“ชัชชาติ” ร่วมเปิด กิจกรรม “พล๊อกกิ้ง วิ่งเก็บขยะ เพื่อกรุงเทพสีเขียว” หลังกิจกรรมเก็บขยะได้ถึง 289.31 กิโลกระม รีไซเคิลได้ 90.25 กิโลกรัม
วันนี้ (18 ก.ย.) เวลา 06.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรม “พล๊อกกิ้ง วิ่งเก็บขยะ เพื่อกรุงเทพสีเขียว” Plogging for Green & Clean Bangkok จัดโดย สถานเอกอัครราชทูตสวีเดน ประจำประเทศไทย นำโดยนายยูน ออสเตริม เกรินดาห์ล เอกอัครราชทูตสวีเดนฯ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดยรศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ร่วมกันจัดงานในวันอาทิตย์ 18 ก.ย.65 เวลา 06.00 – 08.00 น. เส้นทางวิ่งเก็บขยะเริ่มวิ่งจากสวนลุมพินี เขตปทุมวัน สิ้นสุดที่สวนเบญจกิตติ เขตคลองเตย ผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 คน
สำหรับเส้นทางวิ่งเก็บขยะฯ แบ่งออกเป็นเส้นทางย่อย 4 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทาง 1 ชุมชนร่วมฤดี: สวนลุมพินี-สะพานเขียว-ร่วมฤดี–วัดมหาไถ่-ข้ามสะพานเขียว-สวนเบญจกิติ เส้นทาง 2 ชุมชนโปโล: สวนลุมพินี-ลงด้านใต้สะพานเขียว-โปโล-มัสยิดอินโดนีเซีย-กลับไปสะพานเขียว-สวนเบญจกิติ เส้นทาง 3 ชุมชนพระเจน: สวนลุมพินี-ถนนวิทยุ-ซอยโปโล-ซอยพระเจน-หลังซอยโปโล-ขึ้นสะพานเขียว-สวนเบญจกิติ เส้นทาง 4 บ่อนไก่: สวนลุมพินี-ซอยโปโล- โปโลคลับ-บ่อนไก่-วิ่งข้ามพระราม 4- โรงงานยาสูบ-สวนเบญจกิติ ซึ่งผู้ว่าฯชัชชาติ ร่วมวิ่งในเส้นทางที่ 3
ผู้ว่าฯชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันที่ดีและแม้ว่ากิจกรรมฯที่จัดจะเป็นเพียงกิจกรรมเล็ก ๆ แต่ก็ถือว่ามีความหมายที่ยิ่งใหญ่ต่อกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ แต่ละวันกรุงเทพฯมีขยะอยู่ที่ประมาณ 10,000 ตัน และต้องใช้งบประมาณต่อปีสูงถึง 12,000 ล้านบาทในการดำเนินการทั้งการทำความสะอาดถนนและการจัดเก็บ โดยเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ 8,000 ล้านบาท และการให้ความรู้ 4,000 ล้านบาท ซึ่งเราสามารถบริหารจัดการขยะในเขตเมืองให้ดีขึ้นได้
" ขอขอบคุณสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทยและผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯทุกท่าน ซึ่งกิจกรรมฯนี้ส่งผลดีทั้งต่อสุขภาพของประชาชนและสภาพแวดล้อมของเมือง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินกิจกรรมฯ ในครั้งนี้จะช่วยสร้างแรงผลักดันที่สำคัญต่อภาคส่วนต่าง ๆ เนื่องจากขยะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน หากจะว่าไปแล้วขยะในกรุงเทพฯก็เหมือนของวิเศษ กล่าวคือ เราทิ้งขยะ แล้วขยะนั้นก็หายไปในช่วงเช้าเนื่องจากต้องมีคนมาคอยตามเก็บ ซึ่งหากเราแต่ละคนจัดการขยะในส่วนของตัวเองได้ สังคมแวดล้อมก็จะน่าอยู่มากยิ่งขึ้น สุดท้ายขอให้ทุกท่านสนุกสนานกับกิจกรรมฯ ในวันนี้ ” ผู้ว่าชัชชาติกล่าวเปิดงาน
บรรยากาศวันนี้เป็นไปด้วยความสนุกสนาน อบอุ่น และเป็นกันเองจากนักวิ่งและเยาวชนประมาณ 200 คนที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมทาง เฟสบุ๊คแฟนเพจ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ https://www.facebook.com/prbangkok โดยผู้ร่วมกิจกรรมต่างลุ้นในการจับสลากรับของรางวัล จาก Fitness 24Seven ฟิตเนสจากสวีเดน และของรางวัลต่างๆมากมาย 10 รางวัล ประกอบด้วย Membership 6 เดือน มูลค่า 7,999 บาท Membership 3 เดือน มูลค่า 3,897 บาท และMembership 1 เดือน มูลค่า 1,299 บาท และรางวัลย่อย อีก 7 รางวัล
สำหรับยอดรวมขยะหลังการวิ่ง (ชั่งรวมทั้งหมด) จากสำนักงานเขตคลองเตย ณ เวลา 08.15 น.(เสร็จสิ้นกิจกรรม) ประกอบด้วย แก้ว 49.97 kg. กล่องนม 5.08 kg. กระดาษ 2.26 kg. กระป๋องอะลูมิเนียม 1.13 kg. ขวดพลาสติก 23.33 kg. พลาสติกชิ้นใหญ่ (ถุง กะละมัง) 7.43 kg. ขยะทั่วไป 198.61 kg. ขยะอันตราย 1.50 kg. รวมขยะที่เก็บได้ทั้งหมด 289.31 kg.. แบ่งเป็นขยะรีไซเคิลได้ถึง 90.25 kg. โดยเส้นทางที่ 4 นำโดยรศ.ดร.ปริญญา สามารถเก็บขยะได้น้ำหนักเยอะสุดคือ 122.6 kg.
ทั้งนี้ กิจกรรมมีบุคคลจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาทิ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดร.พรหรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เอกอัครราชทูตเดนมาร์ก เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ เอกอัครราชทูตโปแลนด์ และเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ มารีญา พูลเลิศลาภ นางงาม นางแบบและนักร้องนักแสดงลูกครึ่งไทย-สวีเดน ผู้ครองตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2560 มุก อัญพัชร์ ปิติประจักษ์วัชร รองอันดับ1 นางสาวไทย2565 นิดา วนิดา ดอกกุหลาบ รองอันดับ2 นางสาวไทย2565 จาก TPN Global และ Top 10 Miss Unverse Thailand 2021 ได้แก่ นิต้า ณิษฐกาณต์ อักษรวรรณ และนิกกี้ นิโคล กลัคสแมน
วัตถุประสงค์ของงานวิ่งเก็บขยะ “พล๊อกกิ้ง วิ่งเก็บขยะ เพื่อกรุงเทพสีเขียว” Plogging for Green & Clean Bangkok ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2565 นั้น สืบเนื่องจากเป็นหนึ่งวันหลังจากวันทำความสะอาดโลก(World Cleanup Day) ที่ตรงกับวันที่ 17 กันยายน ของทุกปี เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับการร่วมต่อสู้ความท้าทายที่ทั่วโลกต้องเผชิญเกี่ยวกับขยะมูลฝอย สร้างความตระหนักถึงการจัดการขยะมูลฝอยและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังสอดรับกับนโยบายของกรุงเทพมหานครที่ต้องการให้การเข้าถึงพื้นที่สีเขียวเป็นเรื่องที่ง่ายดายมากขึ้นสำหรับทุกคนและปรับปรุงแก้ไขเรื่องการจัดการขยะในพื้นที่กรุงเทพฯอีกด้วย