xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงมนุษย์เงินเดือนสุดเสี่ยง “เบาหวาน” เหตุยิ่งเครียดยิ่งกิน “สูงวัย” ป่วยพุ่ง 21%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ห่วง ผู้สูงอายุ” พบป่วย “เบาหวาน” 21% ย้ำ ต้องเข้มอาหาร เหตุยาคุมน้ำตาลได้ 45-60 กรัมต่อมื้อ ต้องไม่กินจุบจิบ เน้นอาหารกากใยสูง ส่วนมนุษย์เงินเดือนสุดเสี่ยง เหตุทำงานยิ่งเครียดยิ่งกินของหวาน ชี้ แก้ปัญหาผิดจุด แถมกระทบสุขภาพ หวั่นน้ำตาลในเลือดสูงมาก ทำแทรกซ้อน

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงวันเบาหวานโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 14 พ.ย.ของทุกปี ว่า ผู้สูงอายุในระบบ 9,527,054 คน คัดกรองสุขภาพ 7,501,688 คน หรือ 78.74% พบปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่ คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นความดันโลหิตสูงมากสุด 46.06% เบาหวาน 21.12% ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เกิดจากร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน เนื่องจากตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่พอ ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน เกิดจากกรรมพันธุ์ หรือสภาพแวดล้อม เช่น ความอ้วน ความชรา ขาดออกกำลังกาย โรคหรือยาบางกลุ่ม เป็นต้น ไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่ป้องกันและควบคุมไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ ถ้าคุมระดับน้ำตาลและน้ำหนักตัวได้เป็นอย่างดี

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมอาหารและน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในภาวะปกติ โดยกินอาหารให้ตรงเวลา ครบ 3 มื้อ ปริมาณถูกสัดส่วน เพราะยาเบาหวานควบคุมน้ำตาลจากอาหารได้ 45-60 กรัมต่อมื้อ คิดเป็นข้าวสวยไม่เกิน 3-4 ทัพพี จึงต้องไม่กินจุบจิบ เลือกกินอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต หรือธัญพืชไม่ขัดสี จะทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลช้าลง ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ นอกจากนี้ ควรงดกินน้ำตาลเกินจำเป็น เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ผลไม้หวานจัด น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน ไอศกรีม และเบเกอรีต่างๆ ควรเลือกผลไม้ไม่หวานจัดปริมาณเหมาะสม เช่น กล้วย แอปเปิลเขียว ฝรั่ง ส่วนนมจืด นมไขมันต่ำพร่องมันเนย ไม่ควรดื่มเกิน 1 แก้วต่อวัน สำหรับนมเปรี้ยวมีน้ำตาลสูง ไม่ควรดื่มทุกวัน

ด้าน นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า คนทำงานหนักเกินไป เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน สาเหตุคือ พฤติกรรมการกินอาหารของหวาน ของมัน ของทอด โดยเฉพาะเมื่อทำงานหนัก เกิดความเครียดร่างกายต้องการของหวานเติมเต็ม เพราะบรรเทาความเครียดได้ ของหวานที่มีน้ำตาลสูงจะช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลและอะดรีนาลีนที่จะหลั่งออกมาเวลารู้สึกเครียด เมื่อเครียดมากจึงกินมากขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นแถมทำลายสุขภาพอย่างมาก

นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผอ.รพ.นพรัตนราชธานี กล่าวว่า ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติเป็นเวลานาน ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ ได้ เช่น ตา ไต ระบบประสาท โรคเบาหวานแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ ประเภท 2 เกิดจากการที่ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอต่อการใช้ หรือดื้ออินซูลิน และประเภทที่ 3 เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งพัฒนาขึ้นระหว่างตั้งครรภ์จากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน โดยไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อน สำหรับอาการของโรคเบาหวาน ได้แก่ รู้สึกหิวบ่อย กระหายน้ำ ปัสสาวะปริมาณมากและบ่อย เหนื่อย อ่อนเพลีย ผิวแห้งเกิดอาการคันบริเวณผิวหนัง ตาแห้ง มีอาการชาที่เท้า หรือรู้สึกเจ็บแปลบๆ ที่ปลายเท้าหรือที่เท้า ร่างกายซูบผอมลงผิดปกติ โดยไม่ทราบสาเหตุ หากมีอาการเหล่านี้ บวกกับพฤติกรรมการกินที่ไม่ค่อยระวังเรื่องแป้ง และน้ำตาล อาจกำลังเป็นโรคเบาหวาน ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาต่อไป การป้องกัน คือ ระวังระดับน้ำตาลในเลือดและคอเลสเตอรอลให้อยู่เกณฑ์ปกติ เน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ สารอาหารครบถ้วน มีกากใยสูง หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พบแพทย์ตามนัด


กำลังโหลดความคิดเห็น