xs
xsm
sm
md
lg

WHO ประเมิน "ไทย" ประเทศแรก พัฒนาระบบสุขภาพ "ผู้ลี้ภัย-ย้ายถิ่น-ต่างด้าว"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



WHO ขอ “ไทย” ประเทศแรก ประเมินระบบสาธารณสุขสำหรับผู้ลี้ภัย ผู้ย้ายถิ่นฐาน และแรงงานต่างด้าว ช่วง 17-21 ต.ค.นี้ เหตุมีระบบดูแลอย่างดีช่วง “โควิด” เตรียมลงพื้นที่ 3 จังหวัดเป้าหมาย “กทม.-สมุทรสาคร-ตาก” ก่อนสรุปข้อเสนอแนะปรับปรุงพัฒนาระบบ


เมื่อวันที่ 17 ต.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญขององค์กรระหว่างประเทศมาประเมินประเทศไทยร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญไทย จำนวน 7 คน และผู้สังเกตการณ์ 3 คน รวม 10 คน ระหว่างวันที่ 17-21 ต.ค. 2565 เกี่ยวกับเรื่องระบบสุขภาพ หน้าที่ ศักยภาพ และกระบวนการด้านสาธารณสุขที่จำเป็น ความพร้อมของสถานบริการสุขภาพที่ให้บริการแก่ผู้ลี้ภัยและผู้ย้ายถิ่นฐาน ชุมชนที่รับกลุ่มบุคคลดังกล่าว โดยวันนี้เป็นการประชุมเตรียมการเพื่อรับการประเมิน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์การอนามัยโลก (ประเทศไทย), สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กรมควบคุมโรค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัย ผู้ย้ายถิ่นฐาน คนต่างด้าว และแรงงานต่างด้าว องค์กรไม่แสวงหากำไร และมูลนิธิต่างๆ เพื่อร่วมนำเสนอข้อมูล ให้ความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของกลุ่มบุคคลดังกล่าว และจะลงพื้นที่ในจังหวัดกลุ่มเป้าหมาย คือ กทม. สมุทรสาคร และตาก

สำหรับการประเมิน จะใช้เครื่องมือ “การประเมินสภาวะสุขภาพของประชากรข้ามชาติ และผู้ลี้ภัยระดับประเทศ” ซึ่งพัฒนาโดยองค์การอนามัยโลกร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งประเทศไทยได้รับโอกาสให้เป็นประเทศแรกที่ใช้เครื่องมือนี้ ในการประเมินระบบสุขภาพ กระบวนการดำเนินงาน และศักยภาพความพร้อมของสถานบริการสาธารณสุขในการให้บริการสุขภาพที่จำเป็นแก่ประชากรข้ามชาติและผู้ลี้ภัยในระดับประเทศ

“ที่ผ่านมาไทยได้รับความชื่นชมว่า บริหารจัดการด้านการสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ ดูแลสุขภาพคนต่างด้าว แรงงานต่างด้าว ผู้ลี้ภัยและผู้ย้ายถิ่นฐานในแผ่นดินไทย โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโควิด 19 ให้เข้าถึงบริการรักษาและวัคซีนอย่างเท่าเทียม การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่จะได้รับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในทุกมิติของระบบบริการสาธารณสุขสำหรับคนต่างด้าวทุกคน” นพ.โอภาสกล่าว










กำลังโหลดความคิดเห็น