xs
xsm
sm
md
lg

ส่องระบบ "แพทย์ทางไกล" รพ.สต.แม่ตืน-รพ.ลี้ จ.ลำพูน ดูแลผู้ป่วยพื้นที่ห่างไกล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รพ.สต.แม่ตืน-ศูนย์สุขภาพชุมชน รพ.ลี้ จ.ลำพูน จัดบริการดูแลผู้ป่วยผ่านระบบการแพทย์ทางไกล นำร่องกลุ่มโรคเรื้อรัง ลดภาระเดินทางของผู้ป่วยพื้นที่ห่างไกล ด้าน รพ.ลี้ จัดระบบ Telemedicine ผ่านรถกู้ชีพ-รถรับส่งต่อ ลดภาวะแทรกซ้อนระหว่างส่งต่อ-แพทย์เตรียมการได้ดีขึ้น

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ตืน (รพ.สต.แม่ตืน) อ.ลี้ จ.ลำพูน และโรงพยาบาลลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน เพื่อเยี่ยมชมการจัดบริการปฐมภูมิ (PCC) และบริการดูแลผู้ป่วยด้วยระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)

นายรังสรรค์ วัชรกาวิน ผู้อำนวยการ รพ.สต.แม่ตืน เปิดเผยว่า สำหรับการจัดบริการดูแลผู้ป่วยผ่านระบบ Telemedicine สืบเนื่องมาจากเคยดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ผ่านระบบดูแลตัวเองที่บ้าน (Home Isolation : HI) มาก่อนแล้ว จึงนำมาประยุกต์ใช้เพราะมองว่ายังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่สะดวกเดินทางมาที่ รพ.สต. โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง และกลุ่มโรคเรื้อรัง


นอกจากนี้ รพ.สต.แม่ตืน ยังเป็นแม่ข่ายของเครือข่ายบริการปฐมภูมิใน ต.แม่ตืน มีลูกข่ายอีก 2 รพ.สต. ได้แก่ รพ.สต.แม่ป๊อก และ รพ.สต.บ้านปาง รวมประชากรทั้งเครือข่ายที่ต้องดูแลประมาณ 1 หมื่นคน ทำให้ รพ.สต.แม่ตืน ยกระดับเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวอยู่ประจำ ทำให้เวลาเจ็บป่วย ชาวบ้านจะมารับบริการที่นี่ก่อนเพราะมั่นใจว่ามีแพทย์

อย่างไรก็ดี ในขณะนี้มีผู้ป่วยที่เข้าร่วมดูแลผ่านระบบ Telemedicine ของ รพ.สต.แม่ตืนประมาณ 5-6 ราย โดยจะเริ่มจัดบริการทุกวันพุธ มีการนัดคิวผู้ป่วยก่อนเข้ารับบริการ เมื่อเสร็จสิ้นการตรวจแล้วแพทย์ก็จะออกใบสั่งยา หากผู้ป่วยอยู่ในบริเวณ รพ.สต.ลูกข่าย ก็จะมีการให้ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มารับยาและส่งให้ผู้ป่วยที่บ้าน แต่ถ้าพบแพทย์และแพทย์เห็นว่าต้องมีการตรวจเพิ่มเติมก็จะนัดผู้ป่วยให้เข้ามารับบริการที่ รพ.สต. ต่อไป

“เริ่มต้นจากโรคเรื้อรังเป็นกลุ่มแรก ซึ่งในอนาคตก็อาจจะขยายไปที่ผู้ป่วยติดเตียง เพราะมองว่าการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียงค่อนข้างลำบาก ถ้าเราใช้ระบบ Telemedicine เข้ามา น่าจะตอบโจทย์ในเรื่องของการเคลื่อนไหวของคนไข้ ตอนนี้เริ่มทดลองใช้มีผู้ป่วย 5-6 ราย แต่ก็เริ่มมีคนสนใจ เข้ามาสอบถามรายละเอียดมากขึ้น ตอนนี้เราก็อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาและทำการบ้าน” นายรังสรรค์ ระบุ


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จุดเด่นของ รพ.สต. แม่ตืนคือมีระบบให้บริการที่เข้าถึงผู้ป่วย เช่น การมีระบบดูแลทางไกลผ่านระบบ Telemedicine ซึ่งในอดีตอาจจะคิดว่าระบบดังกล่าวจะอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่และอยู่ในเมืองที่เจริญ แต่ที่ รพ.สต.แม่ตืนอยู่ห่างไกลจาก อ.เมืองก็ได้พัฒนาระบบนี้ขึ้นมา ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีระบบที่ค่อนข้างดี มีการพิสูจน์ตัวตนผู้เข้ารับบริการ เมื่อมีการให้บริการก็จะมีการบันทึกข้อมูลเข้าระบบที่รวมทั้งจังหวัด ทำให้แพทย์สามารถดูประวัติผู้ป่วยได้ในกรณีที่เคยรักษาที่อื่นมาก่อน และทำให้สามารถติดตามการรักษาได้

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าระบบดังกล่าวจะเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และเป็นตัวอย่างให้แก่ รพ.สต. ที่อื่นได้ ซึ่ง สปสช. ก็เห็นความสำคัญตรงนี้และก็ได้จัดระบบที่จะพัฒนาและเสริมให้สามารถทำกิจกรรมได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ผ่านงบประมาณค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ สปสช. พยายามจัดกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนให้เห็นว่าหากมีการลงทุนในลักษณะดังกล่าว แล้วเกิดค่าใช้จ่าย สปสช.จะเป็นคนลงไปดูแล เพราะเชื่อว่าการทำระบบดังกล่าวขึ้นมาประชาชนที่ได้รับบริการจะได้รับประโยชน์ สำหรับงบประมาณนั้นอาจจะไม่ได้จัดเป็นงบประมาณปกติ แต่จะเป็นการเติมเข้าไป เช่น เมื่อมีการให้บริการ Telemedicine หรือลงไปดูแลผู้ป่วยที่ที่บ้าน สปสช.ก็จะมีการเสริมงบประมาณให้

“วันนี้ก็ได้มีการมาชี้แจงให้กับโรงพยาบาลได้ทราบว่า สปสช. มีการจัดงบประมาณอย่างไร รวมไปถึงทราบปัญหาของโปรแกรมของ สปสช. ซึ่งก็จะต้องช่วยดูการเชื่อมโปรแกรมต่างๆ ให้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะโปรแกรมเบิกจ่าย ซึ่งหากมีการเบิกจ่ายได้อย่างรวดเร็วก็เชื่อว่าจะทำให้งานต่างๆ มีความสำเร็จดีขึ้น และเมื่อที่อื่นเห็นว่าเป็นบทเรียนก็จะสามารถพัฒนาได้รวดเร็วขึ้น” นพ.จเด็จ กล่าว


วันเดียวกันนั้น คณะผู้บริหาร สปสช. ยังได้เดินทางลงไปเยี่ยมชมการจัดบริการดูแลผู้ป่วยผ่านระบบ Telemedicine ของศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลลี้ และการนำระบบดังกล่าวมาใช้ในบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ผ่านการติดตั้งระบบ Telemedicine ที่รถพยาบาลกู้ชีพขั้นสูง (EMS Advanced) และรถส่งต่อผู้ป่วย

นพ.เผ่าพงศ์ สุนทร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลี้ กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยผ่านระบบ Telemedicine ของศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลลี้สืบเนื่องจากการที่เคยได้ดูแลผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ด้วยระบบ HI ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่ต้องลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่เมื่อภายหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้นก็คิดว่าการใช้ระบบ Telemedicine ในการดูแลผู้ป่วยน่าจะเป็นเรื่องสำคัญ สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ เนื่องจากยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่อยู่ห่างไกล ไม่สามารถเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลได้อย่างสะดวก เพราะ อ.ลี้มีพื้นที่ขนาดใหญ่และโรงพยาบาลค่อนข้างอยู่ห่างไกล

อย่างไรก็ดี บริการดูแลประชาชนด้วยระบบ Telemedicine ของศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลลี้ เริ่มดำเนินการในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา โดยจัดกลุ่มโรคที่สามารถดูแลผ่านระบบทางไกล เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ที่มีระดับน้ำตาลคงที่ที่อาจจะต้องมีการติดตามอาการ ตรงนี้ก็จะมีการประสานกับ อสม. ลงไปเจาะเลือดผู้ป่วยที่บ้าน และติดต่อแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่โรงพยาบาลผ่านระบบ Telemedicine หากแพทย์พบว่าผู้ป่วยมีค่าน้ำตาล หรือมีอาการผิดปกติก็จะมีการนัดมาที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจซ้ำต่อไป ซึ่งในอนาคตก็จะต่อยอดไปถึงผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงด้วย

“ตอนนี้ให้บริการ Telemedicine ไปแล้ว 28 รายจาก 65 ราย ซึ่งคัดเลือกจากคนที่มีผลเลือดดี ค่าคงที่ ส่วนมากผู้ป่วยที่ดูแลผ่านระบบ Telemedicine จะใช้ความสมัครใจเป็นหลัก ซึ่งผลตอบรับผู้ป่วยพึงพอใจ เพราะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย สามารถติดต่อแพทย์ที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมานั่งคอยที่โรงพยาบาล” นพ.เผ่าพงศ์ ระบุ


นพ.เผ่าพงศ์ กล่าวต่อไปว่า โรงพยาบาลลี้ยังได้นำระบบ Telemedicine มาติดตั้งและนำมาใช้ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน รถพยาบาลกู้ชีพขั้นสูง หรือ รถ EMS Advanced จำนวน 1 คัน ที่ใช้รับส่งคนไข้ใน อ.ลี้ และรถส่งต่อผู้ป่วย 1 คัน ที่ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลลำพูน โดยจะติดตั้งกล้องไว้ 2 ส่วน ส่วนแรกคือส่องไปที่ผู้ป่วย และอีกหนึ่งส่วนคือส่องไปที่บุคลากรทางแพทย์ที่ทำการรักษาในขณะนั้น ตรงนี้ก็จะทำให้แพทย์ในห้องฉุกเฉินเตรียมตัวได้ดีขึ้น และยังสามารถดูสัญญาณชีพ และสั่งการผ่านระบบได้ โดยในปี 2565 มีผู้รับบริการ EMS แล้วจำนวน 35 ราย และผู้ป่วยส่งต่อ จำนวน 44 ราย

“เนื่องจาก อ.ลี้ เป็นพื้นที่ที่ห่างไกลจากตัวเมืองลำพูนประมาณ 105 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางร่วม 1 ชั่วโมง ถ้ามีเคสที่เราจะต้องส่งต่ออาจจะมีภาวะฉุกเฉิน หรือแทรกซ้อนระหว่างการส่งต่อ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยง ฉะนั้นเมื่อเรามีระบบส่งต่อโดยมีระบบ Telemedicine เข้ามา แพทย์ที่โรงพยาบาลลำพูนที่รับส่งต่อ ทีมแพทย์ที่โรงพยาบาลลี้ และแพทย์ที่อยู่ในรถส่งต่อจะสามารถสื่อสารกันได้” นพ.เผ่าพงศ์ ระบุ






กำลังโหลดความคิดเห็น