xs
xsm
sm
md
lg

ไขปมติดเชื้อราในปอดหลังดู "ค้างคาว" ในโพรงต้นไม้ อาการมีหลายระดับ กลุ่มภูมิต่ำสุดเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอชี้ดูค้างคาวใน "โพรงต้นไม้" เสี่ยงติดเชื้อราฮิสโตพลาสมาสูง เหตุอากาศปิด ไม่ถ่ายเท เผยคนแข็งแรงรับเชื้อแล้วร่างกายกำจัดได้ ส่วนสูงอายุ มีโรค ภูมิคุ้มกันต่ำเสี่ยงเกิดโรคเชื้อราในปอดง่าย อาการคล้ายปอดอักเสบ มีหลายระดับ ตั้งแต่ไอ หอบเหนื่อย ถึงหายใจล้มเหลว รักษาด้วยยาฆ่าเชื้อรา

จากกรณีข่าวคณะเดินทางศึกษาธรรมชาติเข้าชมค้างคาวในโพรงต้นไม้ "ช้าม่วง" จ.สุราษฎร์ธานี ปรากฏว่ามีการสูดหายใจเอาละอองเอาสปอร์เชื้อราฮิสโตพลาสมา แคปซูลาตุม ที่ลอยขึ้นจากมูลค้างคาวเข้าไปในปอด ทำให้เกิดการป่วยโรคฮิสโตพลาสโมซิส

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. นพ.ศักรินทร์ กังสุกุล นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ด้านเวชกรรมสาขาอายุรกรรม สถาบันโรคทรวงอก กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า โรคฮิสโตพลาสโมซิสเกิดจากการติดเชื้อราจากการสูดหายใจเอาเชื้อฮิสโตพลาสมาเข้าไป ซึ่งเชื้อนี้ปนเปื้อนอยู่ในดิน โดยเฉพาะบริเวณที่มีสัตว์ฟันแทะ เช่น ค้างคาว เป็นต้น ส่วนกรณีที่เป็นข่าวเข้าไปในโพรงต้นไม้ที่มีค้างคาว ดินด้านล่างมีมูลค้างคาว ก็จะมีเชื้อนี้อยู่ ถามว่าทำไมปกติคนไปเที่ยวถ้ำค้างคาวถึงไม่เป็น สาเหตุคือ 1.โพรงต้นไม้เป็นสถานที่ระบบปิด อากาศไม่ถ่ายเท จำนวนเชื้อกับอากาศที่สูดหายใจจึงเข้มข้นสูง ทำให้รับเชื้อปริมาณมาก แม้เวลาอยู่ไม่นาน ก็ทำให้เกิดโรคได้ และ 2.ตัวผู้ป่วยหรือคนรับเชื้อ หากมีสภาพร่างกายไม่แข็งแรง เช่น ผู้สูงอายุ มีภูมิคุ้มกันต่ำ มีโรคประจำตัว เมื่อรับเชื้อไปก็ทำให้ป่วยได้

"ตามปกติร่างกายเรากำจัดเชื้อรายและหายเองได้ โดยเฉพาะคนที่ร่างกายแข็งแรงดีรับเชื้อไปไม่มากก็หายเองได้ แต่คนภูมิคุ้มกันไม่ดี อาจเกิดเป็นโรคเชื้อราในปอด อาการจะมาเหมือนปอดอักเสบ แต่ความรุนแรงมีหลายระดับเหมือนโควิด เช่น ไอ เหนื่อยเล็กน้อย บางคนเหนื่อยเยอะ บางคนถึงขั้นหายใจล้มเหลว ซึ่งขึ้นกับสภาพร่างกายแต่ละคน" นพ.ศักรินทร์กล่าว

นพ.ศักรินทร์กล่าวว่า ส่วนการวินิจฉัยสามารถเอกซเรย์ปอดภาพถ่ายรังสีจะแยกได้ว่าเป็นปอดอักเสบจากเชื้ออื่นหรือเชื้อรา ร่วมกับการซักประวัติการสัมผัส เพราะบางคนอาจไม่ได้นึกถึง เช่น บางคนไม่ได้เข้าป่าหรือไปดูค้างคาว แต่อาจมีค้างคาวมาอาศัยชายคาบ้าน หรือใช้ดินที่มีมูลค้างคาวปนเปื้อนมา ถ้าประวัติกับภาพเอกซเรย์ยังไม่ชัดเจน บางคนอาจต้องส่องกล้องทางเดินหายใจ เอาน้ำในปอดมาตรวจ หรือตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ หากพบก็เป็นการยืนยัน สำหรับการรักษาหากมีภาวะหายใจล้มเหลวก็ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ประคับประคองให้ดีขึ้น โดยการรักษาเฉพาะจะให้ยาฆ่าเชื้อรา เป็นรูปแบบกินหรือฉีดเข้าเส้นเลือดดำ โดยยาฆ่าเชื้อราไม่จำเป็นต้องให้ทุกคน ถ้าคนติดเชื้อที่อาการดี ภาพภ่ายรังสีเชื้อราไม่เยอะ อาจไม่ต้องให้ก็ได้

เมื่อถามว่าต้องห้ามคนเข้าพื้นที่ที่เป็นข่าวหรือไม่ นพ.ศักรินทร์กล่าวว่า ต้องระมัดระวัง การจะห้ามเลยอาจจะไม่ได้ บางคนบอกเข้าไปไม่เห็นเป็นโรค นั่นเพราะร่างกายแข็งแรงดี อาจรับเชื้อมา แต่ร่างกายกำจัดได้ ซึ่งตรงนี้ขึ้นกับสภาพร่างกายแต่ละคน แต่ย้ำว่ากลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว ภูมิต้านทานต่ำ ไม่แนะนำให้ไปพื้นที่เสี่ยงจะรับเชื้อรา ตามถ้ำหรือสถานที่ที่มีค้างคาว ถ้าคนแข็งแรงดียืนยันว่าจะเข้าไปดู ก็ต้องใส่เครื่องป้องกันด้วยการใส่หน้ากากชนิด N95 เพราะหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ธรรมดาป้องกันไม่ได้ 100% และต้องใช้เวลาให้น้อยที่สุด รีบเข้ารีบออก

ถามว่าเชื้อราใช้เวลาแพร่กระจายในร่างกายนานเท่าไรถึงเกิดโรค นพ.ศักรินทร์ กล่าวว่า โดยปกติเชื้อราใช้ระยะเวลาพอสมควร ตามข่าวเข้าไปประมาณเกือบเดือนหรือเป็นสัปดาห์ถึงแสดงอาการ จะไม่เร็วเหมือนไวรัสหรือแบคทีเรียที่จะเป็นวัน ขึ้นกับร่างกายแต่ละคนและการตอบสนอง บางคนตอบสนองเร็ว 3 วันอาจจะแสดงอาการก็ได้ หากเชื้อเข้าไปแล้วเกิดภูมิตอบสนองรุนแรงก็จะเหมือนปอดอักเสบจากโควิดแบบเฉียบพลัน

ถามว่าปกติมีคนป่วยจากเชื้อราเป็นโรคฮิสโตพลาสโมซิสมากแค่ไหน นะ.ศักรินทร์ กล่าวว่า เราเจอในกลุ่มคนกินยากดภูมิ หรือเอชไอวี คนไข้ที่ภูมิต่ำ หรือกลุ่มที่ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งการติดเชื้ออาจจะไม่ต้องไปสถานที่เสี่ยง อาจจะแค่อยู่ปกติหรือไปเที่ยวป่า เมื่อสูดเชื้อเข้าไปเล็กน้อย แต่ร่างกายกำจัดออกไม่ได้ บางคนอยู่บ้าน แต่ดินที่เราซื้อมาทำสวนก็อาจมีปนเปื้อน ก็ทำให้ติดเชื้อได้ในกลุ่มนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น