xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายกัญชาเสรีจะทำให้สถิติคนเป็นโรคจิตเพิ่มขึ้น จริงหรือไม่ / รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์
หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ความห่วงกังวลของสังคมต่อนโยบายกัญชาเสรีเรื่องหนึ่งคือกลัวว่าจะทำให้มีคน “เป็นโรคจิต” เพิ่มขึ้น แต่จากสถิติข้อมูลของต่างประเทศและของไทยเอง พบว่า สถิติจำนวนคนเป็นโรคจิตลดลงและมาใช้บริการลดลง

การศึกษาในต่างประเทศ
มีงานวิจัยแบบอภิมาน (Meta-analysis) สรุปว่า การบริโภคกัญชาขนาดสูงทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคจิต คิดเป็น 3.9 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้ [1]

จุดอ่อนที่สำคัญของงานวิจัยนี้ คือ 1) มีการรวมเอางานวิจัยแบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional study) จำนวนมากถึง 4 ใน 10 มาวิเคราะห์ ข้อจำกัดของงานวิจัยประเภทนี้คือ ไม่สามารถบอกลำดับก่อนหลังของเหตุการณ์ได้ นั่นคือ บอกไม่ได้ว่า ใช้กัญชาก่อนมีอาการทางจิต หรือ ป่วยทางจิตก่อนจึงมาใช้กัญชา, 2) การวัดผลลัพธ์ว่า “เป็นโรคจิต” หรือไม่นั้น ไม่ได้ใช้เกณฑ์การตัดสินและวิธีวินิจฉัยที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน บางงานวิจัยใช้ข้อมูลตามที่ “ผู้ป่วยบอก” เท่านั้น ไม่ได้เป็นการวินิจฉัยโดยแพทย์, บางงานวิจัยนับเอาอาการทางจิตประสาทระยะสั้นเข้าไปด้วย, บางงานระบุว่า ต้องมีอาการโรคจิต 1 อาการขึ้นไป บางงานระบุว่า ต้องมีอาการทางจิต 2 อย่างขึ้นไป คณะนักวิจัยสรุปว่า ไม่สามารถยืนยันได้ว่ากัญชาคือสาเหตุของโรคจิต [1]

การศึกษาของนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์และคิงส์คอลเลจ ประเทศอังกฤษ พบว่า แม้ว่าคนอังกฤษจะมีการใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้นถึง 20 เท่าในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา แต่สถิติอุบัติการณ์และความชุกของการเป็นโรคจิตในอังกฤษก็ยังคงมีอัตราคงที่ มาโดยตลอด และกลับมีแนวโน้มลดลง [2]

การวิจัยที่ประเทศเดนมาร์ค พบว่า การใช้กัญชาไม่สัมพันธ์กับการเกิดโรคอารมณ์สองขั้ว (โรคไบโพล่าร์) คนป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้วอยู่ก่อนแล้ว จึงมาใช้กัญชาในภายหลัง [3]
สอดคล้องกับการศึกษาของนักวิจัยประเทศแคนาดา ที่สรุปว่า คนที่เป็นโรคจิต มักจะมีพันธุกรรม ที่เสี่ยงจะเป็นโรคจิตอยู่ก่อน แม้ไม่ใช้กัญชา [4]

ศาสตราจารย์ คาร์ล ฮาร์ด (Carl Hart) ผู้เชี่ยวชาญด้านสารเสพติด แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา รวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้าน (Totality of evidence) และใช้กรอบการวิเคราะห์ความเป็นสาเหตุ (Causation) ตามแนวคิดของ เซอร์ แบรดฟอร์ด ฮิล (Sir Bradford Hill’s Criteria) [5]

สรุปว่า กัญชาไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคจิต แต่กลับพบว่าคนเป็นโรคจิตหรือเสี่ยงที่จะเป็นโรคจิตมีแนวโน้มจะใช้กัญชา ท่านเสนอให้นักวิจัยเรื่องโรคจิต ศึกษาปัจจัยอื่นๆ ที่น่าจะมีผลทำให้เกิดโรคจิต เช่น การใช้สารเสพติดอื่นๆ [6]

ความชุกของโรคจิตในประเทศไทย
จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขของไทย พบว่า ปี งบประมาณ 2565มีผู้ป่วยโรคจิต จำนวน 333,318 คน หรือคิดเป็นความชุก เท่ากับ ร้อยละ 0.50 (ข้อมูล ณ วันที่ 8 พ.ย. 2565) [7]

เมื่อเปรียบเทียบกับผลการศึกษาในอดีต เมื่อปี พ.ศ.2556 พบว่า อัตราความชุก (ชั่วชีวิต) เท่ากับร้อยละ 0.7 และอัตราความชุก (หนึ่งเดือนหรือเฉียบพลัน) เท่ากับ ร้อยละ 0.6 [8]

แสดงว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคจิตลดลง!

สถิติการมารับบริการของผู้ป่วยโรคจิต
จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขเช่นกัน พบว่า สถิติการมารับบริการของผู้ป่วยโรคจิตมีแนวโน้ม “ลดลง” ดังนี้ ปี 2564 ผู้ป่วยโรคจิตทั้งประเทศมารับบริการทั้งหมด รวม 1,433,520 ครั้ง(ข้อมูล ณ วันที่ 18 พ.ย. 2564) ในขณะที่ปี 2565 มารับบริการ 1,421,562 ครั้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 8 พ.ย. 2565) [7]

นั่นคือ ผู้ป่วยโรคจิตมารับบริการ “ลดลง” เท่ากับ 11,958 ครั้ง !

สถิติการมารับบริการด้วย "อาการความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการเสพกัญชา"
จากรายงานของกรมสุขภาพจิต นำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 [9]

พบว่า สถิติการมารับบริการด้วย “อาการความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการเสพกัญชา”(รหัสโรค คือ F12) ของโรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิตจำนวน 14 แห่งทั่วประเทศ มีแนวโน้ม “ลดลง” ดังนี้ ปีงบประมาณ 2564 (ข้อมูลช่วง 10 เดือน ตค.63 ถึง กค.64) เท่ากับ 12,235ครั้ง, ปีงบประมาณ 2565 (ช่วงเวลา 10 เดือนเช่นกัน) เท่ากับ10,561ครั้งนั่นคือ ลดลง เท่ากับ 1,674 ครั้งเป็นผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 3,922 คน (ข้อมูล มค.-กย.65)

มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า จำนวนผู้ป่วยแต่ละเขต แตกต่างกันมาก ดังนี้ จากสถิติปี 2565 น้อยที่สุดคือ เขตสุขภาพที่ 2 จำนวน 5 ครั้ง (คิดเป็นอัตรา 0.001 ครั้งต่อประชากรพันคน หรือแปลว่า ประชากรล้านคนจะเจอ 1 ครั้ง) และสูงสุด คือ เขตสุขภาพที่ 11 จำนวน 526 ครั้ง (คิดเป็นอัตรา 0.12 ครั้งต่อประชากรพันคน หรือแปลว่า ประชากรหนึ่งหมื่นคนจะเจอ 1 ครั้ง)

จึงน่าศึกษารายละเอียดของข้อมูลชุดนี้ต่อไปว่า เป็นเพราะจำนวนประชาชนในแต่ละเขตที่ใช้กัญชาแตกต่างกันมาก หรือเป็นเพราะแพทย์แต่ละเขตใช้เกณฑ์การวินิจฉัยที่แตกต่างกัน,เป็นคนไข้ทั่วไปหรือเป็นผู้ป่วยโรคจิตอยู่เดิมและผู้ป่วยใช้กัญชาอย่างเดียวหรือมีการใช้สารเสพติดอย่างอื่นร่วมไปด้วย

นอกจากนี้ พบว่า แบบแผนของ “ภาวะความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการเสพกัญชา” ของปีงบประมาณ 2564 และ 2565 รายเดือน มีจำนวนมากในเดือนตุลาคม แล้วค่อยๆลดลง อย่างต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายน แล้วกลับมา “เพิ่มแบบก้าวกระโดด” อีกทีในเดือนตุลาคมของปีต่อมา เป็นเช่นนี้เหมือนกันทั้งสองปี

และเป็นที่น่าสังเกตมากคือ สถิติไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกตในเดือนมิถุนายน 2565 หลังจากที่มีการปลดล็อค กัญชาออกจากยาเสพติดและมีผลทางกฎหมายแล้ว

การวินิจฉัย “อาการความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการเสพกัญชา” (รหัสโรค คือ F12) นี้นั้น เมื่อเทียบเคียงกับนิยามขององค์การอนามัยโลก ภาวะนี้ ไม่ใช่การ “เป็นโรคจิต” [10] เพราะถ้าวินิจฉัยว่า “เป็นโรคจิต” จะให้รหัสเป็น F20 ถึง F29 [11]

คนที่เมากัญชา จะมีอาการง่วงนอน มึนงง วิตกกังวล หรือคลื่นไส้อาเจียน ได้ แต่แก้ได้ด้วยการกินน้ำมะนาวและนอนพัก จะสร่างเมา อาการจะดีขึ้นจนเป็นปกติ ต่างจากคนเมาเหล้า ที่จะมีอาการก้าวร้าว เอะอะ โวยวาย

อาการเมากัญชา เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ ถ้าไม่ใช้กัญชาเกินขนาด โดยเริ่มเพียงขนาดน้อยๆและค่อยๆเพิ่มทีละช้าๆ

กัญชาสังเคราะห์ คือ ผู้ร้ายตัวจริง
สิ่งที่มีอันตรายมากจริง คือ “กัญชาสังเคราะห์” เพราะทำให้เกิดอาการทางจิต มีผลต่อการเต้นของหัวใจ ทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ และมีผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ อีกหลายระบบทำให้เสียชีวิตได้

มีความพยายามทำลายชื่อเสียงของกัญชา โดยนำกัญชาสังเคราะห์ไปฉีดพ่นใส่กัญชาธรรมชาติและมีจำหน่ายทางอินเทอร์เน็ต[12]

การแก้กฎหมายกัญชาในสหรัฐอเมริกา เปิดให้คนสามารถเข้าถึงกัญชาธรรมชาติที่มีคุณภาพแบบถูกกฎหมาย ทำให้ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากกัญชาสังเคราะห์จนต้องเข้าโรงพยาบาลมีจำนวนลดลง [13]

สรุปความคิดเห็นปิดท้าย
งานวิจัยที่ระบุว่า กัญชาเป็นสาเหตุของโรคจิต ถูกโต้แย้งแล้วว่า มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ บทเรียนจากนานาชาติ พบว่า หลังแก้กฎหมายกัญชา สถิติคนเป็นโรคจิตมีจำนวนคงที่หรือมีแนวโน้มลดลง และปัญหาจากกัญชาสังเคราะห์ลดลง ข้อมูลประเทศไทยก็พบเช่นเดียวกันว่า ความชุกของคนเป็นโรคจิตมีแนวโน้ม “ลดลง” และ “มาใช้บริการลดลง”

แต่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งให้ความรู้แก่ประชาชน “ไม่ให้ใช้กัญชาเกินขนาด” และ “หลีกเลี่ยงการใช้กัญชาสังเคราะห์”

เอกสารอ้างอิง
[1] PMID:26884547

[2] https://www.psychiatry.cam.ac.uk/files/2014/05/Final-report-v1.05-Jan-12.pdf

[3] PMID: 33733564.

[4] PMID: 31796983.

[5] https://en.wikipedia.org/wiki/Bradford_Hill_criteria

[6] PMID:26781550

[7] https://tinyurl.com/5n6t39za

[8] https://he01.tci-thaijo.org/index.php/jmht/article/view/142991

[9] https://tinyurl.com/368322ks

[10] https://www.aapc.com/codes/icd-10-codes/F12.1

[11] https://www.aapc.com/codes/icd-10-codes/F20

[12] PMID: 32530350.

[13] PMID: 35942512.

บทความเกี่ยวเนื่อง
-งานวิจัยเรื่อง กัญชากับการรักษาบรรเทาโรคจิต / รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น