รพ.ราชวิถี เปิดบริการ "คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุ" นอกเวลาราชการเพิ่มทุกวันเสาร์ ให้บริการแบบครบวงจร ช่วยญาติครอบครัวพามารักษาโดยไม่ต้องลางาน
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย ปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 13,358,751 คน คิดเป็น 19.6% ของประชากร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้สูงอายุจะมีการความเสื่อมถอยทางด้านร่างกาย มักพบโรคประจำตัวมากกว่า 2 โรค มีการใช้ยาอย่างน้อย 4 ชนิดขึ้นไป ประสบปัญหาทางด้านจิตใจ การเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ทางสังคม เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่ต้องรับบริการด้านสุขภาพ ปัจจุบันพบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีภาวะโรคเรื้อรังร่วมหลายโรค เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หลอดเลือดสมอง และโรคเฉพาะผู้สูงอายุ เช่น สมองเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม ภาวะเสี่ยงพลัดตกหกล้ม และกลุ่มเสี่ยงอ้วน หน่วยงานสาธารณสุขต้องเตรียมความพร้อมให้บริการทางสังคมและสุขภาพ สอดคล้องกับแผนพัฒนาผู้สูงอายุแห่งชาติและนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ในการปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในปัจจุบันและอนาคต โดยผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพ เท่าเทียม เพื่อเข้าสู่ภาวะวัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพ
นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าวว่า รพ.ราชวิถี มีผู้สูงอายุมารับบริการเป็นจำนวนมาก ทั้งแผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยแผนกผู้ป่วยนอกมีผู้สูงอายุมาใช้บริการมากกว่า 3 แสนรายต่อปี แผนกผู้ป่วยในมีผู้สูงอายุมาใช้บริการกว่า 1 หมื่นรายต่อปี มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทั้งสองแผนก ทั้งนี้ ในวันปกติผู้สูงอายุบางคนต้องเดินทางมารับการตรวจรักษาเพียงลำพัง ญาติหรือครอบครัวไม่สามารถลางานเพื่อพามาได้ ทำให้ผู้สูงอายุได้รับข้อมูลเพื่อดูแลต่อเนื่องที่บ้านอาจไม่ครบถ้วน การเปิดคลินิกสุขภาพผู้สูงอายุ (นอกเวลาราชการ) จะทำให้ญาติหรือครอบครัวพาผู้สูงอายุมาตรวจในวันหยุดได้ อีกทั้งการมีผู้ดูแลมาด้วยจะทำให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกโดดเดี่ยว มีกำลังใจดูแลตนเองมากขึ้น สำหรับคลินิกสุขภาพผู้สูงอายุ รพ.ราชวิถี เปิดให้บริการในทุกวันพฤหัสบดี วันศุกร์ และวันเสาร์ เวลา 08.00 – 12.00 น. ที่คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุ ชั้น 2 อาคารทศมินทราธิราช สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 065 896 4963
"ผู้สูงอายุควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพตนเอง โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดการบริโภคในกลุ่มของแป้ง น้ำตาล และไขมันลง เน้นอาหารจำพวกโปรตีนจากเนื้อปลามากขึ้น พยายามควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนจนเกินไป ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ สัมผัสอากาศที่บริสุทธิ์ หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม เช่น การซื้อยามากินเอง กินยาเดิมที่เก็บไว้ หรือรับยามาจากผู้อื่น หมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย รับการตรวจสุขภาพประจำปี ทำจิตใจให้แจ่มใส มองโลกในแง่ดี ไม่เครียดหรือวิตกกังวลกับเรื่องต่างๆ มากเกินไป เพียงเท่านี้จะช่วยให้เป็นผู้สูงอายุที่สุขภาพดีอย่างแท้จริง" นพ.จินดากล่าว