ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยผลโพล ย้ำ คนกรุงเทพฯ พอใจผลงาน 6 เดือน “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” เผย Traffy fondue แก้ปัญหาไปแล้ว 130,000 เรื่องร้องเรียน ยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นให้ประชาชน
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์กับรายการสนามข่าว 101 ถึงประเด็น “การลงพื้นที่ของผู้ว่าฯ กทม.เป็นการไปรับฟังปัญหาและส่งต่อให้ทีมบุคลากร ทั้ง กทม.ประมาณ 88,000 คน ร่วมกันแก้ไขและหลังจากนั้นผู้ว่าฯ ก็เป็นคนไปรับ feedback กลับมาพัฒนางาน ดังนั้น จึงเป็นการทำงานที่เป็นวงกลม” ว่า จากผลของศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “6 เดือนผู้ว่าฯ ชัชชาติ” กับการทำงาน ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25-30 พฤศจิกายน 2565 จำนวน 1,500 หน่วย โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0 พบว่าคนค่อนข้างพอใจ ร้อยละ 42.60 พอใจมาก ร้อยละ 38.93 ไม่ค่อยพอใจ ร้อยละ 10.54 และไม่พอใจเลย ร้อยละ 7.93
โพลของผลงาน 6 เดือน จึงเป็นที่น่าพอใจ เพราะคนกรุงเทพฯ กว่า 80% มีความพึงพอใจ โดยผู้ว่าฯ กทม.เป็นผู้เสนอเองว่าสิ่งแรกที่ต้องทำคือการทำให้ประชาชนไว้ใจเราให้ได้ ถ้าประชาชนไม่ไว้ใจเราจะไม่สามารถไปต่อได้ เขาจะเลือกเราหรือไม่เลือกไม่เป็นไรแต่ต้องไว้ใจเรา ซึ่งเราต้องแสดงความโปร่งใสในการรับฟังความคิดเห็นเพื่อทำลายความไม่ไว้วางใจ และนั่นคือ ที่มาของ Traffy Fondue ซึ่งคนที่แจ้งเรื่องไม่จำเป็นต้องรู้จักผู้บริหาร กทม.หรือ ผอ. เขต หรือข้าราชการแต่ สามารถแจ้งเข้าระบบดิจิตอลเข้าไปแล้วระบบหลังบ้านจะดำเนินเรื่องตามความคืบหน้าให้คุณเอง และนี่คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่า กทม.สามารถตอบสนองอะไรบางอย่างได้
ทั้งนี้ ระบบ Traffy Fondue เป็นระบบ AI ที่ไม่สามารถโกหกได้ ซึ่งเรื่องที่ร้องเรียนจะตรงไปที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที และมีผู้บริหารส่วนกลางคือผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้กำกับดูแล รวมถึงสวทช.ที่ดูแลเรื่องระบบดังกล่าว รวมถึงมีการติดตามผลการดำเนินการโดยผู้บริหารกรุงเทพมหานครระดับสูง เช่น รองปลัด กทม. และ ผอ.สำนัก ที่กำกับดูแลควบคุมกรุงเทพฯโซนต่างๆ 6 โซน ซึ่งเรื่องร้องเรียนที่ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการแก้ไขภายใน 3-7 วัน หากเรื่องดังกล่าวไม่มีความคืบหน้าและได้รับการแก้ไขภายใน 15 วัน จะมีการทวงถามผลดำเนินการและหากไม่มีผลการดำเนินการภายใน 1 เดือนจะแจ้งไปที่ปลัดกรุงเทพมหานคร โดยขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนในระบบทั้งสิ้นประมาณ 180,000 เรื่องแก้ไขไปแล้วประมาณ 130,000 เรื่อง อยู่ระหว่างติดตามเรื่องอีกประมาณ 50,000 เรื่อง ซึ่งระบบ Traffy Fondue สามารถทำลายระบบราชการแบบเก่าที่ล่าช้า สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันคนใช้ระบบนี้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสามารถแก้ปัญหาบางปัญหาที่เคยร้องเรียนกว่า 10 ปีแล้วไม่มีความคืบหน้าได้
สำหรับในส่วนของการที่ผู้ว่าฯ กทม.และ ผู้บริหาร กทม.ลงพื้นที่ไปพบปะประชาชนเพื่อสอบถามปัญหานั้น บางคนอาจจะคิดว่าเป็นการสร้างอีเวนต์ เป็นการสร้างภาพ แต่อยากจะบอกว่าไม่เคยมีผู้บริหารท่านใดที่ลงพื้นที่ในลักษณะนี้ซึ่งเหนื่อยมากและใช้เวลามาก จึงมีการมอบอำนาจให้รองผู้ว่าราชการทั้ง 4 คน รวมถึงทีมผู้บริหารฝ่ายการเมือง ลงพื้นที่เพื่อดูแลปัญหาด้านต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย จึงทำให้ผู้ว่าฯ กทม. มีเวลามากขึ้นเพื่อไปดูแลเรื่องอื่นๆ นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายภารกิจให้ข้าราชการประจำ 24,000 คน ข้าราชการครู 16,000 คน ลูกจ้างประจำ 32,000 คน ลูกจ้างชั่วคราว 16,000 คน รวมทั้งสิ้น 88,000 คน ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งผลงานการปฏิบัติจะนำไปสู่ประชาชน กว่า 10 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่จะได้รับประโยชน์ แล้วผู้ว่าฯ กทม.ก็จะลงพื้นที่อีกเพื่อสำรวจ feedback จากประชาชน 10 ล้านคน ว่า มีความพึงพอใจหรือไม่การทำงานก็จะเป็นวงกลมในลักษณะนี้
สำหรับในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่หลายคนสงสัยนั้นเป็นเรื่องที่เกินอำนาจของ กทม. ซึ่ง กทม. ก็ดำเนินการครบถ้วนตามระบบแล้วไม่ว่าจะเป็นการผ่าน สภา กทม. รัฐสภา ครม. โดยให้กรุงเทพธนาคมเป็นผู้ตรวจสอบตามอำนาจทั้งหมดที่ กทม.มีครบถ้วนแล้ว สิ่งที่ กทม.ทำได้เราได้ทำทั้งหมดแล้ว โดยขอให้ ครม. สั่งมาว่าอยากให้ กทม.ทำในรูปแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นระบบร่วมทุนที่มีความโปร่งใสหรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม ซึ่งงบประมาณของ กทม.มีพร้อมรองรับค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว รอเพียงความชัดเจนในเรื่องของกระบวนการเท่านั้น ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาพอสมควร
ส่วนในเรื่องของการนำสายสื่อสารลงใต้ดินนั้น รองผู้ว่าฯ กทม.วิษณุ ได้ประสานงานกับ NT (โทรคมนาคมแห่งชาติ) โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่สามารถนำลงใต้ดินไปกับสายไฟของการไฟฟ้านครหลวง อีกส่วนคือการจัดระเบียบสายสื่อสารซึ่งเรื่องทั้งหมดไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจาก กทม.ไม่ได้มีอำนาจเต็มทางด้านนี้ผู้ที่มีอำนาจและเกี่ยวข้อง คือ กสทช. ซึ่งหาก กสทช.สั่งการมา กทม.ยินดีที่จะดำเนินการทั้งหมด เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ กทม. ได้ดำเนินการทุกอย่างไปจนสุดอำนาจที่สามารถทำได้แล้ว และได้รับความร่วมมือด้วยดีจากทุกฝ่ายภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา