xs
xsm
sm
md
lg

สธ.สรุปชัดคนไทยควรรับ "วัคซีนโควิด" 4 เข็ม เร่งฉีดลดป่วยตายก่อนปีใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เคาะชัด ทุกคนควรฉีดวัคซีนโควิด 4 เข็ม พบยังฉีดน้อยแค่ 4% ตั้งเป้าฉีดอีก 2 ล้านโดสให้ถึง 145-146 ล้านโดสในสิ้นปีนี้ เน้นกลุ่ม 608 ที่ยังเสียชีวิตสูง ย้ำฉีดเข็มล่าสุดเกิน 3-4 เดือนมารับได้ทันที เผยแนวโน้มติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ทั้งประเทศ อยู่ใน กทม. ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยว ปรับลดเกณฑ์ให้ยารักษากลุ่มโรคประจำตัวเป็นตามดุลยพินิจแพทย์ ยันเตียงยายังเพียงพอ

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นายกฯ มีความห่วงใยและเน้นย้ำให้ประชาชนไปรับวัคซีนป้องกันโควิด ซึ่ง สธ.ได้หารือกันแล้วเห็นว่า คนไทยต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 4 เข็ม จึงปลอดภัย วันนี้เรามีวัคซีนเพียงพอ จึงขอให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงไปรับวัคซีน

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เริ่มชะลอตัวลง ติดเชื้อราวๆ 4-5 แสนรายต่อวัน แต่อัตราป่วยหนักและเสียชีวิตลดลง ส่วนไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่อาการไม่รุนแรง และไม่ใช่ทั้งประเทศ พบมากในจังหวัดใหญ่ๆ เช่น กทม. ปริมณฑล ชลบุรี เชียงใหม่ และจังหวัดท่องเที่ยว ส่วนจังหวัดเล็กๆ สถานการณ์ยังปกติ การป่วยหนักและเสียชีวิตยังเป็นไปตามคาดการณ์ว่า จะมีการระบาดเพิ่มขึ้นช่วงปลายปี เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว ประชาชนมีการผ่อนคลายมาตรการและมีกิจกรรมรวมตัวกันมากขึ้น โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษาใน รพ. 4,914 ราย เฉลี่ยวันละ 702 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 553 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 319 ราย และเสียชีวิต 74 ราย เฉลี่ยวันละ 10 ราย จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิต 100% คือกลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีน รับวัคซีนไม่ครบ หรือได้รับเข็มสุดท้ายนานเกินกว่า 3 เดือน

"ส่วนสายพันธุ์ที่ระบาดในไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานว่ามีอยู่หลายสายพันธุ์ แต่ BA.2.75 เริ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์คล้ายไข้หวัดใหญ่ไปทุกที ซึ่งเดิมเมื่อก่อนทั่วโลกจะมีสายพันธุ์หลักเหมือนกัน แต่ตอนนี้แต่ละพื้นทีเริ่มแตกต่างกันไปหลายสายพันธุ์ แต่อาการไม่รุนแรง สำหรับอัตราการติดเชื้อซ้ำในไทยอยู่ที่ประมาณ 2% อาการไม่ได้รุนแรงหรือทำให้เสียชีวิตมากกว่าแต่อย่างใด" นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า จากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (อีโอซี) กรณีโรคโควิด 19 ซึ่งมีอาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่หลายท่านเข้าร่วม ก็ไม่ได้กังวลถึงสถานการณ์ในช่วงนี้ โดยให้เน้นมาตรการ 3 เรื่อง คือ 1.ลดการติดเชื้อ โดยสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 คนไปพบกลุ่มเสี่ยงก็ควรสวมหน้ากาก หรือสวมเมื่ออยู่ในพื้นที่แออัดอากาศถ่ายเทไม่สะดวก 2.เรื่องยา ได้ปรับแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด ครั้งที่ 25 โดยปรับลดเกณฑ์การให้ยาในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว มาเป็นการให้ยาตามดุลยพินิจของแพทย์ ทำให้เข้าถึงยาง่ายขึ้น เพราะขณะนี้เรามียาเพียงพอ โดยมียาโมลนูพิราเวียร์ 11 ล้านโดส ปัจจุบันใช้วันละ 2 แสนโดส ใช้ได้ประมาณ 3-4 เดือน ยาฟาวิพิราเวียร์มี 1.3 ล้านโดส ใช้สำหรับเด็กต่ำกว่า 18 ปี ใช้ได้ประมาณ 3 เดือน เรมดิซิเวียร์ 2 แสนโดส ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) 2 แสนโดส และแพกซ์โลวิด 2.5 หมื่นโดส ส่วนเตียงก็มีเพียงพอรองรับการรักษาเช่นกัน ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือนานเกิน 6 เดือน เมื่อติดเชื้อควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อรักษาให้ทันเวลา

และ 3.วัคซีน มีมติเห็นชอบให้รณรงค์สื่อสารให้คนไทยรับวัคซีนโควิดอย่างน้อย 4 เข็ม เนื่องจากมีข้อมูลว่าผู้ที่ฉีด 4 เข็ม ยังไม่มีใครเสียชีวิต ดังนั้น หากรับวัคซีนเข็มสุดท้ายมาแล้ว 3-4 เดือน ก็ให้ไปรับวัคซีนเพิ่มเติม ซึ่งเรากระจายวัคซีนไปถึงระดับ รพ.สต. ซึ่ง รมว.สธ.สั่งการให้เปิดให้บริการแล้ว แม้มีคนมารับเพียงคนเดียวก็ขอให้เปิดขวดฉีด ห้ามปฏิเสธ รวมถึงจัดบริการเชิงรุกในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่เป็นกลุ่มเสี่ยงด้วย และขอความร่วมมือไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. ถ่ายทอดแนวปฏับัติให้บริการฉีดวัคซีนโควิด ทั้งใน รพ.รัฐและเอกชน ทั้งนี้ ตั้งเป้าภายในสิ้นปี 2565 ต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 145 -146 ล้านโดส จากปัจจุบันอยู่ที่ 143 ล้านโดส จึงเหลืออีก 2 ล้านโดสที่ต้องเร่งโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจากข้อมูลผู้ฉีดวัคซีนขณะนี้ พบว่าเป็นเข็ม 4 ประมาณ 4% กว่า ถือว่าน้อยมาก ยืนยันว่าวัคซีนมีเพียงพอ โดยไฟเซอร์มี 9 ล้านโดส รวมถึงแพลตฟอร์มอื่นๆ ไม่ต้องสั่งซื้อเพิ่ม ยกเว้นซิโนแวคที่หมดไปแล้ว

เมื่อถามว่า นโยบายของประเทศต่อจากนี้เป็นอย่างไร จะมีการปิดหรือควบคุมกิจกรรมอีกหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า นโยบายตอนนี้คือควบคุมโรคให้ระบบสุขภาพรองรับได้ ประชาชนใช้ชีวิตปกติ ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีบางประเทศคุมเข้มให้โควิดเป็นศูนย์ แต่ประชาชนเดือดร้อน อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ไทยดำเนินการมาถือว่าถูกทางแล้ว ในการดูแลเรื่องการรักษา ลดการเสียชีวิต ลดความยากลำบากในการใช้ชีวิตให้มีความสมดุล ซึ่งองค์การอนามัยโลกก็ชื่นชม ดังนั้นเราไม่ต้องวิตกเกินไป แต่อย่าประมาท อาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่ก็ไม่มีได้มีความกังวล จนถึงขั้นต้องงดทำกิจกรรมหรือปิดประเทศ แต่เน้นย้ำถึงการฉีดวัคซีนให้เพียงพอ ส่วนกรณีคอนเสิร์ตใหญ่ๆ ที่มีมากขึ้น หากเป็นพื้นที่อากาศปิด อากาศไม่ถ่ายเท คนรวมตัวหน้าแน่น ก็ขอให้ระวัง และสวมหน้ากากอนามัย


กำลังโหลดความคิดเห็น