่ของไทย สาเหตุมากกว่า 50% แอลกอฮอล์เกินระดับ ประมาท ไม่ใช้หมวกกันนิรภัย เข็มขัดนิรภัย ซึ่งจริงๆ ป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เข้ม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะร้านค้า เรื่องการขายเวลาห้ามขาย เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ขายในสถานที่ห้ามขาย เช่น ปั๊มน้ำมัน สถานที่ราชการ สถานศึกษา สถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา การเร่ขาย และโฆษณาส่งเสริมการขาย หากพบเห็นแจ้ง สายด่วน 1422


ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ต้องทำให้เป็นเทศกาลที่ปลอดภัย โดยจะทำการสื่อสารตลอดช่วงธันวาคมถึงปีใหม่มีสปอตโฆษณา 2 ชิ้น คือ 1. “ขอบคุณคนไทย ที่ไม่ให้เหล้า” ให้เหล้า = แช่ง เพื่อชวนมอบของขวัญปีใหม่ที่ไม่ใช่เหล้าให้แก่กัน เลิกเหล้าเพื่อตนเองและครอบครัว และ 2. “ดื่มไม่ขับ กรึ่มๆ ก็ถึงตาย” สื่อสารไปถึงคนที่มักดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่ คิดว่าขับรถได้ไม่เป็นไร ดื่มแล้วยังขับไหว จริงๆ ทำให้สายตาและการมองเห็นแย่ลง และการตัดสินใจก็ช้าลง ประสานเครือข่ายตำบลสุขภาวะ 3,000 กว่าตำบลรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุ และตำรวจภูธรภาค 4 จัดกองร้อยน้ำหวานเข้ามาช่วยตั้งด่านชุมชน

พล.ต.ต.วีรพัฒน์ กล่าวว่า การอำนวยความสะดวกจราจรประสานตำรวจภูธร นครบาล ประสานทางหลวงชนบทและท้องถิ่น ขอคืนพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมดในประเทศช่วงปีใหม่ 7 วัน ขอหยุดการก่อสร้างและขยับแบริเออร์เท่าที่จะทำได้ เพื่อขยายพื้นผิวถนนและเตรียมเส้นทางสำรองกรณีทางเลี่ยงทางเบี่ยงจราจร นอกจากนี้ ยังเตรียมกำลังพล 4 หมื่นนายอำนวยความสะดวกเส้นทางหลักทางเข้าปั๊มน้ำมันและสถานที่สำคัญ ซึ่งจะมีปริมาณรถหนาแน่นทำให้จราจรติดไปถึงเส้นทางหลัก เพื่อสะดวกขึ้น แต่ปริมาณรถอาจจะเยอะกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงคนเดินทางมากขึ้น เราเตรียมรถยกและบริการซ่อมรถเสียต่างๆ


พล.ต.ต.วีรพัฒน์กล่าวว่า มีการออกประกาศต่างๆ เช่น การใช้เส้นทางขับรถย้อนศรทั้งขาขึ้นขาล่อง , ห้ามรถสิบล้อขึ้นไปวิ่งในเส้นทางที่ประกาศตามวันและเวลาที่กำหนด ยกเว้นรถขนสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประชาชนขออนุญาตมาได้ ส่วนการช่วยลดอุบัติเหตุ เราเน้นปัจจัยหลัก คือ 1.ขับรถเร็วจึงปรับการตรวจจับความเร็ว ติดตั้งเครื่องตรวจในทุกเส้นทางและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด 2.เมาแล้วขับ ไม่ว่าปีใหม่หรือสงกรานต์ตัวเลขจะขึ้นมาเป็นอันดับ 2 แซงเรื่องการตัดหน้ากระชั้นชิดในช่วงปกติ จึงเตรียมเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์และมีการสอบเทียบเครื่องให้ใช้งานได้ทั้ง 3,000 เครื่อง ตั้งด่านตรวจแอลกอฮอล์ วินัยจราจร

"เราทำตั้งแต่ต้นน้ำโดยทำบัญชีกลุ่มเสี่ยง คนที่เคยถูกจับข้อหาเมาแล้วขับในพื้นที่มีการดำเนินคดี ตำรวจมีประวัติจะเข้าไปสื่อสารคนกลุ่มนี้รณรงค์ตักเตือน ถ้าเกิดเหตุการณ์ซ้ำสองโทษจะหนักกว่าครั้งแรก และบัญชีร้านค้าที่เป็นกลุ่มเสี่ยงถูกจับดำเนินคดีการขายให้เยาวชนหรือไม่ได้รับอนุญาต เข้าไปตักเตือนและแจ้งให้ทราบว่าปีนี้จะดำเนินการเช่นเดิม" พล.ต.ต.วีรพัฒน์กล่าว

พล.ต.ต.วีรพัฒน์กล่าวว่า นอกจากนี้ สถานที่จัดงานรื่นเริงถ้ามีให้ทุกหน่วยในพื้นที่ไปสำรวจ ว่าจะจัดงานที่ไหน เจเาของงานเป็นใคร ก็ประสานผู้จัดควบคุมการขายแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมาย และจะมีการตั้งด่านบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่จัดงานเลย หากคิดว่าไปงานแล้วจะดื่มก็จะต้องอย่าขับรถ เพราะจะเจอด่าน รวมถึงขบายผลดำเนินคดีกลุ่มขายเยาวชนเมื่อพบอุบัติเหตุจราจรแล้วผลชัดว่าดื่มแล้วขับ ว่าใครจะชวนให้ดื่มหรือไปซื้อมาจากไหน

นายวิทยา กล่าวว่า ศปถ.นำเสนอแผนป้องกันลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ให้คณะกรรมการนโยบายฯ เห็นชอบและเสนอ ครม.ให้ทราบแล้วเช่นกัน เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานของหน่วยงานราชการและเครือข่ายครอบคลุมปีใหม่ สงกรานต์และวันหยุดมากกว่า 4 วันขึ้นไป ซึ่งช่วงปีใหม่ 2566 กำหนดให้มีการรณรงค์ช่วง 7 วัน คือ วันที่ 29 ธ.ค. - 4 ม.ค. มี 5 มาตรการคือ 1.การบริหารจัดการ 2.ลดปัจจัยเสี่ยงถนนและสภาพแวดล้อม 3. ลดปัจจัยเสี่ยงด้านพาหนะ 4.ด้านผู้ใช้รถถนนอย่างปลอดภัยและ 5.การช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ


เมื่อถามถึงกรณีคนเดินทางเร็วขึ้นหลังคริสต์มาส และ 2 ปีที่ผ่านมามีตัวเลขอุบัติเหตุช่วง 26-28 ธ.ค. สูงกว่าหรือเท่ากับช่วง 7 วันอันตราย จะมีการขยายการดำเนินงานออกมาอีก 3 วัน เป็น 10 วันหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลเป็นช่วงคาบเกี่ยวอยู่แล้ว เรามีการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายก็ทำเต็มที่ โดยต้องหาต้นเหตุของปัญหาก่อน เช่น ปัญหาเส้นทางจราจร และแอลกอฮอล์ ก็ไปแก้เรื่องการขาย การเข้าถึง มีการรณรงค์และมีด่าน ส่วนจุดเสี่ยงก็ไปลดให้จุดที่มีการเกิดอุบัติเหตุลดน้อยลง

ด้าน พล.ต.ต.วีรพัฒน์กล่าวว่า นอกเวลา 7 วันมีโครงการของกระทรวงมหาดไทยรณรงค์ตลอดทั้งปี แต่จะมีการลดความเข้มข้นลง เนื่องจากการสัญจรของรถน้อยลงกว่าปกติ กำลังก็ไปใช้ในการดูแลด้านอื่น แต่ยังมีการรณรงค์ตลอดเวลา มีการประชุมทุกเดือนและออกมาตรการตลอด ตำรวจตั้งด่านตลอดเวลา มีการรณรงค์ ถ่ายคลิป มีการแจกรางวัล และตรวจแอลกอฮอล์ตลอดทั้งปีเช่นกัน เพราะกฎหมายบังคับใช้แล้ว การขยายระยะเวลาต้องดูความหนาแน่นของการสัญจร ความหนาแน่นของประชาชนว่าช่วงไหนเป็นช่วงที่มีการใช้ถนนสัญจรเยอะ ก็จะต้องรณรงค์เข้าไปเยอะขึ้น ซึ่งตำรวจทางหลวงอำนวยความสะดวกลดอุบัติเหตุอยู่แล้ว วันนี้ตนได้ประชุมและสั่งให้ทุกหน่วยในเรื่องมาตรการ สิ่งแรกคือการขอคืนพื้นผิวจราจรและทุกอย่างให้รายงานเข้ามาตั้งแต่ 16 ธ.ค.


กำลังโหลดความคิดเห็น