xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 3 สถานที่ติด "โควิด" เพิ่มต้องเฝ้าระวังเข้ม ไม่ต้องใช้งบจัดหาวัคซีนปี 66 มีของเดิมและบริจาค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เผย 3 สถานที่เสี่ยงยังต้องเข้มเฝ้าระวัง "โควิด" ทั้งตลาด สถานบันเทิง/คอนเสิร์ต และสถานสงเคราะห์ พบติดเชื้อเพิ่ม พบเสียชีวิตยังเป็นกลุ่ม 608 หากยังไม่รับวัคซีน งดทำกิจกรรมนอกบ้าน เร่งฉีดบูสเตอร์หรือมาฉีด LAAB รองรับระบาดปลายปี คกก.โรคติดต่อฯ ไฟเขียวแผนจัดหาวัคซีนโควิดปี 66 ตั้งเป้า 36 ล้านโดส คาดไม่ใช้งบหาเพิ่ม มีวัคซีนที่เตรียมการไว้กับบริจาค มั่นใจเพียงพอ

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 9/2565 ว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 เพิ่มขึ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปลายปีมีกิจกรรมรวมตัวหนาแน่น ตามเทศกาล การเปิดเทอม และเข้าสู่ฤดูหนาว เชื้ออยู่ในสิ่งแวดล้อมนานขึ้น ขณะที่ภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนลดลง จึงเร่งรัดให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ส่วนผู้เสียชีวิต ยังไม่มากกว่าที่คาดการณ์ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับบูสเตอร์ รับเข็มสามมากกว่า 3 เดือน ดังนั้น หากมีผู้สูงอายุที่บ้านยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ขอให้พาไปฉีดเพื่อรองรับการระบาด โดยเราวางแผนรณรงค์เพิ่มเติม วัคซีนมีเพียงพอ โดยเน้นเรื่องเข็มกระตุ้น

นพ.โอภาสกล่าวว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนจัดหาวัคซีนโควิด 19 ปี 2566 ผลการประเมินการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย ซึ่งที่ผ่านมาเราควบคุมได้ดี อยู่ในช่วงกำจัดให้หมดไปจากประเทศไทย แต่ช่วงที่โควิดลดลงมีการเดินทางข้ามชายแดนมากขึ้น จึงพบโรคไข้มาลาเรียพื้นที่แถบชายแดนเพิ่มเติมแต่ไม่มาก จึงเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเร่งรัดกำจัดมาลาเรียโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังเห็นชอบตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 ภายหลังประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อดูแลด้านวิชาการ บริหารจัดการ และการฉีดในระยะต่อไป และแต่งตั้งคณะกรรมการด้านวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร เป็นประธาน

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับแผนการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ปี 2566 เน้นกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มเสี่ยง 608 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่าน หน้า และ อสม. แต่เนื่องจากยังไม่มีคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก จึงใช้ที่คณะกรรมการวิชาการเสนอในเรื่องบูสเตอร์โดส ประมาณ 2 โดสต่อคน ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ 18 ล้านคน อาจต้องเตรียมวัคซีนไว้ 36 ล้านโดส ซึ่งเรามีวัคซีนจากการเตรียมการเมื่อปีที่แล้วยังเหลืออยู่ และรับแจ้งบริจาคมา เข้าใจว่าไม่ต้องใช้งบประมาณจัดหาวัคซีนเลย ส่วนเรื่องวัคซีนรุ่นใหม่ อย่างปัจจุบันจะเป็น วัคซีน Bivalent ก็ยังไม่มีผลการศึกษาว่าทำให้บูสเตอร์ดีกว่า เราจึงใช้วัคซีนเดิมเป็นบูสเตอร์ไปก่อน แต่เรามอบหมายให้ทีมติดตามประสิทธิภาพประสิทธิผลวัคซีนใหม่ หากดีกว่าก็จะนำเข้ามา เบื้องต้นเราก็รับการติดต่อบริจาควัคซีน Bivalent เช่นกัน กำลังให้ทีมวิชาการพิจารณา ซึ่งขณะนี้ตลาดวัคซีนเป็นของผู้ซื้อ ก็จะดูเรื่องวิชาการเป็นหลักก่อนที่จะดูเรื่องจัดซื้อจัดหา


ถามว่าปีหน้าจะเน้นให้กลุ่มเสี่ยงเป็นหลัก รวมประชาชนทั่วไปหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า โดยรวมเป็นกลุ่มเสี่ยงก่อน แต่กลุ่มอื่นหากสมัครใจฉีดก็ไม่ขัดข้อง ซึ่งคิดว่าวัคซีนมีเพียงพอ ทุกอย่างยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ สำหรับวัคซีนรุ่นใหม่เทียบกับรุ่นเดิม ความสามารถการกระตุ้นภูมิคุ้มกันก็ไม่ได้ดีกว่าแบบชัดเจน วัคซีนที่มีอยู่ก็มีประสิทธิภาพ ใครหวังรอรุ่นใหม่ ก็ย้ำว่ารุ่นเดิมยังมีประสิทธิภาพ ส่วนการไปฉีดปีหน้าการนัดหมายล่วงหน้าจะสะดวกที่สุด เรากระจายวัคซีนทุก รพ.ก็ขอติดต่อรับได้

ถามถึงแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด 19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ระดับจังหวัด/กทม. นพ.ธเรศกล่าวว่า ขณะนี้ทุกจังหวัดมีแผนแล้ว มี 4 ยุทธศาสตร์ที่แต่ละจังหวัดจะไปจัดการตามความเสี่ยงของจังหวัด คือ 1.ป้องกัน เฝ้าระวัง ควบคุม ซึ่งเราเฝ้าระวัง 4 แบบ ทั้งเหตุการณ์ สถานพยาบาล เฉพาะกลุ่ม (Sentinel) และเฝ้าระวังเชื้อ ซึ่งจะมีแนวทางจัดการ ว่าเจอระดับนี้จะต้องทำอย่างไร ซึ่งขณะนี้จากการเฝ้าระวังแบบ Sentinel จุดที่ต้องเฝ้าระวังเข้ม คือ ตลาด สถานบันเทิงรวมถึงการจัดงานคอนเสิร์ต เพราะเป็นสถานที่เสี่ยงก็อาจต้องระวัง และสถานสงเคราะห์ก็มีโอกาสเสี่ยงสูง โดยเฉพาะจังหวัดชายแดน ส่วนหนึ่งมาจากแรงงานต่างด้าวหรือไม่ และจังหวัดท่องเที่ยว 2.การรักษา 3การสื่อสาร และ 4.การบริหารจัดการ ทั้งนี้ จะดูสถานการณ์หากรุนแรงขึ้นอาจต้องซ้อมแผนกัน

"หลังลดระดับมาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง คือ เน้นการอยู่ร่วมกับมันได้ สถานการณ์ตอนนี้ก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น แต่ไม่ต้องถึงขั้นตื่นตระหนก อัตราป่วยของเราและทั่วโลกไม่ต่างกัน เราเตรียมระบบรักษาพยาบาล ยา วัคซีน ยา อย่างอัตราครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ 20% เราก็ติดตามอยู่ เมื่อไรเกินจุดที่ตั้งไว้ก็จะปรับระดับและแจ้งเตือนคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดทุกจังหวัด ที่เนร้นย้ำคือ ผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง 608 ที่เสี่ยงเสียชีวิตสูง ต้องเน้นมาตรการทางสังคม หากฉีดวัคซีนไม่ครบ ก็ไม่อยากให้ออกไปสัมผัสข้างนอกมากนัก อย่างการไปมีกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ยังต้องเน้นสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ ยิ่งลูกหลานไปมีกิจกรรม กลับมาต้องหลีกเลี่ยงใกล้ชิดโดยไม่ป้องกัน ส่วนรับวัคซีนเกิน 4 เดือนแล้วหากไม่อยากรับวัคซีนเพิ่มเติมอาจลองมาฉีดเป็นภูมิคุ้มกัน LAAB ก็ได้" นพ.ธเรศกล่าวและว่า กรมฯ จะให้สถาบันบำราศนราดูรเปิดฉีดวัคซีนโควิดทุกวัน เป็นเหมือนศูนย์ฉีดวัคซีนเริ่มในสัปดาห์หน้า ก็สามารถวอล์กอินได้ แต่ทางที่ดีที่สุดอยากให้ติดต่อเข้ามาก่อน เพื่อจะได้ไม่ต้องรอคิวนาน โดยเรามีวัคซีนทุกชนิด สามารถเข้ามาฉีดได้ทุกกลุ่ม รวมถึงอาจให้เปิดฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ด้วย

เสียชีวิตรอบสัปดาห์เกือบ 10 รายต่อวัน

ด้านเฟซบุ๊กเพจ ศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมประชาสัมพันธ์ รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย รอบสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 13 - 19 พฤศจิกายน 2565 มีผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) จำนวน 3,957 ราย เฉลี่ยรายวัน จำนวน 565 ราย/วัน ผู้เสียชีวิตรวมจำนวน 69 ราย เฉลี่ย 9.8 ราย/วัน

จำนวนผู้หายป่วยสะสม2,478,895 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) เสียชีวิตสะสม 11,408 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ยกเลิกประกาศให้โรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และประกาศให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังแทน เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2565

ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมตั้งแต่เริ่มระบาดในประเทศไทยเมื่อต้นปี 2563 มีทั้งสิ้น 4,699,164 ราย ผู้เสียชีวิต 33,134 ราย


กำลังโหลดความคิดเห็น